“...ในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะการชู 3 ข้อเรียกร้อง ให้นายกฯลาออก-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบันฯ บริบททางการเมืองคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีที่แล้วอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ม็อบ ที่ยกระดับการชุมนุมขึ้นทุกวัน แม้อาจไม่มาก หรือไม่รุนแรงเท่าม็อบพันธมิตรฯก็ตาม ดังนั้นในแง่ร้ายที่สุดสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสถานะความเป็นนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?...”
..................................
วันที่ 2 ธ.ค. 2563 หรืออีกราวไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้า เป็นอีกวันสำคัญทางการเมือง
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ กรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’ลุ้น! 2 ธ.ค.ศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัยถูกร้องเป็น จนท.รัฐ-พ้นสถานะ รมต.หรือไม่)
แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดพ้นคดีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และในชั้นองค์กรอิสระต่าง ๆ มาหลายครั้ง เช่น กรณีถูกกล่าวหาว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ อย่างไรก็ดีศาลวินิจฉัยว่า สถานะตำแหน่งหัวหน้า คสช. ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่มีกฎหมายหรือการเข้าสู่ดำรงตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว จึงไม่มีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นต้น (อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’รอด!ศาล รธน.ตีความ หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.อื่นของรัฐ-เข้ามาชั่วคราวจากยึดอำนาจ)
แต่คราวนี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างพูดถึงกันระงมว่า ให้จับตาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 กันให้ดี
เพราะอะไร?
หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า วันที่ 2 ธ.ค. เมื่อ 12 ปีที่แล้ว หรือปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยสำคัญคดีหนึ่ง จนหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการคลี่คลาย ‘วิกฤติการเมือง’ ณ ขณะนั้นมาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
สถานการณ์การเมืองช่วงปี 2550-2551 ยังคงเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ เพื่อประท้วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชาชน ที่ชนะการเลือกตั้ง หลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 ประมาณ 1 ปีเศษ แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะถือว่าเป็น ‘ลูกจ้าง’ กรณีเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวผ่านโทรทัศน์ก็ตาม
ทว่าเสียงของพรรคพลังประชาชนในสภา กับพรรคร่วมรัฐบาล ได้ผลักดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะ ‘น้องเขย’ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯคนที่ 26 ส่งผลให้ม็อบพันธมิตรฯ ออกมาประท้วงใหญ่อีกครั้ง โดยคราวนี้มีการบุกเข้าไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมถึงปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา จนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องอดีตนายกฯ-ผู้เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดไปแล้ว (อ่านประกอบ : คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม)
แต่เงื่อนปมสำคัญอยู่ที่ในช่วงเวลาเดียวกัน กกต. มีมติให้ ‘ใบแดง’ แก่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) เนื่องจากถูกร้องเรียนว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 ใน จ.เชียงราย ทำให้นายยงยุทธแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่านายยงยุทธ กระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปฯ ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ส.เชียงราย ไม่สุจริต
หลังจากนั้นอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเหตุกรณีนายยงยุทธ ที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนด้วย กระทำทุจริตการเลือกตั้งตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พ่วงด้วยพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
โดยท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าทั้ง 3 พรรคดังกล่าวกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง ให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 แห่ง และตัดสิทธิกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรคดังกล่าวจำนวน 109 ราย เป็นเวลา 5 ปี หรือที่ต่อมาเราเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ‘คนบ้านเลขที่ 109’ เดินตามรอยกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยไปก่อนหน้านี้ ที่เรียกว่า ‘คนบ้านเลขที่ 111’
คำวินิจฉัยยุบพรรคดังกล่าว ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เข้ารับตำแหน่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2551 นั่งอยู่บนเก้าอี้ได้เพียงแค่ 75 วัน และไม่เคยเข้าไปปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลเลยแม้แต่วันเดียว ต้องพ้นจากตำแหน่งไป?
การวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย บางฝ่ายเห็นว่า เป็นการแก้วิกฤติทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 ที่ม็อบพันธมิตรฯออกมาชุมนุมขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จนเกิดรัฐประหารปี 2549 แต่เครือข่ายนายทักษิณยังคงครองอำนาจได้ต่อในปี 2550-2551 ส่วนบางฝ่ายเห็นว่า เป็นการ ‘กำจัด’ คู่แข่งทางการเมือง เพื่ออุ้มชูให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล (หลังเกิดกรณีดังกล่าว ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ ได้พลิกขั้วนำพรรคภูมิใจไทยมาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ)
(นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯคนที่ 26, ขอบคุณภาพจาก : https://www.thairath.co.th/)
หลังจากนั้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างที่หลายฝ่ายทราบกันดีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นผลพวงจากคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551
กลับมาประเด็นสำคัญคือ ในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะการชู 3 ข้อเรียกร้อง ให้นายกฯลาออก-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบันฯ
บริบททางการเมืองคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีที่แล้วอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ม็อบ ที่ยกระดับการชุมนุมขึ้นทุกวัน แม้อาจไม่มาก หรือไม่รุนแรงเท่าม็อบพันธมิตรฯก็ตาม
ดังนั้นในแง่ร้ายที่สุดสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสถานะความเป็นนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
แน่นอนว่าต้องมีการเลือกนายกฯใหม่ แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า การเลือกนายกฯแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.การเลือกตามบัญชีของพรรคการเมือง ตามมาตรา 88 ที่ยื่นต่อ กกต. ในวันสมัครรับเลือกตั้ง โดยขณะนี้มีแคนดิเดตนายกฯเหลืออยู่ 5 ราย (ไม่นับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกยุบไปแล้ว) ได้แก่ ซีกรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคภูมิใจไทย มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส่วนซีกฝ่ายค้านมีแค่พรรคเพื่อไทยคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ โดยกรณีนี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) จะต้องโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ตามแคนดิเดตรายชื่อข้างต้น ใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (376 เสียง) จะเป็นนายกฯคนใหม่ทันที
2.การเลือกนายกฯคนนอก ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคสอง กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของ 2 สภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งคือ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือไม่ก็ได้
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ หากต้องการเลือก ‘นายกฯคนนอก’ เข้ามา จำเป็นต้องมีเสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียงเช่นกัน เพื่อเข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาให้เปิดประชุมร่วม ก่อนที่จะต้องลงมติขั้นแรก โดย ส.ส. และ ส.ว. ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (ไม่ต่ำกว่า 500 เสียง) เพื่อเปิดช่องเอาชื่อคนนอกมาเลือกนายกฯ หลังจากนั้นจึงให้ ส.ส. และ ส.ว. ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียงโหวตเลือกนายกฯ แข่งกับแคนดิเดตนายกฯคนเดิมได้
3.พล.อ.ประยุทธ์ ชิงยุบสภาก่อน กรณีนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสถานการณ์ม็อบขณะนี้ค่อนข้างร้อนแรงพอสมควร หากปล่อยไว้อาจบานปลายขึ้นได้ ดังนั้นสมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ ชิงยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไป และบทเฉพาะกาลในส่วนของ ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯยังคงอยู่ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากความเป็นนายกฯ และถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็ตาม แต่พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ ยังมีเวลาสรรหา ‘ตัวแทน’ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯคนใหม่ได้
ทั้งหมดคือ 3 ทางเลือกหากเกิดเหตุการณ์ในแง่ ‘ร้ายที่สุด’ คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ‘บิ๊กตู่’ พ้นเก้าอี้นายกฯ ซ้ำรอยพรรคพลังประชาชน?
ท้ายที่สุดเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ คงต้องจับตาดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค. แบบห้ามกระพริบตาเด็ดขาด!
หมายเหตุ : ภาพประกอบภาพปก นายสมชาย จาก https://news.mthai.com/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage