*หมายเหตุ เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 สะท้อนความเห็นหลายประเด็นต่อกรณีที่นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เนื่องด้วยกรณีเกิดความผิดพลาดของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
.................................
แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แถลงการณ์
เรื่อง ขอให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระงับการลงนามในสัญญาและโอนเงินงบประมาณ จำนวน 284,966,950 บาท
(ฉบับที่ 1)
จากกรณีการตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง 173/2563 ลงวันที่ 28 กันยายน 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยระบุว่า “ด้วยกรณีเกิดความผิดพลาดของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ทั้งจากกรณีระบบติดขัดในคืนวันที่ 2 ก.ย.2563 และระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งสองกรณีสะท้อนถึงมาตรฐานระบบงานของกองทุนและกระทบต่อความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นของกองทุนฯ ในการนี้เพื่อให้ได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และเป็นการวางระบบป้องกันในระยะยาว จึงได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว” นั้น
ในการนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้มีการหารือร่วมกันเป็นการเร่งด่วน และได้รับข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ให้ใช้เหตุตามที่กองทุนฯ ระบุในคำสั่ง ดังกล่าว ที่ระบุอยู่ในวรรคหนึ่ง ว่า “จากกรณีระบบติดขัดในคืนวันที่ 2 ก.ย.2563 และระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว” ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากระบวนการพิจารณาการให้ทุนในครั้งนี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 2 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันก่อนการประกาศผล ซึ่งปัญหานี้ได้รับการทักท้วงจากผู้ยื่นขอทุนตั้งแต่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการชี้แจงจากกองทุน รวมทั้งกรณีที่มีการส่งจดหมายอิเล็กโทรนิกส์ (Email) ถึงผู้ยื่นขอทุนโดยมีเนื้อหาโดยสรุป ว่ามีการตรวจสอบเอกสารครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการกลั่นกรองของอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ นั้น เป็นการส่งจดหมายอิเล็กโทรนิกส์ (Email) ดังกล่าว หลังจากที่มีการประกาศผลผู้ได้รับทุนไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่ยื่นขอทุนในปีนี้เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากความผิดพลาด ขัดข้องของกระบวนการบริหารจัดการ การเปิดรับข้อเสนอโครงการและกระบวนการพิจารณาของกรรมการ ตั้งแต่ก่อนและหลังการประกาศผลผู้ได้รับทุน
ดังนั้น ผู้ที่ยื่นขอทุนซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากความผิดพลาดของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการระงับการลงนามในสัญญาและโอนเงินงบประมาณ จำนวน 284,966,950 บาท ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับผู้ที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ 2563 และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบ 15 วันหลังจากที่มีการทำหนังสือขออุทธรณ์ประกาศไปที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 รวมทั้งประเด็นที่เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตั้งข้อสังเกต เรื่องประกาศการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563 มีเนื้อหาขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ๒๕๕๘ หมวด 1 มาตรา 5 (6) ซึ่งคำว่า “นิติบุคคลอื่นๆ” ไม่มีระบุไว้ใน พรบ. แต่กองทุนนำเอาคำว่า“นิติบุคคลอื่นๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย” มาใส่ไว้ประกาศดังกล่าวเพื่อให้บริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบต่างๆ รวมทั้งกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงขอออกแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อเสนอทางออกให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรรมการผู้พิจารณาโครงการ รัฐมนตรีว่ากระการทรวงวัฒนธรรม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทบทวนการเซ็นสัญญา และโอนเงินงบประมาณทั้งหมด ภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน
หากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ดำเนินการตามข้อเสนอเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทางเครือข่ายเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำเหตุดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีการระงับการลงนามในสัญญาและโอนเงินงบประมาณ จำนวน 284,966,950 บาท ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับผู้ที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ 2563 และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทันที ซึ่งถ้าไปถึงกระบวนการนั้นแล้ว และหากมีคำวินิจฉัยออกมาและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเกิดขึ้นหลังจากที่กองทุนโดยผู้จัดการฯ ได้โอนเงินดังกล่าวไปแล้ว จะเป็นการยากต่อการแก้ไขบรรเทา และยากต่อการแก้ปัญหาในอนาคต และจะต้องมีผู้รับผิดตามกฎหมายจนถึงที่สุดต่อไป
อ่านประกอบ :
มองที่เนื้องานเป็นหลัก! ผจก.กองทุนสื่อฯ ยันอนุมัติงบโครงการ 284 ล.ปี 63 ไม่เอื้อทุนใหญ่
ขีดเส้น15 วัน! ภาคปชช.ขู่ไม่ทบทวนโครงการกองทุนสื่อฯยื่นศาลปค.ขอระงับเบิกจ่ายงบ 300 ล.
ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่
ระบบเสนอโครงการ 300 ล.ติดขัด! กองทุนสื่อฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงหวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ
ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage