“...การที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งผู้ถูกร้องเคยได้รับสิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกฯ เป็นกฎที่ยังบังคับใช้อยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน กองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวแก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงคนอื่นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบเช่นเดียวกับกรณีของผู้ถูกร้อง อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติในธุรกิจการงานปกติของกองทัพบก มิได้เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่กองทัพบกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ จึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ…”
...........................
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เอกฉันท์’ วินิจฉัยยกคำร้อง กรณีฝ่ายค้านกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อยู่อาศัยบ้านพักรับรองทหาร ทำให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ศาล รธน.มติเอกฉันท์‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วงคดีบ้านพักทหาร-ไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง)
เหตุผลสำคัญบางห้วงบางตอนในคำพิพากษาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดให้บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ และมีหน้าที่จัดการดูแลความปลอดภัยให้แก่นายกรัฐมนตรี และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างสภาพสุขกาย สุขใจ การปฏิบัติภารกิจบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักให้แก่ผู้นำประเทศกรณีดำรงตำแหน่ง
“สำหรับประเทศไทย ในอดีตเคยกำหนดสถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักนายกรัฐมนตรี เช่น บ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีใหม่ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศสมเกียรติ รัฐจึงจัดให้มีที่พำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรอง สนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ได้รับสิทธิตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 เป็นกฎที่ยังคับใช้บังคับอยู่ ยังมิได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางคดีนี้ฉบับเต็ม จำนวน 12 หน้ากระดาษ
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเผยแพร่ ดังนี้
กรณีนี้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา พร้อมด้วย ส.ส.ฝ่ายค้าน รวม 55 ราย ลงชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
@คำชี้แจง ‘บิ๊กตู่’
ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. 2557 และเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกหลายตำแหน่ง แต่โดยผู้ถูกร้องรับราชการในกองทัพบก และตำแหน่งบังคับบัญชาที่สำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศไม่สงบเรียบร้อย ผู้ถูกร้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้น จำเป็นต้องใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกภายในกรมทหาราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) เป็นที่พักและเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการสั่งการ และปฏิบัติราชการ
เมื่อเกษียณอายุราชการและพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว ผู้ถูกร้องยังคงเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา โดยขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ความจำเป็นในการรรักษาความสงบเรียบร้อยขั้นสูงสุดยังคงมีอยู่ อีกทั้ง คสช. ยังใช้บ้านพักรับรองของผู้ถูกร้อง หรืออาคารต่าง ๆ บริเวณ ร.1 รอ. เป็นที่หารือหรือประชุมทางราชการเป็นครั้งคราว
(บางส่วนในคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)
@อ้าง ผบ.ทบ.ไฟเขียวให้อยู่ตาม ‘แบบธรรมเนียม-ระเบียบ ทบ.’
ผบ.ทบ.คนต่อ ๆ มา เห็นว่าผู้ถูกร้องเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ และมีคุณสมบัติตามแบบธรรมเนียมที่กองทัพบกเคยปฏิบัติต่ออดีตผู้บังคับบัญชา และเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ข้อ 4, 5, 8, 11 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และความจำเป็นอื่น ๆ ประกอบกัน จึงพิจารณาให้ผู้ถูกร้องมีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวต่อไปภายหลังเกษียณอายุราชการ เช่นเดียวกับกรณีของผ็เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. คนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามควรแก่สถานภาพและสถานการณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้แม้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดบ้านพักรับรองไว้ให้นายกรัฐมนตรีทุกคนคือ บ้านพิษณุโลก แต่ในขณะผู้ถูกร้องเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 นั้น บ้านพิษณุโลกทรุดโทรมเพราะถูกใช้เป็นที่ทำงานของหน่วยราชการแทนที่จะเป็นบ้านพักรับรองตามวัตถุประสงค์ และยังได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบแล้วเกรงว่าอาจไม่สะดวกต่อการสัญจร และไม่ปลอดภัยสำหรับสถานการณ์ที่มีการชุมนุมในขณะนั้น
