"...เอาใจช่วยภาคประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป และสามารถแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 มาตรา 23 ที่ระบุ ให้มีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนห้าคน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านพัฒนาสังคมหรือด้านจิตวิทยา ด้านวัฒนธรรม และด้านสื่อสารมวลชน ด้านละหนึ่งคน เป็นอนุกรรมการ และให้ผู้จัดการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ..."
.......................................
การก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะประสบความสำเร็จ โดยความพยายามและความร่วมมือจากทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และนักวิชาการ ด้วยความมุ่งหวัง ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
แต่ที่ผ่านมากองทุนแห่งนี้กลับมีข่าวคราวบางส่วนที่ส่งออกมาทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยเรื่อยมาตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการสนับสนุนทุนให้กับหน่วยงานและบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการอนุมัติทุนให้กับบริษัทสร้างหนังรายใหญ่จำนวน 16 ล้านบาทเพราะเกิดการท้วงติงจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เรื่องความโปร่งใส
รวมทั้งการยกเลิกสัญญาและมีปัญหาฟ้องร้องคดีในศาลปกครองกับผู้กำกับหนัง “นกเงือกเทือกเขาบูดโด” ซึ่งเป็นผู้รับทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จนทำให้ผู้กำกับดังกล่าวได้เดินเท้ารณรงค์นับหมอนรถไฟจากจังหวัดสุรินทร์เพื่อมาส่งเอกสารแก้ต่างคดีถึงศาลปกครอง และเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อฯ จนเป็นกระแสได้รับความสนใจจากภาคประชาสังคมและเกิดเวทีเสวนาหลายเวทีในช่วงที่ผ่านมา
โดยมีผู้จัดการกองทุน และเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ไปร่วมงาน และได้นำไปสู่ข้อเสนอต่างๆ ให้กับกองทุนได้นำไปพิจารณา แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ
รวมทั้งกรณีการนำงบฉุกเฉินมาใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจ้างบริษัทเอกชน ผลิตสื่อรณรงค์ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่มีคำอธิบายและการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
และล่าสุดกองทุนพัฒนาสื่อฯ ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศผลอนุมัติทุนในการดำเนินโครงการฯ ให้กับผู้ที่ยื่นขอรับทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาทเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผลพิจารณาที่ออกมา มีเสียงสะท้อนจากผู้นำส่งผลงานและส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อประชาชนในความรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม ของกระบวนการพิจารณาการให้ทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวนกว่า 1,460 โครงการ ของกองทุนพัฒนาสื่อฯ
จนเกิดปรากฎการณ์ทัวร์ลงเต็มหน้าแฟนเพจเนื่องจากผู้ที่ได้รับทุนส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตสื่อ และถูกครหาว่ามีกระบวนการพิจารณาที่เร่งรีบ รวบรัด ตามกระบวนการ คือ
1. เปิดให้ยื่นขอทุนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 – 3 กันยายน 2563 รวมระยะเวลาจำกัดเพียง 15 วัน ผ่านระบบการยื่นรายละเอียดของโครงการทางออนไลน์
2. มีการเชิญชวนให้ผู้ที่ยื่นขอทุนวงเงินเกินห้าล้านบาท เข้าไปนำเสนอโครงการต่อหน้าคณะกรรมการฯ จำนวน 157 โครงการ ในวันที่ 12 กันยายน 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 – 22.45 น. โดยกำหนดเวลานำเสนอโครงการละ 5 นาที ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นไปได้ เนื่องจาก ตามตารางการกำหนดเวลาการนำเสนอโครงการ จำนวน 157 โครงการ โครงการละ 5 นาที นั้น รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะเป็น 785 นาทีหรือเท่ากับ 13.08 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมระยะเวลาดำเนินการอื่นๆ ทำให้การเสนอโครงการจำนวนมากถูกเลื่อนกำหนดการนำเสนอออกไปหลายชั่วโมง และบางท่านหรือบางกลุ่มก็ถูกลดทอนเวลาลงเหลือ 3 นาที และส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อซักถามใดๆ จากคณะกรรมการ ฯ เพิ่มเติม
จึงดูเหมือนเป็นการกระทำที่เร่งรีบ รวบรัด สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการพิจารณาที่ทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณา และสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ขาดคุณภาพ จึงทำให้ประชาชนมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการนี้ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อรองรับความชอบธรรมของกระบวนการพิจารณาโครงการให้เป็นไปตามระเบียบทางราชการหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการคงต้องออกมาชี้แจง
3. การประกาศผลผู้ได้รับทุนได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่สาธารณะชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ที่ได้รับทุนส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ผลิตสื่อขนาดกลางและขนาดใหญ่ในประเทศ ที่มีศักยภาพความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรบุคคลที่มีรายได้ประจำในการปฏิบัติงานอยู่แล้ว และบริษัทเอกชนเหล่านี้ก็เป็นหน่วยงานองค์กร
ที่ประกอบธุรกิจแสวงกำไร
และจากข้อมูลของภาคประชาชนที่ได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อผลการประกาศอนุมัติทุน มีบริษัทเอกชนรายใหญ่จำนวน 4 บริษัทที่ผลประกอบการขาดทุน และมี 1 บริษัท ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งให้ขึ้นเครื่องหมาย “C” (Caution) และในขณะที่งบประมาณที่ได้รับการอนุมัติให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่งเพื่อผลิตหนังสั้น มีมากถึง 20 ล้านบาท จากงบประมาณรวมทั้งหมด 300 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หมวด 1 มาตรา 5 ให้กองทุนเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (4) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ จากพันธกิจและเจตนารมณ์ของกองทุนฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้แก่ภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ผลการอนุมัติทุนของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลับมุ่งเน้นที่เอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างๆที่มีงบประมาณในการดำเนินการเป็นของตนเองอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งจึงรวมตัวกันในนาม “ประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยมีความประสงค์ขอยื่นข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ขอให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ ว่ามีความโปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ( Good Governance) แล้วหรือไม่
2. ขอให้ระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ จากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 300 ล้านบาท
3. ขอให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทบทวนการพิจารณาอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ใหม่โดยละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึงทุกภาคส่วน
4. หากมีการตรวจสอบจากหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีการทุจริตในการดำเนินการใด ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาทุน ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
หลังจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องคงต้องรอดูว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในการตรวจสอบ และมีอำนาจบังคับสั่งการ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
และคณะกรรมการกองทุนซึ่งถือเผือกร้อนอยู่จะจัดการปัญหาอย่างไร ผู้จัดการกองทุนคงต้องรีบเร่งหารือผู้มีอำนาจในการทบทวนและตรวจสอบการอนุมัติทุนและเซ็นสัญญาให้มีความโปร่งใสให้ทันก่อนข้ามปีงบประมาณในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
และเอาใจช่วยภาคประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป และสามารถแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 มาตรา 23 ที่ระบุ ให้มีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนห้าคน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านพัฒนาสังคมหรือด้านจิตวิทยา ด้านวัฒนธรรม และด้านสื่อสารมวลชน ด้านละหนึ่งคน เป็นอนุกรรมการ และให้ผู้จัดการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
เพราะที่ผ่านมาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการที่กองทุนฯ ไม่ได้เป็นของภาคประชาสังคมโดยแท้จริงทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ กองทุนฯ อยู่ภายใต้อำนาจบารมีของข้าราชการระดังสูงในกระทรวงวัฒนธรรมโดยเบ็ดเสร็จ
ส่วนผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ทำหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายเลขานุการ ให้กับคณะกรรมการชุดนี้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่มีอำนาจในการเสนอ หรือยับยั้งใด ๆ ทำให้เกิดความหละหลวมในการพิจารณาอนุมัติทุนรอบต่าง ๆ จนเป็นข่าวให้สังคมจับตาตลอดมา
และวันนี้ภาคประชาชนบางส่วนจึงรวมตัวกัน เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปและตรวจสอบความโปร่งใส ในการบริหารจัดการกองทุน ให้เกิดความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ร่วมกันติดตามเรื่องนี้ต่อไปครับ