“...ขณะที่เนื้อหาหลัก-แก่นแกนของการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พรรคประชาชน เป็นแกนนำ ผนึกกำลังกับ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘หัวหน้ารัฐบาล’ แต่เพียงผู้เดียว ‘เปิดหัว’ ด้วยการ ‘เปิดปม’ ธุรกรรมหนี้ ‘คนในครอบครัว’ กว่า 4 พันล้านบาท เรื่องการออก ‘ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ หรือ PN เพื่อสัญญาว่าจะชำระค่าหุ้นจำนวน 9 บริษัท ให้กับ ‘แม่-พี่สาว-พี่ชาย-ลุง-ป้า’ เมื่อทวงถาม โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อ ‘หนีภาษีการรับให้’ จำนวน 218 ล้านบาท เป็นการส่อไปในทาง ‘นิติกรรมอำพราง’ จนนางสาวแพทองธาร ตอบได้เพียงแค่ ‘ไม่เป็นความจริง’...”
ตลอด 2 วัน (24-25 มี.ค.68) ของการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รายนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภาพรวมและเนื้อหาการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ถึง ‘ห้าดาว’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปภาพรวมและเนื้อหาตลอด 37 ชั่วโมง ภาพรวมการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ที่มี พรรคประชาชนและพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ เนื้อหาอัดแน่น-คุณภาพคับแก้วในช่วงเช้าจนถึงเวลาไพร์มไทม์ - 20.00 น. สลับกับการลุกขึ้นประท้วงของ สส.พรรครัฐบาล เพื่อทำลายเกมฝ่ายตรงข้าม
ในวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจค่อนข้างราบรื่น ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ เปิดญัตติตามที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตามด้วยการนำร่อง ‘กรีดแผล’ รัฐบาลนางสาว แพทองธาร ให้เห็นถึงการจัดตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง ครอบครัวและพวกพ้อง ตลอดจนเครือข่าย ‘ก๊วนกอล์ฟ’ กลุ่มทุนใหญ่ จนกลายเป็นที่มาของคอนเซปต์ ‘ดีลแลกประเทศ’ ที่มีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ไม่ถึง 1 %
อ่านประกอบ : ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ : เปิดศึกซักฟอก ‘นายกรัฐมนตรีนอกระบบ-ในระบบ
ขณะเดียวกัน ‘ขุนพล’ พรรคฝ่ายค้านได้ทยอยอภิปราย ‘เปิดแผล’ ลงลึกในรายละเอียด ในแต่ละเนื้อหา แต่ละประเด็น ซึ่งมีผู้ประท้วงจาก สส.พรรคฝั่งรัฐบาลน้อยมาก
ส่งผลให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรก เป็นไปได้ด้วยดี และจบในเวลา 02.00 น. ก่อนเวลาที่คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะต้องอภิปรายล่วงเลยไปจนถึงเวลา 05.30 น.
แต่อีกหนึ่งความขรุขระของการอภิปราย คือ การทำหน้าที่ ‘ขุนค้อน’ ของ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ในฐานะ ‘ประธานในที่ประชุม’ จนผู้อภิปรายจากพรรคฝ่ายค้านลุกขึ้นประท้วง ‘ท่านประธาน’ บ่อยครั้ง ในเรื่องของการผิดข้อบังคับ ข้อ 9 ว่าด้วยการ ‘วางตัวเป็นกลาง’
@ วันที่สอง พาดพิง ‘ทักษิณ’ – พรรครัฐบาล ‘ประท้วง’ วุ่น
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่สอง เป็นไปด้วยความติดขัด-โกลาหล เนื่องจากมีถ้อยคำประชดประชัน-เสียดสี พาดพิงไปถึงนางสาวแพทองธาร และกระทบชิ่งไปถึง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต้องมีการขอให้ ‘ถอน’ คำพูดหลายครั้ง จนทำให้ สส.พรรครัฐบาล ลุกขึ้นประท้วง ขัดจังหวะการอภิปรายเป็นระยะและต่อเนื่อง
แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่สอง ซึ่งเป็น ‘วันสุดท้าย’ ของการอภิปราย เวลาตามที่ตกลงกันไว้ที่ 23.30 น. ก่อนจะลงมติในวันถัดไป (26 มี.ค.68) แต่เป็นการ ‘จบก่อนเวลา’ เพราะ ‘ชยพล สท้อนดี’ สส.พรรคประชาชน ถูกนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง - ประธานในที่ประชุมขณะนั้น วินิจฉัยให้ ‘หยุดการอภิปราย’ เนื่องจากมีการพูดชื่อ ‘บุคคลภายนอก’ หลายชื่อ-หลายครั้ง
‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของการสั่ง ‘ปิดไมค์’ นายชยพล คือ การอภิปรายพาดพิง ‘บุคคลในกองทัพ’ ตลอดจน ‘ผู้ประท้วง’ ที่เป็น สส.จากพรรครัฐบาล หยิบยกเรื่องสถาบันขึ้นมาเป็นเหตุผลในการลุกขึ้นยกมือขึ้นพ้นศีรษะ
อย่างไรก็ตาม สส.ร่วมพรรคประชาชน อ้อนวอน ประธานในที่ประชุม จนใจอ่อน ‘กลับคำวินิจฉัย’ จากหยุดอภิปราย เหลือตัดเวลา-เปิดให้อภิปรายได้อีก 10 นาที
@ เปิดแผล ‘ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ – เปิดปม ‘เทมส์ วัลลีย์’
ขณะที่เนื้อหาหลัก-แก่นแกนของการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พรรคประชาชน เป็นแกนนำ ผนึกกำลังกับ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘หัวหน้ารัฐบาล’ แต่เพียงผู้เดียว ‘เปิดหัว’ ด้วยการ ‘เปิดปม’ ธุรกรรมหนี้ ‘คนในครอบครัว’ กว่า 4 พันล้านบาท เรื่องการออก ‘ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ หรือ PN เพื่อสัญญาว่าจะชำระค่าหุ้นจำนวน 9 บริษัท ให้กับ ‘แม่-พี่สาว-พี่ชาย-ลุง-ป้า’ เมื่อทวงถาม โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อ ‘หนีภาษีการรับให้’ จำนวน 218 ล้านบาท เป็นการส่อไปในทาง ‘นิติกรรมอำพราง’ จนนางสาวแพทองธาร ตอบได้เพียงแค่ ‘ไม่เป็นความจริง’ และ ‘ทำถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง’ หรือ ‘ทุกอย่างตรวจสอบได้’ ที่สำคัญคือการยืนยันว่า ‘ตั๋วPN’ เป็นเรื่องปกติ ก่อนจะสัญญาปากเปล่าในสภาว่าจะใช้หนี้ก่อนแรกในปี 2569
ตอกหมุดด้วยการ ‘เปิดประเด็น’ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของ ‘โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่’ ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างต้นเอง และยังตั้งอยู่ใน ‘พื้นที่ต้นน้ำ’ ไม่สามารถออกโฉนดได้ และต้องได้รับอนุญาตหากจะนำที่ดินไปประกอบธุรกิจโรงแรม อย่างไรก็ดี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลุกขึ้นชี้แจง ว่า ที่ดินดังกล่าวได้แจ้งเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรมในพื้นที่นิคมสร้างตนเองตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่ ‘พื้นที่ต้นน้ำ’ ได้ยกเลิกไปภายหลังมีประกาศคณะปฏิวัติ เมื่อปี 2515 ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 แสนไร่ เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเอง
อย่างไรก็ตามยังมีรายละเอียดของ ‘ช่วงเวลา’ ของการครอบครองที่ดิน-การออกเอกสารสิทธิ์ของนางสาว แพทอง และการใช้ประโยชน์ที่ดินไทม์ไลน์ยังไม่ตรงกัน ดังนั้น จึงต้องติดตามว่า ‘ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว’ จะยืนอยู่ข้างใคร ระหว่างรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
อ่านประกอบ :
- โชว์ภาพอิศรา! ‘วิโรจน์’ เปิดปม ‘แพทองธาร’ รับหุ้น ‘แม่-ญาติ’ 4.4 พันล. ส่อไม่เสียภาษี
- 'ธีรัจชัย' เปิดข้อมูล รร.เทมส์ฯเขาใหญ่ นายกฯ อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ส่อออกโฉนดมิชอบ
ส่วนการถือหุ้น บริษัท อัลไพน์ กอลฟ์ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดิน ‘ธรณีสงฆ์’ แต่การอภิปรายของพรรคประชาชน เป็นเพียงการกล่าวหา ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะบ่งบอกให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี รู้เห็น-เป็นใจกับการครอบครองธรณีสงฆ์ ขณะที่มหากาพย์ ‘ที่ดินเขากระโดง’ ค่อนไปทางผิดหวัง เนื่องจากอยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่การอภิปรายไม่ได้นำ ‘ข้อมูลใหม่’ ทั้งในแง่ของ ‘ข้อเท็จจริง’ และ ‘ข้อกฎหมาย’ ให้เป็น ‘หลักฐานเชิงประจักษ์’ นอกเหนือจากคำพิพากษาศาลฏีกา ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ที่ชี้ว่า เป็นการออกสารครองครองที่ดินเขากระโดงโดยไม่ชอบ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าหากนายกรัฐมนตรีปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่อาจจะสุ่มเสียงที่ผิดกฎหมายเสียเอง การอภิปรายจึงจืดสนิท-ไม่ปัง
@ ทักษิณ ชั้น 14 ‘ดีลปีศาจ’
ไฮไลต์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่สอง คือ การทุบไปที่ ‘กล่องดวงใจ’ ของพรรคเพื่อไทย ‘บุคคลในครอบครัว’ ของนางสาว แพททองธาร กรณีการพักโทษ-พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 โดยใช้ ‘ลูกเล่น’ เปิดชื่อ-เปิดหน้า จนโดน สส.พรรคร่วมรัฐบาลลุกขึ้นประท้วง จนต้องพลิกคำเป็น ‘สองไอ้โม่ง’ ตัวละครหลักของ ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ เป็นที่มาของคำว่า ‘ดีลปีศาจ’ ส่วนหลักฐานสำคัญที่จะ ‘เปิดโปง’ ให้เห็นว่านายทักษิณ ‘ไม่ป่วยจริง’ เช่น แบบประเมินสุขภาพ-ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองเป็น ‘ใบประเมินเท็จ’ แม้กระทั่ง ‘เวชระเบียน’ ที่จะบ่งชี้ว่า ‘ป่วยจริง’ ไม่สามารถนำมาโชว์ให้เห็นสภาได้ กลายเป็นการเน้นวาทะกรรม มากกว่าเนื้อหา จนมี สส.พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นางสาว แพทองธาร ตอบเพียงแต่ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่เคยแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ก่อนจะเล่าย้อนประวัติชีวิต 20 ปีที่ผ่านมา ถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาว-พ่อ ในช่วงหลังจากนายทักษิณโดนยึดอำนาจเมื่อปี 2549
อ่านประกอบ : ‘รังสิมันต์’ ปะทะ ‘ทวี’ ปม ‘ทักษิณ’ ชั้น 14 - พาพ่อกลับบ้าน ไม่เกี่ยวกับ ‘แพทองธาร’
การอภิปรายไม่ไว้วางใจการส่งชาวอุยกูร์ 40 คน กลับจีนของ ‘กัณวีร์ สืบแสง’ สส.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม ที่ไม่ช่วงเวลาอับแสง กลายเป็นประเด็น Hot issue จนทำให้ 3 รัฐมนตรีบิ๊กเนม ‘ภูมิธรรม เวชยชัย-มาริษ เสงี่ยมพงษ์-พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง’ ก้นร้อน ต้องดาหน้าลุกขึ้นมาชี้แจง แก้ 6 คำโกหก-แก้ต่างการทำผิดกฎหมายไทย การทรมาน-อุ้มหายฯ และละเมิดกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ขณะที่การอภิปรายการบริหารราชแผ่นดินล้มเหลวในด้านสังคม ทั้งปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่น PM2.5 และทุนจีนสีเทา อภิปรายยืดยาว-น้ำเยอะกว่าเนื้อ เข้าข่ายเยิ้นเย้อ ทำให้การชมศึกฟอกจากที่กราฟเรตติ้งพุ่งกระฉูดหลังจากการอภิปรายเรื่อง ‘ชั้น14’ ลดฮวบ
อ่านประกอบ : ‘ภูมิธรรม-มาริษ-ทวี’ ดาหน้าโต้ ปม ‘อุยกูร์’ ท้าเปิดหลักฐาน ‘สมัครใจ’ ต่อหน้าสื่อ
@ ‘ศิริกัญญา’ ผิดฟอร์ม ถามมา-ตอบไป
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว-ผิดพลาดของ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ สส.บัญชีรายชื่อ-แม่ทัพเศรษฐกิจพรรประชาชน พยายามฉายภาพให้เห็นความไร้ความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคนามสกุล ‘ชินวัตร’ ที่เป็นหน่อเนื้อของพรรคไทยรักไทย ที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นหัวหน้าพรรค ที่เลื่องชื่อในการบริหารเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ประชาชนคิดถึงการบริหารเศรษฐกิจยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ผิดพลาด-ผิดเป้า-ไม่ตรงปก กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล
ทว่าการอภิปรายของนางสาว ศิริกัญญา ผิดฟอร์ม ไม่ใช่ ‘ศิริกัญญาคนเก่า’ ที่เคยปอกเปลือกสถานะทางการคลังของประเทศและการแฉแทคติก โยกย้ายเงินในงบกลาง-ซุกหนี้ เพื่อผลักดันนโยบาย ‘แจกเงิน’ วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรียังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายไม่เต็มที่ จับภาษากายราวกับ เกรงใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันหรือไม่ กลายเป็นการใช้วาทะกรรม-ติแต่ไม่ก่อ การอภิปรายจึงไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะถึงขั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ต้องงัดหลักฐาน โชว์ ‘ใบเสร็จ-ใบสั่ง’ ให้การกล่าวหา ‘ฟังขึ้น-มีน้ำหนัก’ และเปลี่ยนเป็น ‘สำนวน’ เพื่อใช้เป็น ‘สารตั้งต้น’ ใน ‘ยุทธการโรยเกลือ’ ต่อไป ทำให้ ‘รัฐมนตรีเศรษฐกิจ’ ไม่หนักใจในการชี้แจง แค่ถามมา-ตอบไปก็เพียงพอ
อ่านประกอบ :
- ‘ศิริกัญญา’ อัดรบ.บริหารเศรษฐกิจพัง หมดท่าใช้มุกเดิมจนคนคิดถึง ‘ลุงตู่’
- ‘พิชัย’ รับเศรษฐกิจแย่จริง แจงหลากมาตรการฟื้น - ‘เผ่าภูมิ’ โต้อย่าวาทกรรม
@ งัดข้อมูล โต้ ไฮสปีดสามสนานบิน-ทางด่วนสองชั้น เอื้อเอกชน
ขณะที่การอภิปรายเนื้องานของกระทรวงคมนาคม พรรคประชาชนชู 2 โครงการยักษ์ถล่มรัฐบาล ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน - พระราม 9 โดยโจมตีจุดสำคัญของทั้งสองโครงการไปที่ 'นายทุนใหญ่'
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง มีการแก้ไขสัญญาโดยมีลักษณะเพื่อให้กับเอกชน ขณะที่โครงการทางด่วน 2 ชั้น ก็พุ่งเป้าไปที่เอกชนเจ้าของสัมปทานทางด่วน ที่พึ่งได้ต่อสัญญาสัมปทานจากกรณีข้อพิพาทไปเมื่อเร็วๆนี้
โดยครั้งนี้จะเป็นการต่อสัมปทานโดยแลกกับการที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะให้เอกชนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้นคร่อมทางด่วนศรีรัชเริ่มต้นระยะทางจากงามวงศ์วานไปถึงพระราม 9 โดยมีระยะเวลาสัมปทานใหม่อีก 22 ปี
ขณะที่เจ้ากระทรวงชี้แจงว่า ไฮสปีด 3 สนามบิน เปิดทางให้แก้ไขได้ เพราะสถานการณ์โควิด และรัฐไม่ได้เสียเปรียบเพราะ กำหนดให้เอกชนวางหลักประกันสัญญาต่างๆ 160,000 ล้านบาท ส่วน Double Deck ยังเป็นนโยบายและมีความจำเป็นต้องสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนเส้นเดิม โดยไม่มีการเอื้อให้เอกชนแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
- จี้รัฐอย่ายอมเลื่อนสร้างไฮสปีด 3 สนามบินอีก ชี้ต้องเลิก Double Deck แลกสัมปทานทางด่วน
- ‘สุริยะ’ ชี้แก้สัญญาไฮสปีด ไม่ได้เอื้อใคร ผุดทางด่วน 2 ชั้นแก้จราจร
สรุปการอภิปราย 2 วัน วันแรกไหลลื่น-ติดตามเนื้อหาที่พรรคฝ่ายค้านจะงัดหลักฐานอะไรมาโชว์ในสภาผู้ทรงเกียรติ แต่วันที่สองฝ่ายค้านชกไม่เต็มหมัด-สส.รัฐบาลลุกขึ้นประท้วงพร่ำพรื่อจนอึดอัด-จนน่าเบื่อ