‘ธนกร ศรีสุขใส’ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ แจงกรณีอนุมัติงบ 284 ล้าน ปี 63 ไม่เอื้อทุนใหญ่ ดำเนินงานตามเจตนารมณ์กม. ผู้ได้รับทุนมีคุณสมบัติตรงตามประกาศ -ไม่รู้ว่าแต่ละกลุ่มมีสัดส่วนเท่าไร มองที่เนื้องานเป็นหลัก-ยันพร้อมชี้แจงทุกหน่วยงานตรวจสอบ-เตรียมเชิญภาคปชช.ร่วมหารือภายในเดือน ต.ค. นี้
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.),รวมทั้งยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ และยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระองค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนของรัฐสภา ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากเห็นว่า 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติ งบประมาณรวม 284,966,950 บาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 มีสัดส่วนผู้รับทุนในกลุ่มบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อและอุตสาหกรรรมบันเทิงจำนวน 33 ราย ได้งบประมาณรวม 153,198,585 บาท หรือร้อยละ 53.76 ของงบประมาณที่กองทุนจัดสรรให้ในปีนี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวด 1 มาตรา 5 ที่ให้กองทุนมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
( อ่านประกอบ : ขีดเส้น15 วัน! ภาคปชช.ขู่ไม่ทบทวนโครงการกองทุนสื่อฯยื่นศาลปค.ขอระงับเบิกจ่ายงบ 300 ล.,
ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่ )
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ของภาคประชาชนดังกล่าว
โดยนายธนกร ชี้แจงข้อร้องเรียนประเด็นกลุ่มทุนใหญ่ได้รับทุนในสัดส่วนมากกว่า 50% อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนฯ ว่า เรื่องเจตนารมณ์ขึ้นอยู่กับการตีความว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งผู้ผลิตไม่ได้อยู่ที่กลุ่มใดกล่มหนึ่ง
“ถ้าดูเจตนารมณ์ ก็ต้องย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือกฎหมาย กสทช. ฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2560 ไปดูในมาตรา 52 วงเล็บ 5 เรื่องของการให้มีการตั้งกองทุน เรื่องของการที่จะให้สนับสนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อย่าเข้าใจผิดคิดว่าการทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องเอาไปให้ภาคประชาชน ประเด็นนี้ ผมในฐานะผู้จัดการเห็นต่างเลย เนื่องจากการที่ให้ทุนในการผลิตรายการ เพื่อไม่ให้เขาไปผลิตเองแล้วต้องไปขึ้นอยู่กับตลาดหรือระบบโฆษณา เพราะฉะนั้น เวลาช่องมาขอทุน ช่องก็มีสิทธิ์ แม้ว่าช่องจะอยู่ในระบบตลาดหรือระบบธุรกิจ แต่ว่าเมื่อช่องมาผลิตรายการให้กองทุน ช่องไม่ต้องไปกังวล ว่าขายได้หรือขายไม่ได้ ไม่ต้องกังวลว่ามีเรตติ้งเท่าไหร่ ไม่ต้องกังวลว่ามีเรตติ้งหรือไม่มีเรตติ้ง ไม่ต้องกังวลว่าโฆษณาจะเข้าหรือไม่ ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคม หรือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เหล่านี้จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาสื่อฯ หรือ กทปส. เพราะฉะนั้น เงินกองนี้มันควรจะย้อนกลับไปยังผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ ” นายธนกร ระบุ
นายธนกร ยังระบุด้วยว่า เพราะฉะนั้น การที่ช่องระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน มาขอทุนจึงเป็นเรื่องปกติ แล้วก็เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และเป็นไปตามข้อบังคับ แต่จะสอดคล้องเจตนารมณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่คิดต่างกันได้
"เรามุ่งที่ผลผลิตเป็นสำคัญ และผู้ได้รับทุนเขามีคุณสมบัติตรงตาม ประกาศ ซึ่งกองทุนของเราก็ให้บุคคลธรรมดาด้วย เพราะต้องการให้บุคคลธรรมดา ให้คนเล็กคนน้อยได้ทุน ดังนั้น เวลาพิจารณา ก็จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอทุนโครงการและสามารถทำได้เสร็จตามที่กำหนด เราไม่รู้เลยว่าแต่ละกลุ่มที่ได้รับทุนมีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่”
ส่วนประเด็นสัดส่วนที่ภาคประชาชนเห็นว่าบริษัทใหญ่และกลุ่มธุรกิจได้ทุนไปมากกว่า 50% นั้น นายธนกรกล่าวว่า ภาคประชาชนควรทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่กรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้ พูดยากว่าขัดเจตนารมณ์ของกองทุนฯ เพราะในฐานะคนทำงาน ยืนยันว่าไม่ขัดเจตนารมณ์ และไม่สามารถระงับการพิจารณาการให้ทุนได้
“เขาว่าสัดส่วน 53% แต่ได้ไปดูไหมว่าในความเป็นจริงแล้ว โครงการ 20 ล้านบาท มันถือว่าน้อยมากสำหรับการผลิตรายการ แล้วใน 53% ยังมีอีกมากที่ไม่ใช่แค่บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการสื่อตัวจริงเสียงจริง แค่อย่าเหมารวม เราอยากให้ความเป็นธรรมกับผู้รับทุน อย่างเช่น บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น เราจะไม่ให้เขาหรือ หรือกรณีผู้ผลิตโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เราจะไม่ให้เขาหรือ ผมบอกเขาตลอดเลยว่ารัฐมีแต่บังคับใช้กฎหมาย ให้เขาจ่ายใบอนุญาต แพงๆ แล้ว จ่าย 2-3 พันล้าน ถ้าคิดว่า สัดส่วนของภาคธุรกิจ เยอะเกินไปขอให้ทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผมในฐานะผู้จัดการพร้อมรับฟัง ขอย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย” นายธนกรระบุ
และกล่าวว่ากองทุนฯ มองที่เนื้องานเป็นหลัก มุ่งให้คนมาดำเนินการผลิตสื่อที่ต้องมีความสามารถ ซึ่งตามหลักการ ก็เปิดให้บุคคลธรรมดายื่นเข้ามาจำนวนมาก ส่วนกรณีถ้าหากดูข้อมูล ย้อนหลัง 3 ปี แล้ว เห็นว่าภาคประชาชนได้น้อย ก็ขอให้ทำเข้ามาเป็นข้อเสนอแนะ สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอมา เราก็จะเสนอไปยังบอร์ดบริหารและเสนอไปยังรัฐบาล
นายธนกร ยังกล่าวด้วยว่า ภายในเดือนตุลาคมจะเชิญภาคประชาชนมาหารือ และหากมีองค์กรตรวจสอบขอให้เข้าไปชี้แจง ก็พร้อมไปชี้แจง เพราะทำงานอย่างโปร่งใส
เมื่อถามว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อการที่ภาคประชาชนยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ นายธนกร กล่าวว่า ได้ตรวจสอบหนังสือที่มายื่นที่กองทุนฯ ซึ่งมีผู้มายื่น 2 คน ปรากฏว่าหนังหนังสือของทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ขอทุน จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่เป็นผู้อุทธรณ์ เนื่องจากตามกฎหมายไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย
“ดังนั้น เราก็รับไว้พิจารณาตามนั้น แต่สองเคสนี้ ไม่ถือว่าเป็นหนังสืออุทธรณ์ เพราะหนังสืออุทธรณ์ ต้องถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย คือเป็นผู้ที่มายื่นขอทุนแล้ว ไม่ได้รับทุน ณ วันนี้ ไม่มีประเด็นอุทธรณ์ มีเพียงประเด็นยื่นหนังสือ เป็นประเด็นข้อห่วงใยของภาคประชาชน ผมเรียกว่าเป็นข้อห่วงใยของประชาชน เราคิดแบบนี้ เขาอาจจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่ง หากเขายื่นศาลเราก็พร้อมไปชี้แจง ไม่เป็นไร”
เมื่อถามว่า หากภาคประชาชนอาจยื่นต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งให้ระงับการเบิกจ่ายทุน จะทำอย่างไร
นายธนกร กล่าวว่า "ยินดีให้ข้อมูลต่อศาล เพราะเราทำงานระบบเปิด พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่องอยู่แล้ว หากภาคประชาชนเขามีข้อสงสัยหรือข้อเคลือบแคลงใดบ้าง ก็ยินดีชี้แจง เพราะถ้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เราก็ถือเป็นโอกาสในการชี้แจง ซึ่งเราชี้แจงได้ในทุกประเด็นที่ตั้งข้อสังเกต”
@ ตั้งคกก.สอบหาข้อเท็จจริงระบบเสนอโครงการติดขัด เกรงคนแฮกก่อกวนไอที
ส่วนประเด็นเรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง กรณีเกิดความผิดพลาดของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ทั้งจากกรณีระบบติดขัดในคืนวันที่ 2 ก.ย.2563 และระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ (อ่านประกอบ : ระบบเสนอโครงการ 300 ล.ติดขัด! กองทุนสื่อฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงหวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ )
นายธนกร ชี้แจงว่า ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าอาจมีผู้แฮกหรือก่อกวนระบบไอทีของสำนักงานกองทุนฯ จึงขอให้มีการตรวจสอบ โดยผู้ที่เชิญมาเป็นกรรมการคือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาเป็นที่ปรึกษา การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีการพิจารณาอนุมัติทุน 300 ล้านแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบข้อมูล บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ จำนวน 3 ล้านบาท ในการจัดทำโครงการเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนใต้ โดยพบว่า บริษัท จริยะวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 (ก่อนหน้าที่จะได้รับอนุมัติโครงการเพิ่งแค่ 4 เดือนเศษ) ทุน 2,000,000 บาท มีการตรวจสอบหรือไม่ เนื่องจากบริษัทเพิ่งก่อตั้งได้ 4 เดือนก่อนได้รับทุน
นายธนกร กล่าวว่า "กรณีนี้ ยังไม่ทราบเรื่อง แต่เมื่อทราบจากสำนักข่าวว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้น ก็จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป"
อ่านประกอบ :
แถลงการณ์ (ฉบับที่ 1) เครือข่ายประชาขนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage