"...ข้อกล่าวหา ที่นายกฤษดา กวีญาณ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับพวก ถูก ป.ป.ช. สอบสวนและชี้มูลในคดีนี้ เป็นกรณีการอนุมัติและจ่ายเงินสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ซึ่งมีการคำนวณวงเงินรวมทั้งกลุ่มวงเงินกว่า 1,905 ล้านบาท โดยไม่มีอำนาจ และมีการให้เบิกสินเชื่อไปก่อนกว่า 430 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุเร่งด่วน..."
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลเรื่องกล่าวหา นายกฤษดา กวีญาณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับพวก อนุมัติสินเชื่อลูกค้ารายบริษัท เดอะไวท์บีช จำกัด และบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด โดยมิชอบ
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกไปแล้วก่อนหน้านี้นั้น
- ป.ป.ช.แถลงชี้มูลเพียบ-ฟันอดีต กก.ผจก.ธพว. 2 คดี-อนุมัติงบ จัดงานศพแม่ ปธ.ธนาคาร
- 1 แห่ง แจ้งรายได้180 บ.! เปิดตัว2โรงแรม คดีอดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก อนุมัติสินเชื่อมิชอบ
- 2 รร.ลูกค้า ส่อเป็น NPL-บสอ.แจงปม ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตปธ.แบงก์อิสลาม อนุมัติสินเชื่อมิชอบ
- ตามหา 2 บ.โรงแรม คดีอดีตปธ.แบงก์อิสลามอนุมัติสินเชื่อมิชอบ ย้ายไปซอยรางน้ำไม่รู้อยู่ไหน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการจากแหล่งข่าวในธนาคารอิสลามฯ ว่า ข้อกล่าวหา ที่นายกฤษดา กวีญาณ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับพวก ถูก ป.ป.ช. สอบสวนและชี้มูลในคดีนี้ เป็นกรณีการอนุมัติและจ่ายเงินสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ซึ่งมีการคำนวณวงเงินรวมทั้งกลุ่มวงเงินกว่า 1,905 ล้านบาท โดยไม่มีอำนาจ และมีการให้เบิกสินเชื่อไปก่อนกว่า 430 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุเร่งด่วน
หลังจากกลุ่มบริษัทเดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอสินเชื่อ แยกเป็น กรณีบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในโครงการ "Luxury Pool Villas Resort & Spa" วงเงินรวม 650 ล้านบาท บริษัท เดอะ ไวท์ บีช จำกัด วงเงิน 400 ล้านบาท และบริษัท เดอะทวิน เรสซิเด้นท์ จำกัด วงเงิน 855 ล้านบาท รวมจำนวน 1,905 ล้านบาท ซึ่งระดับอำนาจอนุมัติวงเงินรวมนี้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการธนาคาร มิใช่อำนาจคณะกรรมการบริหาร
โดยการพิจารณารวมกลุ่มบริษัทเพื่อพิจารณาสินเชื่อ เมื่อ ปี พ.ศ.2552 - 2554 นั้น เป็นไปตามนโยบายธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยนโยบายสินเชื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งข้อ 7.2.5 หลักเกณฑ์การนับลูกค้ารายเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันเพื่อกำหนดอำนาจอนุมัติสินเชื่อ และกำหนดผู้ดูแลลูกค้า วรรคท้าย คำว่า "ข้อมูลอื่นใดที่แสดงความสัมพันธ์" หมายความว่าข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่แสดงความสัมพันธ์ของลูกค้าซึ่งมีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากข้อ 1-4 ธนาคารฯ ก็สามารถจัดกลุ่มบริษัทลูกค้าที่มาขอสินเชื่อรวมกันได้ เช่น บุคคลที่เป็นผู้บริหารโดยพฤตินัยในกลุ่มบริษัทเดียวกัน เป็นต้น
ดังนั้น การพิจารณารวมกลุ่มบริษัทเพื่อพิจารณาสินเชื่อ จึงเป็นดุลยพินิจที่ไมได้จำกัดเฉพาะกรณี ข้อ 7.2.5 ข้อ 1-4 เท่านั้น
เมื่อตามคำขออนุมัติสินเชื่อ กรณีบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในโครงการ "Luxury Pool Villas Resort & Spa" วงเงินรวม 650 ล้านบาท มีการคำนวณวงเงินรวมทั้งกลุ่มบริษัท ประกอบด้วยบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด วงเงิน 650 ล้านบาท บริษัท เดอะ ไวท์ บีช จำกัด วงเงิน 400 ล้านบาท และบริษัท เดอะทวิน เรสซิเด้นท์ จำกัด วงเงิน 855 ล้านบาท รวมจำนวน 1,905 ล้านบาท ระดับอำนาจอนุมัติวงเงินรวมจึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการธนาคาร
แต่การที่คณะกรรมการบริหารธนาคาร ที่มีนายกฤษดา กวีญาณ เป็นประธานกรรมการบริหาร ในการประชุม ครั้งที่ 30/2553 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 มีมติเห็นชอบให้เบิกเงิน จำนวน 430 ล้านบาท ไปก่อน ซึ่งวงเงินรวมทั้งกลุ่มบริษัทประกอบด้วย บริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด วงเงิน 650 ล้านบาท บริษัท เดอะ ไวท์ บีช จำกัด วงเงิน 400 ล้านบาท และบริษัท เดอะทวิน เรสซิเด้นท์ จำกัด วงเงิน 855 ล้านบาท รวมจำนวน 1,905 ล้านบาท ระดับอำนาจอนุมัติวงเงินรวมจึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการธนาคาร เกินไปกว่าอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ตามประกาศคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่อง ผู้ใช้อำนาจอนุมัติสินเชื่อ และวงเงินอนุมัติสินเชื่อ ที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาท เท่านั้น
ประกอบกับได้มีการชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 30/2553 ว่าลูกค้าต้องชำระค่าที่ดิน เป็นการเร่งด่วน โดยฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์จะนำเรื่องเพื่อขอสัตยาบันต่อคณะกรรมการธนาคารต่อไป และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติเห็นซอบให้เบิกใช้วงเงินสินชื่อค่าที่ดินจำนวน 430 ล้านบาท ไปก่อน (ณ วันจดจำนอง) และให้เสนอขอสัตยาบันต่อคณะกรรมการธนาคารต่อไปสำรับวงเงินสนับสนุนโครงการจำนวน 220 ล้านบาท ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารทราบดีอยู่แล้วว่าอำนาจอนุมัติสินเชื่อกรณีดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 กรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยรายหนึ่ง มีข้อสังเกตเรื่องการขอสัตยาบัน ว่าหากไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนจริงไม่ควรอนุมัติให้ดำเนินการก่อนขออนุมัติต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ โดยที่ประชุมมีมติ อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในโครงการ "Luxury Pool Villas Resort & Spa" วงเงินรวม 650 ล้านบาท และอนุมัติให้สัตยาบัน ภายใต้ข้อมูลเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ได้รับจากบริษัท อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด และต้องไม่มีการขอสัตยาบันในลักษณะนี้อีก
รายงานการประชุมดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการอนุมัติให้ดำเนินการก่อนขออนุมติต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ แล้วจึงมาขอสัตยาบันในภายหลังไม่ใช่กระบวนการอนุมัติสินเชื่อตามปกติ และบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ลูกหนี้ได้เบิกสินเชื่อค่าที่ดินแล้วทั้งจำนวน 430 ล้านบาท ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการธนาคารให้สัตยาบันในภายหลัง ทำให้คณะกรรมการธนาคารมีข้อทักท้วงให้ทบทวนข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นเพิ่มหลายประการ และมีการทักท้วงไว้ว่าต้องไม่มีการขอสัตยาบันในลักษณะนี้อีก
ประกอบกับบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด นั้น ปรากฏข้อมูลว่าหลังจากบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จำกัด ได้ซื้อที่ดินจาก บริษัท เดอะไวท์ บีช จำกัด แล้ว ได้มีการขอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผ่านการประเมินผลกระทบแล้ว แต่ต่อมาได้มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2556 -2557 การปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2557 และโรคระบาด COVID - 19 จึงยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างและยังไม่ได้ดำเนินการสร้างโรงแรมเพื่อประกอบกิจการ จนถึงปัจจุบัน
กรณีของบริษัท เดอะ อันดามัน ไพรเวท บีช จึงไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันใด ที่จะต้องมีการให้เบิกใช้วงเงินสินเชื่อค่าที่ดิน จำนวน 430 ล้านบาทก่อน (ณ วันจดจำนอง) และให้เสนอขอสัตยาบันต่อคณะกรรมการธนาคารซึ่งไม่ใช่กระบวนการอนุมัติสินเชื่อตามปกติ
การกระทำของนายกฤษดา กวีญาณ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับพวก ในคดีนี้ จึงทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย และส่อเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของเอกชนด้วย
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด