“...เมื่อพิจารณาเหตุผลในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องว่า บ้านพิษณุโลกมีสภาพทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การพักอาศัย อีกทั้งมีหน่วยงานของรัฐบาลหลายหน่วยงานเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ กับทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมแก่การรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลสำคัญ ดังนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่เคยพักอยู่เดิมในกองทัพบกตั้งแต่ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เพื่อใช้เป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยได้รับอนุญาตจาก ผบ.ทบ. โดยถูกต้องตามระเบียบกองทัพบกฯ แทนที่จะใช้บ้านพิษณุโลกซึ่งเคยกำหนดไว้ใช้เป็นบ้านพักรับรองของนายกรัฐมนตรีมาแต่เดิม น่าประหยัดงบประมาณแผ่นดินในเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมและการรักษาความปลอดภัยได้เป็นจำนวนมาก…”
..................................
“นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดให้บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ และมีหน้าที่จัดการดูแลความปลอดภัยให้แก่นายกรัฐมนตรี และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างสภาพสุขกาย สุขใจ การปฏิบัติภารกิจบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักให้แก่ผู้นำประเทศกรณีดำรงตำแหน่ง”
“สำหรับประเทศไทย ในอดีตเคยกำหนดสถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักนายกรัฐมนตรี เช่น บ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีใหม่ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศสมเกียรติ รัฐจึงจัดให้มีที่พำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรอง สนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ได้รับสิทธิตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 เป็นกฎที่ยังคับใช้บังคับอยู่ ยังมิได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน”
“ประกอบกับกองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวแก่ผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบนั้น โดยถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล อันเนื่องจากการดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก จึงมิได้เป็นการกระทำที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยราชการเป็นพิเศษ นอกจากปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)”
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อยู่อาศัยในบ้านพักรับรองราชการทหาร ในพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ฯ (ร.1 รอ.) ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิพิเศษ หรือรับผลประโยชน์อื่นใด และไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ศาล รธน.มติเอกฉันท์‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วงคดีบ้านพักทหาร-ไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง)
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ฝ่ายที่เห็นต่าง และ ‘ม็อบราษฎร’ รวมถึงนักวิชาการทางด้านกฎหมายหลายราย?
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 1 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว พบรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งมีบางห้วงบางตอนถูกนำมาเขียนไว้ในคำวินิจฉัยกลางด้วย มีรายละเอียด ดังนี้
ความเห็นทางกฎหมาย
รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และ 160 เป็นบทบัญญัติในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มีความมุ่งหมายแสดงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลักเกณฑ์การบริหารราชการแผ่นดิน เงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี ตลอดจนถึงการตรากฎหมายลำดับรองที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยในส่วนมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และ (5) แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เนื่องจาก
1.กรณีมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 เช่น การใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบ ตามที่กำหนด
2.กรณีมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187
ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 มีความมุ่งหมายที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) บัญญัติว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง” โดยปัจจุบันมีการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ” โดยกำหนดให้บังคับใช้แก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย
ส่วนมาตรา 186 มีความมุ่งหมายที่จะกำหนดข้อห้ามเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและป้องกันมิให้รัฐมนตรี แสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ตนเอง หรือของผู้อื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนมาตรา 184 มีความมุ่งหมายเพื่อยแกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการออกจากกันมิให้ก้าวก่ายกันนอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่รัฐธณรมนูญกำหนดไว้ พร้อมทั้งป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ข้อเท็จจริงในคดีตามคำร้อง
ปรากฏว่าผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2557 และขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. พักอาศัยที่บ้านพัก อาคารหมายเลข 253/54 ตั้งอยู่ที่ ร.1 รอ. ปัจจุบันเป็นบ้านพักรับรองกองทัพบก และพักอาศัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกและได้รับประโยชน์จากค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นการกระทำอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ข้อ 5, 7, 8, 11 แล้ว
ประกอบกับคำชี้แจงของผู้บัญชาการทหารบกที่ชี้แจงว่า ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 ยังคงดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. อยู่ จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก โดยอาศัยระเบียบกองทัพบกฯ และเมื่อเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ซึ่งควรจะหมดสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านหลังดังกล่าวแล้ว แต่ขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกดังกล่าวต่อไปได้ เนื่องจากเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว นอกจากนี้ตามระเบียบกองทัพบกฯ ยังให้อำนาจกองทัพบกพิจารณาให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกที่หมดสิทธิเข้าพักอาศัยด้วยเหตุย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้มีสิทธิเข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายได้ การที่กองทัพบกกำหนดให้อาคารหมายเลข 253/54 เป็นบ้านพักรับรอง แม้จะเป็นการกำหนดขึ้นภายหลัง ก็เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจในระเบียบกองทัพบกฯ ให้กระทำได้
ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ในการใช้งานในบ้านพักรับรอง กองทัพบกได้พิจารณาเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกองทัพบกฯแล้ว นอกจากนี้การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้น กองทัพบกได้พิจารณาให้แก่ผู้มีคุณสมบัติในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกทุกคนที่ผ่านมา มิใช่เฉพาะกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น
เห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นไปตามดุลพินิจของกองทัพบกที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกฯ โดยระเบียบดังกล่าวบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2548 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้การใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าว ย่อมจะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบความถูกต้อง ตามระเบียบของสำนักงบประมาณด้วย
(ภาพที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นโชว์ในไลฟ์สด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ขณะอ่านคำวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร)
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งไว้อย่างเข้มงวด เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ กล่าวคือ เป็นตำแหน่งที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยกฎหมายได้ วางกรอบกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ในการบริหารประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งมีสถานะเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหารทุกระดับในทุกกระทรวง ทบวง กรม ตามกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติเปลี่ยนแปลงหรือโอนงบประมาณ (เช่น เคยให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นทำเนียบรัฐบาล หรือการจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น) ทำนองเดียวกับการใช้รถตำแหน่ง ผู้ใช้อาจเลือกใช้รถส่วนตัว รถประจำตำแหน่ง รถรับรอง หรือรถส่วนกลางก็ได้ตามกฎระเบียบของทางราชการ มิได้เป็นการใช้ประโยชน์นอกเหนือจากที่รัฐจัดให้แต่อย่างใด
ในส่วนของบ้านพักรับรองสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประเด็นตามคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยนี้ มีข้อเท็จจริงว่า ได้มีการจัดบ้านพิษณุโลกให้เป็นบ้านพักรับรองประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มิได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในบ้านพักรับรองดังกล่าว เลือกที่จะอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก โดยไม่เสียค่าน้ำค่าไฟให้แก่ทางราชการ เป็นการอยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการรับประโยชน์ใด ๆ นอกเหนือจากที่รัฐจัดให้อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องว่า บ้านพิษณุโลกมีสภาพทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การพักอาศัย อีกทั้งมีหน่วยงานของรัฐบาลหลายหน่วยงานเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ กับทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมแก่การรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลสำคัญ ดังนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่เคยพักอยู่เดิมในกองทัพบกตั้งแต่ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เพื่อใช้เป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยได้รับอนุญาตจาก ผบ.ทบ. โดยถูกต้องตามระเบียบกองทัพบกฯ แทนที่จะใช้บ้านพิษณุโลกซึ่งเคยกำหนดไว้ใช้เป็นบ้านพักรับรองของนายกรัฐมนตรีมาแต่เดิม น่าประหยัดงบประมาณแผ่นดินในเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมและการรักษาความปลอดภัยได้เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกเพียงแห่งเดียว ไม่พักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองที่บ้านพิษณุโลก จึงเป็นการได้รับสวัสดิการและประโยชน์สำหรับนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ตามหลักเกณฑ์ปกติ และมิได้มีลักษณะเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากการที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) แต่อย่างใด ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
ส่วนประเด็นร้องวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่
เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยบ้านพักรับรองของกองทัพบก โดยกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองกองทัพบก และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งานในบ้านพักรับรอง เป็นไปตามระเบียบกองทัพบกฯแล้ว ย่อมจะต้องมีหน่วยงานตรวจสอบความถูกต้องตามระเบียบราชการอยู่แล้ว จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำการอันเป็นการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่เป็นกรณีการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ให้รับได้
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 27 ประกอบข้อ 27, 8, 9, 10, 11 อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)
ทั้งหมดคือความเห็นโดยสรุปในคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คดีดังกล่าว
ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 รายจะออกมาเป็นอย่างไร รอติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเสร็จปี 62! รวมสัญญาซื้อจ้างเกี่ยวกับ 'บ้านพิษณุโลก' 6 ปี 160 ล.
ฉบับเต็ม! ศาล รธน.มติเอกฉันท์‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วงคดีบ้านพักทหาร-ไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
ประยุทธ์รอด! ศาล รธน.ชี้อาศัยบ้านพักทหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-เหตุนายกฯคือผู้นำประเทศ
ถ้าไม่ผิดก็จบ! ‘บิ๊กตู่’ถอนหายใจคำถามสื่อก่อนศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร
อ้างบ้านสี่เสาฯ‘ป๋าเปรม’-ทบ.เปิดช่อง! ฉบับเต็มคำร้อง-คำชี้แจง‘บิ๊กตู่’คดีบ้านพักทหาร
(มีคลิป) จุดเป็น-จุดตายคดีบ้านพักทหารชี้ชะตา'บิ๊กตู่'
ชลน่าน ศรีแก้ว:ชำแหละจุด‘เป็น-ตาย’คดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ล้มนายกฯสะเทือนทั้งกองทัพ?
‘บิ๊กตู่’ลุ้น! 2 ธ.ค.ศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัยถูกร้องเป็น จนท.รัฐ-พ้นสถานะ รมต.หรือไม่
2 ธ.ค.อาถรรพ์? จากยุบพรรคพลังประชาชน ‘สมชาย’หลุดเก้าอี้นายกฯถึงชี้ชะตา‘ประยุทธ์’
ส่อผิดจริยธรรมร้ายแรง!‘หมอชลน่าน’เผยจุดตายคดีบ้านพักทหาร‘บิ๊กตู่’-ศาล รธน.นัดฟัง 2 ธ.ค.
ไม่กังวลศาล รธน.! นายกฯเชื่อทำดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง-มีบ้านส่วนตัวแต่พื้นที่จำกัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage