เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อฯ ขีดเส้น 15 วัน กองทุนพัฒนาสื่อฯ ไม่พิจารณาทบทวนอนุมัติโครงการ 300 ล้าน เตรียมยื่นคำร้องศาล ปค. ขอให้มีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายแน่ หลังยื่นหน่วยงานตรวจสอบมาแล้วหลายแห่ง รวมกมธ. ชุด จิรายุ ห่วงทรัพย์ ด้วย ยันไม่ได้ชี้ว่าบริษัทหรือองค์กรได้รับอนุมัติผิด แต่อยากให้ดูความเหมาะสมเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558
( อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ ,
ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่ )
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2563 นายจารุวงศ์ ณ ระนอง ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เครือข่ายฯ กำลังรอดูท่าทีผู้จัดการกองทุน เกี่ยวกับการทบทวนอนุมัติโครงการฯ ภายหลังจากยื่นเรื่องให้พิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยจะให้เวลาประมาณ 15 วัน หากไม่มีการดำเนินการอะไร จะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งทางปกครองระงับการเบิกจ่ายของกองทุนฯ
"ภายหลังจากเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติทุน เราเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองด้วย แต่ฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายฯ แนะนำว่า 15 วัน หลังยื่นอุทธรณ์ต่อกองทุนแล้วจึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ ในช่วงนี้ จึงอยู่ระหว่างรอดูผลอุทธรณ์ว่าเป็นอย่างไร ผู้จัดการกองทุนจะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว โดยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ประเด็นหลักที่จะยื่นคือขอให้มีคำสั่งทางปกครองระงับการเบิกจ่ายของกองทุนฯดังกล่าว”
นายจารุวงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นเรื่องนี้ให้หน่วยงานตรวจสอบหลายแห่ง ตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อมาได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากนั้นได้ไปยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีตัวแทนกองทุนฯ รับหนังสือ จนกระทั่งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ไปยื่นหนังสือต่อนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระองค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบในประเด็นเดียวกัน เท่าที่ติดตามเรื่องจาก กมธ. ชุดดังกล่าว ทราบว่าจะมีการนำเรื่องเข้าไปในวาระการประชุม โดยอาจจะมีการทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง
"การยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเครือข่ายฯ เห็นว่าในปีนี้มีการพิจารณาอย่างเร่งรัดและเมื่อให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาถึง พ.ร.บ. และระเบียบของกองทุนฯ แล้ว พบว่าขัดกัน เนื่องจากกองทุนฯมีเจตนารมณ์อย่างหนึ่งแต่กลับมีการออกระเบียบมาอีกอย่างหนึ่ง เพื่ออนุมัติโครงการ จึงเป็นเรื่องของ common sense (สามัญสำนึก) ที่ว่ากองทุนควรจะอนุมัติให้กับคนตัวเล็ก ๆ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงกำไรแต่นี่มีบริษัท มีองค์กรเอกชนที่ได้ทุนไปเยอะ เรามองว่าผิดวัตถุประสงค์ คือ เราไม่ได้ชี้ว่าบริษัทหรือองค์กรเอกชนผิด แต่อยากให้มีการเข้ามาดูความเหมาะสม ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์กองทุนฯ หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ก็อยากให้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แต่ก็ยอมรับว่าผู้ได้รับการพิจารณาบางส่วน อาทิ หน่วยงานทางการศึกษา ยอมรับว่าเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง" นายจารุวงศ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 และ 27 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและฝ่ายอำนวยการของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ตามเบอร์ที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ของกองทุนฯ เพื่อสัมภาษณ์กรณีที่ภาคประชาชนตั้งคำถามต่อการพิจารณาอนุมัติทุน แต่ไม่สามารถติดต่อใครได้
ภาพที่รัฐสภา : ไทยโพสต์
อ่านประกอบ :
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage