“…ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมิได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้รายนี้ ไม่มีผลให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต้องสำรองค่าเผื่อหนี้เต็มจำนวน ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการให้สินเชื่อ หรือทำให้ได้รับภาระจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 22/2567 คดีหมายเลขแดงที่ อท 181/2567 หรือ คดี คณะกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย อนุมัติและจ่ายเงินสินเชื่อให้กับ กลุ่มบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด วงเงินรวม 1,905 ล้านบาท โดยไม่มีอำนาจ และอนุมัติสินเชื่อโดยรีบเร่งหรือไม่
โดยศาลฯพิพากษา 'ยกฟ้อง' นายกฤษดา กวีญาณณ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับพวก รวม 9 ราย เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-4 (นายกฤษดา กวีญาณ จำเลยที่ 1 ,ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต จำเลยที่ 2 ,นายอรัญ วงศ์อนันต์ จำเลยที่ 3 ,นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ จำเลยที่ 4) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
และการกระทำของจำเลยที่ 4 (นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ) ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 5-9 (นายพงศธร คุณานุสรณ์ จำเลยที่ 5 ,นายอนุชา บุปผเวส จำเลยที่ 6 ,นายอัคคชนก์ แสงสุข จำเลยที่ 7 ,นางสาวนิภาพงษ์ มานพพงษ์ จำเลยที่ 8 ,นางสาวนันท์นภัส หน่องพงษ์ จำเลยที่ 9) ไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1-4 แต่อย่างใด นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลคดีทุจริตฯ’ยกฟ้อง‘อดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก’คดีปล่อยกู้‘เดอะ อันดามัน ไพรเวท’1.9 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญของ ‘คำวินิจฉัย’ ของศาลอาญาคดีทุจริตฯในคดีนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปล่อยกู้‘เดอะ อันดามันฯ-เดอะไวท์ บีช’สุดท้ายขายหนี้เข้า AMC
ข้อเท็จจริง
ศาลฯพิเคราะห์คำฟ้อง เอกสารชี้ช่องพยานหลักฐานของโจทก์ (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.) ประกอบรายงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. คำให้การจำเลยทั้ง 9 คำแถลงประกอบคำให้การของจำเลยทั้ง 9 และพยานหลักฐานจากการไต่สวนในชั้นพิจารณาฯ
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2553 บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ยื่นคำขอสินเชื่อเพื่อใช้ในโครงการ “Luxury Pool Villas Resort & Spa” วงเงินรวม 650,000,000 บาท ต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2553 ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 โดยจำเลยที่ 7 ถึงที่ 8 เป็นผู้เสนอ
และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ให้ความเห็นในเอกสารคำขออนุมัติสินเชื่อ เลขที่ ธส.1 294/2553 ว่า
เนื่องจากเป็นการคำนวณวงเงินรวมทั้งกลุ่มบริษัท ประกอบด้วย บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด วงเงิน 650,000,000 บาท บริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด วงเงิน 400,000,000 บาท และบริษัท เดอะ ทวิน เรสซิเด้นท์ จำกัด วงเงิน 855,000,000 บาท รวมวงเงินสินเชื่อของกลุ่ม บริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด รวมเป็นเงิน 1,905,000,000 บาท ระดับอำนาจอนุมัติสินเชื่อเป็นของ คณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ฝ่ายสินเชื่อรายงานการวิเคราะห์สินเชื่อ ระบุถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 3 บริษัท ว่า เป็นบริษัทในกลุ่มของนายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ วงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ซื้อที่ดินของโครงการ 430,000,000 บาท ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด เป็นการซื้อขายที่ดินภายในกลุ่ม ระบุให้นายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ ในฐานะผู้บริหารหลักและเจ้าของเป็นผู้ร่วมในการค้ำประกัน
และสรุปความเสี่ยงเกี่ยวกับที่ตั้งของโครงการว่า ที่ตั้งของโครงการอยู่ในเขตพื้นที่ “สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว” ซึ่งถูกกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน “ประเภทอนุรักษ์ป่าไม้” แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวได้
ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 โดยจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 มีบทสรุปผู้บริหาร เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ (Commercial) ครั้งที่ 49/2553 เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2553 ว่า อำนาจอนุมัติสินเชื่อเป็นของคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เนื่องจากบริษัททั้ง 3 เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน
คณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ประชุมครั้งที่ 49/2553 เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2553 มีความเห็นให้ชี้แจงรายละเอียดการเบิกใช้ค่าที่ดิน 430,000,000 บาท เนื่องจากที่ดินหลักประกันติดภาระวงเงินสินเชื่อที่ บริษัทเงินทุน แอ๊ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) 100,000,000 บาท
ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 โดยจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นผู้เสนอ และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ให้ความเห็น ร่วมกันเสนอรายละเอียดการเบิกใช้ค่าที่ดิน 430,000,000 บาท เป็นค่า 1. Refinance จากบริษัทเงินทุน แอ๊ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) 100,000,000 บาท 2.ชำระค่าที่ดินที่ซื้อเพิ่มเติม 231,000,000 บาท 3.ชำระบุคคลภายนอก 99,000,000 บาท
ที่ดินที่ซื้อเพิ่มเติมจะต้องชำระในวันที่ 4 พ.ย.2553 การชำระเงินให้กับบุคคลภายนอก เป็นการชำระที่เกิดจากการ Hair cut หนี้เดิม เป็นค่าที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานกฎหมาย และ Succession Fee 50% ของจำนวนเงินที่ลดภาระหนี้ได้ รวม 99,000,000 บาท
ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 มีบทสรุปผู้บริหาร เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อ ครั้งที่ 41/2553 เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2553 ว่า อำนาจในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เป็นของคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เสนอขออนุมัติยกเว้นไม่ต้องบรรจุเข้าวาระในการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ ด้วยเหตุว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน
ผู้บริหารสายงานได้ลงนามให้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อ และแจ้งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ทราบต่อไป คณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อพิจารณา และมีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารต่อไป
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2553 คณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ (Commercial) ในการประชุมครั้งที่ 50/2553 มีมติรับทราบการขออนุมัติสินเชื่อ ในวันดังกล่าว
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 จัดทำบทสรุปผู้บริหาร เสนอต่อคณะกรรมการบริหารเร่งด่วนเพื่อขออนุมัติวงเงินสินเชื่อ และขอให้อนุมัติเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ก่อน ( ณ วันจดจำนอง ) โดยแจ้งว่าลูกค้าต้องชำระค่าที่ดินเป็นการเร่งด่วน โดยฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 จะนำเรื่องเพื่อขอสัตยาบันต่อคณะกรรมการธนาคารต่อไป
การประชุมคณะกรรมการการบริหาร ครั้งที่ 30/2553 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อนุมัติให้เบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท วันที่ 9 พ.ย.2553 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ร่วมกันมีคำสั่งดำเนินการถึงฝ่ายพิธีการสินเชื่อให้เบิกถอนเงินสินเชื่อรวม 430,000,000 บาท ให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ในวันที่ 11 พ.ย.2553
ฝ่ายพิธีการสินเชื่อสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้แก่ 1.แคชเชียร์เช็ค A/C Payee สั่งจ่ายบริษัทเงินทุน แอ๊ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) 100,000,000 บาท 2. แคชเชียร์เช็ค & Co (เช็คเพื่อสลักหลังต่อ) สั่งจ่ายบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด 64,000,000 บาท 3.แคชเชียร์เช็ค & Co (เช็คเพื่อสลักหลังต่อ) สั่งจ่ายบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด 1,000,000 บาท
4.แคชเชียร์เช็ค & Co (เช็คเพื่อสลักหลังต่อ) สั่งจ่ายบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด 35,000,000 บาท และ 5. แคชเชียร์เช็ค & Co (เช็คเพื่อสลักหลังต่อ) สั่งจ่ายบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด 230,000,000 บาท
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2553 บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดินแล้ว 430,000,000 บาท
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2553 มีการประชุมคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17/2553 มีการเสนอขออนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด วงเงินรวม 650,000,000 บาท และขอสัตยาบันการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ก่อน (ณ วันจดจำนอง) แต่มีการขอถอนวาระก่อน
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2554 จำเลยที่ 8 เสนอขออนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และขอสัตยาบันการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 วันที่ 28 ก.พ.2554
คณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมติให้นำกลับไปขอความเห็นด้านกฎหมาย (Legal Opinion) ของที่ปรึกษากฎหมายภายนอกในเรื่องเกี่ยวกับครอบครองที่ดินว่าถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธินำไปใช้ประโยชน์จัดสร้างโครงการต่างๆ ได้หรือไม่ แล้วให้นำกลับมาเสนอเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 จำเลยที่ 8 นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อและขอสัตยาบันการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดินอีกครั้ง คณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อวงเงินรวม 650,000,000 บาท และอนุมัติให้สัตยาบัน
ต่อมาบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ไม่สามารถชำระเงินต้นได้ มีการชำระดอกเบี้ยแต่เพียงบางส่วนให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด นำไปบริหารหรือดำเนินการตามขอบเขตธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ภายใต้พระราชกำหนดบริษัท บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โอนหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560
โดยมีการโอนสินทรัพย์ระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้โอน กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้รับโอน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2560
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนการโอนหนี้ทั้งหมดที่มีการขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวน 10,000 ราย มูลค่า 22,605,658,066.22 บาท รวมอยู่ในส่วนของค่าตอบแทนที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับจากการขายหนี้รายบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด ด้วย
@ชี้‘บอร์ดบริหารฯ’มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้‘เดอะ อันดามัน ไพรเวท’
คดีมีปัญหาว่า จำเลยทั้งเก้ากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
โดยจำต้องวินิจฉัยก่อนว่า การที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 เป็นผู้ให้ความเห็นและร่วมกันเป็นผู้เสนอขอให้มีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดินโดยเกินอำนาจของคณะกรรมการบริหาร และไม่มีเหตุเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
โดยการจัดทำบทสรุปผู้บริหาร เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30/2553 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2553 ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด จำนวน 650,000,000 บาท
และขอให้อนุมัติเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ก่อน แล้วจะนำเรื่องเพื่อขอสัตยาบันต่อคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในภายหลัง ทั้งที่ทราบว่าเกินกว่าอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไม่
เห็นว่า ...การขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์สินเชื่อจากฝ่ายสินเชื่อ คือ นายสาวิตร... เจ้าหน้าที่สินเชื่อ นายสุพัฒน์... ผู้จัดการส่วน นายอนุรักษ์... ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย นางวิลาสินี... ผู้อำนวยการฝ่าย เป็นผู้ให้ความเห็นว่าโครงการใหม่นี้ ลงทุนใหม่ในนาม บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
โดยบริษัทนี้ จะเข้าซื้อที่ดินเชิงเขาทั้งหมดของบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด เนื้อที่รวมกว่า 87 ไร่ มูลค่าซื้อขาย 752,000,000 บาท มีความเห็นว่า กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายธนิต ตีรวัฒน์ และนายคุ้มพันธ์ อิงควิชัยกร
แต่ผู้บริหารหลัก (Key man) คือ นายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ มีประสบการณ์และความชำนาญในด้านธุรกิจโรงแรม ผู้บริหารที่แท้จริง คือ นายจำเริญ และจัดให้เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อเต็มวงเงิน ทำนองว่าการซื้อขายที่ดินในครั้งนี้เป็นการซื้อขายภายในกลุ่มนั้น
แต่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 ก็ให้การโต้แย้งนำสืบต่อสู้ว่า พวกตนมีความเห็นว่า ทั้ง 3 บริษัท ไม่น่าจะรวมกลุ่มเป็นลูกค้าเดียวกันได้ แต่เนื่องจากการทำงานจะต้องทำงานร่วมกับฝ่ายสินเชื่อ หากส่งเรื่องกลับคืนและทบทวน จะทำให้ไม่ทันการนำสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร และการจัดรวมกลุ่ม น่าจะไม่ทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเกิดความเสียหาย
เมื่อฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์หรือฝ่ายสินเชื่อ มีความเห็นไปอย่างนี้แล้ว หากขึ้นสู่การพิจารณาคณะกรรมบริหาร อาจมีความเห็นต่างในเรื่องการรวมกลุ่มลูกค้า ก็สามารถใช้ดลพินิจที่แตกต่างได้อยู่แล้ว
การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ตีความว่า เป็นไปตรงตามข้อกำหนดในนโยบายของธนาคาร เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ (Credit Manual) แต่ตามบันทึกประกาศใช้ระเบียบที่ กก.(บ) 058/2552 ลงวันที่ 27 ก.พ.2552 ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นกรอบหรือแนวทางที่ควรปฏิบัติงานเท่านั้น มิใช่กรณีกฎหรือข้อบังคับหรือข้อห้ามอย่างเด็ดขาด
รายละเอียดและข้อเท็จจริงที่ลูกค้าแต่ละรายที่มาขอสินเชื่อ มีลักษณะลักษณะแตกต่างกันไป จำต้องพิจารณาใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายที่แตกต่าง การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ก็เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการปิดความเสี่ยงภายในธนาคารเอง
ในครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2554 จำเลยที่ 6 ก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่าโครงการโรงแรมของบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด กับบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ในทางนิติกรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ทั้ง 2 บริษัท ต่างเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากกัน
การที่ฝ่ายสินเชื่อและจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 จัดกลุ่มรวมลูกค้าบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เข้าเป็นกลุ่มเดียวกันกับ บริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด และระบุว่าอำนาจอนุมัติวงเงิน คือ คณะกรรมการธนาคาร ก็ถือว่าการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1
และถือว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ใช้ดุลยพินิจที่อิสระตามขอบอำนาจหน้าที่ของตน เป็นการระมัดระวังผลประโยชน์ของธนาคาร เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงาน ตามข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการบริหารมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อวงเงินดังกล่าวตามฟ้อง หรือไม่
เห็นว่า ...ตามนโยบายธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยนโยบายสินเชื่อ ฉบับวันที่ 1 ก.ย.2551 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารวมกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันให้เป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน เพื่อกำหนดอำนาจอนุมัติสินเชื่อ
ข้อ 7.2.5 หลักเกณฑ์การนับลูกค้ารายเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน เพื่อกำหนดอำนาจอนุมัติสินเชื่อและกำหนดผู้ดูแลลูกค้า กำหนดเกณฑ์การพิจารณาอำนาจอนุมัติสินเชื่อตามเกณฑ์ลูกค้าและบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลเดียวกับลูกค้ารายนั้น ตลอดจนความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญ จุดประสงค์ก็เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงภายในธนาคารเอง
การให้ลูกค้าทั้ง 3 บริษัทเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน โดยการทำรายงานเสนอการจัดกลุ่ม และโยงความสัมพันธ์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พิจารณาอนุมัติ ตามเอกสารดังกล่าวข้างต้นว่า บริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด นายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และเป็นผู้บริหาร
แต่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด มีนายธนิต ตีรวัฒน์ และนายคุ้มพันธ์ อิงควิชัยกร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้บริหาร แต่ในทางนิติกรรมทั้ง 2 บริษัท ต่างเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากกัน
การขอสินเชื่อ เพื่อมาลงทุนในกิจการของต่างนิติกรรมและเงื่อนไขกัน มีรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่ลูกค้าแต่ละรายที่มาขอสินเชื่อมีลักษณะแตกต่างกัน ต้องพิจารณาใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายที่แตกต่าง
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะกรรมการบริหารธนาคารพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ไม่ใช่ลูกหนี้รายกลุ่มตามนโยบายสินเชื่อของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด
นายจำเริญ เป็นผู้ถือหุ้นเพียงร้อยละ 15 ซึ่งถือหุ้นรวมกันทั้งครอบครัวไม่เกินร้อยละ 30 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวทบีช จำกัด และนายจำเริญ ไม่ใช่กรรมการผู้จัดการของบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
ตามคำขออนุมัติสินเชื่อ ก็ระบุว่า ไม่เข้าข่าย SLL คือ Single Lending Limit คือ ไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ ที่ได้รับสินเชื่อเกินกว่าร้อยละ 25 ของเงินกองทุนธนาคารตามความหมายธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่เข้าข่าย Related Company คือ ไม่เป็นลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกันตามความหมายธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น การที่ฝ่ายปฏิบัติการสินเชื่อและฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 นำเสนอข้อมูล มีความเห็นว่า เป็นอำนาจอนุมัติเป็นอำนาจคณะกรรมการธนาคารในเบื้องต้นดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นความเห็นในการตีความข้อกำหนดนโยบายสินเชื่อของธนาคารที่แตกต่างกัน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการบริหาร พิจารณาข้อมูลจากความน่าเชื่อถือของที่ดินที่มีราคาประเมินสูง มีความน่าเชื่อถือจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัทผู้ประเมินที่มีมีมีมาตรฐาน ประมาณการทางการเงินที่จะสามารถชำระสินเชื่อได้หมดภายใน 12 ปี ความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด
ทำเลที่ตั้งที่ดี มีชายหาดส่วนตัวอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติภูเก็ต โอกาสการเจริญเติบโตภายในอนาคต พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ มีผู้บริหารมีประสบการณ์การบริหารจัดการ พิจารณาความเสี่ยงของธนาคารในด้านต่างๆ รวมทั้งความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
ข้อมูลในการขอสินเชื่อถูกต้องตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบ อยู่ในอำนาจหน้าที่และหรือเพื่อประโยชน์ด้านความคล่องตัว และความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเอกสารสิทธิ หรือการโอนกรรมสิทธิ์หรือการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดิน
ทั้งเมื่อมีการซื้อขายที่ดินก็ต้องมีการนำเงินไปชำระหนี้จำนองให้แก่สถาบันการเงิน และต้องนำที่ดินที่ซื้อมาจดทะเบียนจำนองให้เป็นหลักประกับแก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
ประกอบกับเมื่อฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ได้ทำการวิเคราะห์ ปิดความเสี่ยงและทำบทสรุปให้ความเห็น โดยมีการตรวจสอบตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ นำเรื่องเข้าประชุมคณะอนุกรรมการต่างๆ จนกระทั่งมีการเสนอขออนุมัติสินเชื่อโดยระบุเหตุผลเร่งด่วนเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อที่ดินได้ตามระยะเวลาที่ตกลงกำหนดไว้ ใช้เป็นหลักในการพิจารณาประกอบเหตุผลการอนุมัติ มิใช่การนำหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มธุรกิจเดียวกันของลูกค้ามาเป็นข้อสำคัญ
พยานหลักฐานตามที่ไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการบริหารอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 430,000,000 บาท โดยมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่อง ผู้ใช้อำนาจอนุมัติสินเชื่อและวงเงินอนุมัติสินเชื่อ ฉบับลงวันที่ 27 พ.ค.2553 ดังที่โจทก์ฟ้อง
@พยานหลักฐานไม่เพียงพอiรับฟังได้ว่า อนุมัติสินเชื่อ‘โดยรีบเร่ง’
ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 นำเสนอสินเชื่อ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อนุมัติสินเชื่อโดยรีบเร่งหรือไม่ นั้น
เห็นว่า ...ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติไว้เป็นการเฉพาะ
โดยกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งจะเป็นกำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียดหรือแนวทางปฏิบัติงานไว้เป็นการภายในเอง ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 ดำเนินการเสนอเรื่องขอสัตยาบัน ต่อมาคณะกรรมการธนาคารพิจารณาลงมติอนุมัติ และให้สัตยาบันในเรื่องดังกล่าวได้
การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและการอนุมัติให้ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการธนาคารพิจารณาให้สัตยาบัน จึงเป็นไปตามตามระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยปฏิบัติมา
พยานหลักฐานตามทางไต่สวนยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 นำเสนอสินเชื่อและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อนุมัติสินเชื่อโดยรีบเร่ง
ส่วนปัญหาว่า การขอสินเชื่อดังกล่าวยังมีความเสี่ยงอันเป็นนัยสำคัญ อันอาจจะทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะต้องรับภาระจากหนี้ด้อยคุณภาพ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และเป็นการฝ่าฝืนขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อตามประกาศ คณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไม่
เห็นว่า ...เมื่อพิเคราะห์ถึงหลักประกันที่กำหนดให้ บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด นำมาจดทะเบียนจำนองกับกับธนาคารเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในวงเงินจำนอง 650,000,000 บาท ตามคำขออนุมัติสินเชื่อของบริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ลงวันที่ 13 ต.ค.2553
คือ ที่ดินที่ตั้งโครงการ 8 แปลง เนื้อที่รวม 87 ไร่ 1 งาน 90.3 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินของ บริษัท เคแทค แอพเพรซัล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 1,114,000,000 บาท และ 1,246,400,000 บาท ตามลำดับ เฉพาะที่ดินมีมูลค่าเป็นเงิน 752,300,000 บาท และ 787,000,000 บาท ตามลำดับ
คณะกรรมการรับรองราคาประเมินของธนาคารรับรองว่า ที่ดินทั้ง 8 แปลง มีมูลค่าเป็นเงิน 787,000,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าเป็นเงินรวม 459,500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,246,400,000 บาท ปรากฏตามรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน พร้อมความเห็นของคณะกรรมการรับรองราคาประเมินของธนาคาร ลงวันที่ 22 ต.ค.2553
โดยมีราคาประเมินหลังหักส่วนลดเป็นเงิน 876,480,000 บาท ในขณะที่มีวงเงินกู้เพียง 650,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนสินเชื่อร้อยละ 74.50 ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารยอมรับได้ รวมทั้งการที่ให้ผู้บริหารและกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท เดอะ อันดามันไพรเวท บีช จำกัด
คือ นายธนิต ตีรวัฒน์ และนายคุ้มพันธ์ อิงควิชัยกร และนายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ ผู้ถือหุ้นร้อยละ 15 มาทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด กับธนาคารเป็นการส่วนตัว เต็มวงเงินสินเชื่อ 650,000,000 และให้บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ทำประกันภัย (All Risk) และประกันกรณีธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) ทุนประกันสูงสุด และยกผลประโยชน์ให้ธนาคาร
ย่อมเป็นการทำให้หลักประกันกรณีนี้มีความน่าเชื่อถือยิ่งมากขึ้น ยังไม่มีความเสี่ยงอันเป็นนัยสำคัญอันอาจจะทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะต้องรับภาระจากหนี้ด้อยคุณภาพ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
@ธนาคารไม่เสี่ยงเป็นหนี้สูญ-มูลค่า‘หลักทรัพย์’สูงกว่า‘หนี้’
ส่วนปัญหาว่าที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ อันจะมีราคาเป็นศูนย์บาท มีผลให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต้องสำรองค่าเผื่อหนี้เต็มจำนวน ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการให้สินเชื่อ อาจทำให้ได้รับภาระจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ และก่อเกิดความเสียหายต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไม่ นั้น
เห็นว่า ...ที่ดินเดิม ตามหลักฐานถูกต้องตรงกับที่ดินรังวัดออกโฉนด เมื่อผู้ปกครองท้องที่ได้มาร่วมเป็นพยาน และตรวจสอบสภาพที่ดินแล้วรับรองว่า ที่ดินไม่ได้เป็นที่หวงห้ามหรือที่สาธารณประโยชน์ และผู้ขอได้ทำประโยชน์ปลูกยางพาราพันธุ์พื้นเมือง สะตอ มะพร้าวบางส่วน มีการปรับสภาพที่ดินเตรียมการก่อสร้าง ประกาศครบกำหนดแล้วไม่มีผู้คัดค้านหรือโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ที่ดินอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ขอออกโฉนดตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
แม้ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก-เขาเมือง แต่อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีผลเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2507 แต่ที่ดินแปลงขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ขอได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่อง เป็นที่ดินที่ผู้แจ้งการครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ.2480 จึงถือว่าผู้ขอได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนวันที่ประกาศเป็นเขตบำสงวนแห่งชาติ
มีความเห็นว่า ที่ดินแปลงขออออกโฉนดที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-เขาเมือง ไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือที่หวงห้ามประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน บริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิ์การรังวัดโฉนดที่ดิน เป็นผู้ครอบครอง และทำประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องมาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประกอบกับสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือที่ ยธ 0806/369 วันที่ 17 ก.พ.2560 ถึงกรรมการบริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท ไพรเวท บีช จำกัด
ที่ดินโฉนด 6434 ,7321 ,7322 ,38828 ,38831,36632 ,38833 และเลขที่ 38834 พบว่า เอกสารสารบบที่ดินของโฉนดที่มีการครอบครอง และออกโฉนดตามระเบียบและข้อกฎหมายของกรมที่ดิน ซึ่งใช้แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 108 เป็นเอกสารเริ่มต้น โดยได้ขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์
และต่อมาได้แบ่งแยกออกโฉนดที่ดิน 7 ฉบับ ยังได้มีการซื้อขายเปลี่ยนการครอบครองที่ดินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงยังไม่พบว่าบริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ได้กระทำผิดอาญาตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ ร้องทุกข์ ตามเอกสารหมาย จ.105 และ จ.106 ที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งโครงการ จึงไม่มีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ อันจะมีราคาเป็นศูนย์บาทตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใด
ปัญหาว่าการอนุมัติสินเชื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการให้สินเชื่อ หรือทำให้ได้รับภาระจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ ก่อเกิดความเสียหายต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไม่
เห็นว่า ... แม้คิดเนื้อที่ในส่วนที่หักความสูงระดับเกินกว่า 80 เมตร ไปแล้ว มูลค่าของที่ดิน ไม่รวมสิ่งปลูกสร้างก็ยังสูงกว่าจำนวนเงินสินเชื่อที่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เบิกนำเงินไปใช้ 430,000,000 บาท หลักประกันสินเชื่อดังกล่าว มีมูลค่าซึ่งมีมากกว่าวงเงินสินเชื่อที่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ได้รับจากธนาคาร
ทั้งยังมีนายคุ้มพันธ์ อิงควิชัยกร นายธนิต ตีรวัฒน์ กรรมการบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และนายจำเริญ จิตตรัตน์เสนีย์ กรรมการบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อไว้เต็มจำนวนด้วย
และเมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของผู้จัดการฝ่ายประเมินและเป็นผู้ประเมินหลักของบริษัทไซมอน ลิม และหุ้นส่วน จำกัด ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินและประมาณการต้นทุนค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561 เพื่อทราบมูลค่าตลาดปัจจุบันของทรัพย์สินที่ดินทั้ง 8 โฉนด ตามเอกสารสิทธิเนื้อที่ 90-2-21.6 ไร่
ตามรายงานการประเมินมูลค่าและประเมินค่าก่อสร้าง มูลค่าที่ดินประมาณ 2,014,404,000 บาท และประมาณราคาค่าสิ่งก่อสร้างในกรณีที่แล้วเสร็จตามแบบแปลน ประมาณ 1,133,200,000 บาท รวมเป็นมูลค่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ 3,147,604,000 บาท ตามสำเนารายงานฉบับลงวันที่ 12 พ.ย.2561
แสดงให้เห็นว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นตลอดระยะเวลามาจนถึงปัจจุบัน และมีมูลค่าสูงมากกว่าภาระหนี้ที่มีอยู่ต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และค้างชำระต่อบริษัท บริหารสินทรัพย์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด
นายธนิต ตีรวัฒน์ กรรมการบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ให้ถ้อยคำว่า หลังจากซื้อที่ดินแล้วได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อปี พ.ศ.2554 ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างถนนและสะพานจากราชการ แต่เนื่องจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ มีการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่พักในจังหวัดภูเก็ต และส่งผลต่อบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด
และปี พ.ศ.2555 กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เรื่อง การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เพื่อทำการตรวจสอบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ต้องชะลอไม่สามารถดำเนินการ จึงไม่อาจชำระเงินตามเงื่อนไขที่มีการอนุมัติสินเชื่อ ถือเป็นเหตุผลที่ควรค่าแก่การรับฟัง
ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว บริษัท เดอะ อันดามันไพรเวท บีช จำกัด ก็ได้การชำระดอกเบี้ยบางส่วนให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และต่อมาภายหลังมีการสอบสวนเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว
กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นที่ยุติแจ้งว่า ไม่พบการกระทำผิดของบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด บริษัทก็เข้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ธนาคารกำหนดตลอดมา
@‘แบงก์อิสลาม’ไม่ได้รับความเสียหาย-ศาลฯยกฟ้อง 9 จำเลย
ส่วนการโอนหนี้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560 ที่ให้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นำไปบริหารหรือดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2560 นั้น
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับค่าตอบแทนการโอนหนี้ทั้งหมดที่มีการขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวนมากกว่า 10,000 ราย มูลค่า 22,605,658,066.22 บาท รวมอยู่ในส่วนของค่าตอบแทนที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับจากการขายหนี้รายบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และบริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด ด้วย นั้น
เห็นว่า ...เป็นการขายหนี้ด้อยคุณภาพในลักษณะเหมารวมไปทั้งหมดของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพและมูลค่าของหลักประกันที่มีมูลค่าสูงในคดีนี้อย่างแท้จริง หากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยบริหารจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสมกว่าวิธีการดังกล่าว น่าเชื่อว่าหลักทรัพย์ในคดีนี้จะบังเกิดผลประโยชน์แก่ธนาคารมากกว่า จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของธนาคาร
ต่อมาภายหลังการโอนหนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2560 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5566/2560 ระหว่าง บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์ กับ บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 4 คน จำเลย เรื่องผิดสัญญาสินเชื่อ ค้ำประกัน และบังคับจำนอง โดยศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ต่อมา บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ทำหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และบริษัทเดอะไวท์ บีช จำกัด ก็ชำระหนี้ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด แล้วจำนวน 40,000,000 บาท คงเหลือค้างหนีทั้งสองบริษัทรวม 760,000,000 บาท
ทั้งปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวช บีช จำกัด ก็ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโครงการโรงแรม ตามที่ขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในคดีนี้แล้ว ตามใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร แสดงให้เห็นว่าบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด มีความใส่ใจที่จะดำเนินกิจการต่อไป
ปัจจุบันบริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ก็ยังคงประกอบกิจการและพัฒนาธุรกิจก่อสร้างในโครงการที่เคยขอสินเชื่อ ทั้งเมื่อพิเคราะห์จากประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ยอดหนี้คงเหลือตามเอกสารการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เปรียบเทียบกับราคาประเมินของหลักทรัพย์ประกันกับทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันแล้ว
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมิได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้รายนี้ ไม่มีผลให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต้องสำรองค่าเผื่อหนี้เต็มจำนวน ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการให้สินเชื่อ หรือทำให้ได้รับภาระจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
“พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้แก่บริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำของจำเลยที่ 4 ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด
ส่วนปัญหาอื่นของโจทก์ตามฟ้อง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งเก้าไม่เป็นความผิด จึงไม่อาจริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินให้ตกเป็นของแผ่นดิน และไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ อท 210/2566 ของศาลนี้ได้
พิพากษายกฟ้อง และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 22/2567 คดีหมายเลขแดงที่ อท 181/2567 ลงวันที่ 29 ต.ค.2567 ระบุ
อนึ่ง สำหรับคดีนี้ ล่าสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่อุทธรณ์ ส่งผลให้คดีถึงที่สุดแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ยกฟ้อง‘อดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก’คดีปล่อยกู้‘เดอะ อันดามัน ไพรเวท’1.9 พันล.
วงเงินเกินอำนาจ! เปิดข้อกล่าวหาคดีอดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก อนุมัติสินเชื่อมิชอบ1.9 พันล.