ผู้ถูกร้องมิได้กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) เพราะระเบียบกองทัพบกฯ ใช้บังคับตั้งแต่ผู้ถูกร้องยังมิได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และก่อนที่ผู้ถูกร้อง จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกองทัพบกให้ประโยชน์เช่นเดียวกันนี้แก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกคน
การที่ผู้ถูกร้องได้รับประโยชน์ใด ๆ จากกองทัพบกก็เป็นไปตามที่กองทัพบกได้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นที่มีสถานภาพและคุณสมบัติเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นไปในธุรกิจการงานปกติของกองทัพบก ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ. 2560 ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดนั้น เป็นการจัดระเบียบที่พักของทางราชการแก่ผู้มีสถานภาพเป็นข้าราชการโดยอกตามความใน พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ไม่เกี่ยวกับกรณีที่กองทัพบกกำหนดระเบียบให้สิทธิแก่ผู้มิได้เป็นข้าราชการทหารซึ่งเป็นระเบียบแยกต่างหาก
นอกจากนี้ผู้ถูกร้องมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 27 ประกอบข้อ 7, 8, 9, 10, 11 อีกทั้งการพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง และสามารถใช้บ้านพักรับรองดังกล่าวเป็นที่ประชุม ต้อนรับผู้นำรัฐบาล และผู้นำทางทหารจากต่างประเทศ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารของทางราชการ เป็นสถานที่ถ่ายทอดสดออกอากาศเผยแพร่คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี และเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่าง ๆ
@ผบ.ทบ.แจงบิ๊กตู่’ อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูง-ทำคุณประโยชน์ชาติ
ผบ.ทบ. (เมื่อครั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่ง) ยื่นคำชี้แจง คำชี้แจงเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า กองทัพบกเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง รักษาความสงบเรียบร้อย ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ที่เสียผลประโยชน์ อาจส่งผลให้อดีตผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา ตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุหรือถูกปองร้าย
ประกอบกับอดีต ผบ.ทบ. หลายท่านหลังจากเกษียณอายุราชการแล้วได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการดำเนินงานทางการเมือง กองทัพบกตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอดีตผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ จึงจัดให้มีบ้านพักรับรองในพื้นที่ของกองทัพบกเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามปกติ และในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องการความรวดเร็วในกาแก้ไขปัญหาและเพื่อให้สามารถดำรงสถานะทางสังคมได้อย่างสมเกียรติ และมีศักดิ์ศรี
@สนับสนุนงบประมาณจ่ายค่าน้ำ-ไฟให้ด้วย
โดยกองทัพบกออกระเบียบกองทัพบกฯ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก จะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงหรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและกองทัพบก และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น กองทัพบกจึงอนุมัติให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) เข้าพักอาศัยในอาคารหมายเลข 253/54 พิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งานแก่ผู้ถูกร้อง รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัยและการสนับสนุนอื่น ๆ ปัจจุบันบ้านพักรับรองกองทัพบกที่ผู้ถูกร้องอาศัย ไม่ได้อยู่ในเขต ร.1 รอ. แต่เป็นพื้นที่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก
(คำชี้แจงของ ผบ.ทบ. กรณีให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักรับรองทหาร)
@ศาล รธน.ชี้ ‘บิ๊กตู่’มีสิทธิอยู่บ้านพักทหาร-กองทัพสนับสนุนค่าน้ำไฟฟรีได้
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยเบื้อต้นก่อนว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
เห็นว่า ระเบียบกองทัพบกฯแล้ว ผู้ถูกร้องเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก แม้ผู้ถูกร้องเกษียณราชการ แต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีสิทธิพักอาศัย เนื่องจากเคยเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง เคยเป็น ผบ.ทบ. ทำคุณประโยชน์ให้ชาติ หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสถานะเดียวไม่ หากผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน ย่อมไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบกองทัพบกฯนี้ได้
ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาในการใช้งานในบ้านพักรับรองดังกล่าว กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่าไฟฟ้า และน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกองทัพบกฯ ข้อที่ 11 แล้ว นอกจากนี้การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้นตามธรรมเนียมปฏิบัติ กองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก มิใช่ให้สิทธิเฉพาะกรณีผู้ถูกร้องเท่านั้น
@ชี้นายกฯตำแหน่งสำคัญของประเทศ
เห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้ และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นไปตามดุลพินิจของกองทัพบกที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกฯ ระเบียบดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ 16 ก.พ. 2548 ก่อนที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรี โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีซึ่งถูกรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัยแก่นายกรัฐมนตรี และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศในขณะดำรงตำแหน่ง
@ไม่ได้ถูกปฏิบัติเป็นพิเศษแต่ทำเหมือนอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงคนอื่น
กรณีประเทศไทยแม้ในอดีตรัฐเคยกำหนดให้สถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ในขณะดำรงตำแหน่ง เช่น บ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำของประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งผู้ถูกร้องเคยได้รับสิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกฯ เป็นกฎที่ยังบังคับใช้อยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน กองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวแก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงคนอื่นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบเช่นเดียวกับกรณีของผู้ถูกร้อง อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติในธุรกิจการงานปกติของกองทัพบก มิได้เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่กองทัพบกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ จึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
(คำวินิจฉัยตอนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่านายกฯคือตำแหน่งสำคัญ รัฐต้อจัดให้มีที่พำนักปลอดภัย)
@จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน-ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่
เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ใช้งานในบ้านพักรับรอง เป็นไปตามระเบียบกองทัพบกฯ จึงเป็นกรณีการรับที่มีระเบียบให้รับได้ ไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้
ดังนั้นผู้ถูกร้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 27 ประกอบข้อ 7,8 ,9, 10, 11 ไม่มีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก https://media.komchadluek.net/
อ่านประกอบ :
ประหยัดกว่าซ่อม บ.พิษณุโลก! คำวินิจฉัยส่วนตน‘ทวีเกียรติ’ไขปมบิ๊กตู่’รอดคดีบ้านพักทหาร?
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเสร็จปี 62! รวมสัญญาซื้อจ้างเกี่ยวกับ 'บ้านพิษณุโลก' 6 ปี 160 ล.
ฉบับเต็ม! ศาล รธน.มติเอกฉันท์‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วงคดีบ้านพักทหาร-ไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
ประยุทธ์รอด! ศาล รธน.ชี้อาศัยบ้านพักทหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-เหตุนายกฯคือผู้นำประเทศ
ถ้าไม่ผิดก็จบ! ‘บิ๊กตู่’ถอนหายใจคำถามสื่อก่อนศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร
อ้างบ้านสี่เสาฯ‘ป๋าเปรม’-ทบ.เปิดช่อง! ฉบับเต็มคำร้อง-คำชี้แจง‘บิ๊กตู่’คดีบ้านพักทหาร
(มีคลิป) จุดเป็น-จุดตายคดีบ้านพักทหารชี้ชะตา'บิ๊กตู่'
ชลน่าน ศรีแก้ว:ชำแหละจุด‘เป็น-ตาย’คดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ล้มนายกฯสะเทือนทั้งกองทัพ?
‘บิ๊กตู่’ลุ้น! 2 ธ.ค.ศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัยถูกร้องเป็น จนท.รัฐ-พ้นสถานะ รมต.หรือไม่
2 ธ.ค.อาถรรพ์? จากยุบพรรคพลังประชาชน ‘สมชาย’หลุดเก้าอี้นายกฯถึงชี้ชะตา‘ประยุทธ์’
ส่อผิดจริยธรรมร้ายแรง!‘หมอชลน่าน’เผยจุดตายคดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ศาล รธน.นัดฟัง 2 ธ.ค.
ไม่กังวลศาล รธน.! นายกฯเชื่อทำดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง-มีบ้านส่วนตัวแต่พื้นที่จำกัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage