‘พิชัย ชุณหวชิร’ ยอมรับเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ก่อนปูพรมสารพัดมาตรการพลิกฟื้น ด้าน ‘เผ่าภูมิ’ โต้ ‘ศิริกัญญา’ อย่าใช้วาทกรรม ก่อนยกข้อมูลวิทยาศาสตร์แจง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 มีนาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงหลังจากนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ข้อสรุปที่ผู้อภิปรายบอกว่าทุกอย่างมันแย่ ประชาชนไม่ควรคาดหวังอะไร ก็อยากขอให้ประชาชนและประเทศต้องมีความหวังก่อน แม้ว่าจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม แน่นอนเห็นด้วยว่า เศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดี ซึ่งไม่ดีมายาวนาน เพราะผู้อภิปรายเองก็บอกแล้วว่า เราเคยดีเพราะอะไร แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการที่บอกว่าเศรษฐกิจเคยดีขึ้นเพราะจังหวะและความฟลุก ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องของการที่เราได้ทำบางอย่างลงไปในอดีตมากกว่า ที่จะสอดคล้องกับโลกวันนี้
เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ไล่ตั้งแต่ผลผลติทางการเกษตรที่ไม่ดี การลงทุนอุตสาหกรรมไม่ดี การลงทุนใหม่ก็ไม่ดี ไม่ทำอะไรมากไปกว่า Data Center การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายช้า เบิกจ่ายแค่ 60%จะไปหวังเป้าเบิกจ่ายที่ 70-80% คงเป็นไปไม่ได้ การส่งออกก็ขึ้นจริงแต่มีข้องสังเกตว่า เป็นการส่งออกที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี เพราะสินค้าที่ส่งออกมี Value Added (มูลค่าเพิ่ม) น้อย เช่น พืชผลทางการเกษตร สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็น แต่ที่พูดมา จะไม่ดูจีดีพีก็ไม่ได้ เพราะถ้าจีดีพีดีคือพี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี มีกำลังซื้อ เชื่อมไปถึงมีการจ้างงาน มีการลงทุนส่วนตัว มีรายได้ การจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องมีการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งการลงทุนในทุกเชกเตอร์เป็นการลงทุนเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ส่วนที่เหลือค่อยส่งออก ดังนั้น ส่วนหนึ่งก็จะไปสร้างความกินดีอยู่ดี
เมื่อมาดูด้านที่ไม่ดี ก็พบว่าไม่ดีจริงๆ เพราะอัตราเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ 1.8% แต่อยากเรียนให้ทราบว่า ที่มันไม่ดีเกิดจากพื้นฐานโครงสร้างการลงทุนและพื้นฐานความพร้อมสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าดี เหมาะกับการส่งออก เป็นสิ่งที่จะแก้ในปีเดียวหรือครึ่งปีไม่ได้ เรื่องต่างๆเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข
“ถึงเราจะไม่มีความหวัง แต่จีดีพีในปีที่ผ่านมาจากเดิมอยู่ที่ 1.9 วันนี้มาอยู่ที่ 2.5 ก็พบว่ามีการเติบโตขึ้นมาประมาณ 30% แล้ว ถึงแม้มันจะไม่เท่ากับประเทศอื่นที่ได้ 5-6% ก็ตามแต่เราก็ได้ตั้งเป้าว่าในปีนี้เราควรจะได้ไม่ต่ำกว่า 3% ก็คือขึ้นไปอีกประมาณ 20% จาก 2.5% ซึ่งมันเป็นความหวัง เราจะไม่ตั้งก็ไม่ได้ เราจะไม่สู้ก็ไม่ได้” นายพิชัยกล่าว
@เกษตร: ลดพื้นที่ปลูก เพิ่มผลผลิตที่เหมาะส่งออกไปขาย
นายพิชัยกล่าวต่อไปว่า ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น เพราะเมื่อดูแล้วผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างช้าๆและเป็นลำดับ ถ้าแยกเป็นไตรมาส จะพบว่าสองไตรมาสสุดท้ายมีอัตราเติบโตที่ 3% และ 3.2% ตามลำดับ และถ้ามอง 6 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.1% โดยประมาณ ถึงแม้ว่ามันจะยากลำบากแต่ก็ต้องอาศัยโมเมนตัมในการผลักดันให้มันไปถึง 3% ให้ได้ แต่เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่ 3% ก็ต้องพิจารณาว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น
อย่างการส่งออก ยกตัวอย่าง ข้าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากกว่าบริโภคในประเทศ แล้วราคาที่ส่งออกไปก็เท่ากับต้นทุนที่มีในข้าวบางพันธุ์ แปลว่า การส่งออกไปไม่มีอะไรอะไรกลับมา ถ้าราคาส่งออกสูงกว่าต้นทุน ก็ทำงานฟรี จากเหตุการณ์นี้ ปัจจุบันปริมาณการผลิตอยู่ที่ 17 ล้านตัน การบริโภคอยู่ที่ 11 ล้านตัน เหลืออีก 6 ล้านตัน แสดงว่าเราส่งออกไป 6 ล้านตันโดยที่ไม่มีอะไรกลับมา ทางแก้ปัญหาคือการลดพื้นที่ปลูกน้อยลง และนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่น ก็กำลังดูอยู่ว่าจะเอาไปทำอะไร กำลังดูอยู่ว่าอะไรที่เรานำเข้ามามาก ก็อาจจะพิจารณาปลูกเอง โดยดูว่าเมื่อทำเองแล้วต้นทุนต่างๆ สู้กับต่างประเทศได้ไหม ต้นทุนบวกค่าขนส่งแล้วสู้ได้ไหม ถ้าได้ก็ทำ อย่างตอนนี้ข้าวโพดราคา 8-8.5 บาท/กก. ถ้าปลูกสัก 1 ไร่ก้ได้ประมาณ 15,000-16,000 บาท ก็คิดดูว่าดีกว่าปลูกข้าวไหม จะทำยังไงให้คนเข้าใจ รัฐก็ต้องดูแลอย่างน้อย 3-5 ปี ดูแลให้เกษตรกรหยุดปลูก เป็นต้น ที่พูดมา สรุปก็คือ ต้องมีการจัดระบบเพาะปลูกใหม่ เราต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออก แต่ก็ต้องเลือกด้วยว่า จะส่งออกเฉพาะสิ่งที่ดีกว่าต้นทุนในประเทศ ต้นทุนไหนสู้ไม่ได้ก็ปรับปรุง ถ้าปรับปรุงไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นแทน
@อุตสาหกรรม ไม่ทิ้งสิ่งเก่า เริ่มสิ่งใหม่
ต่อมา รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ด้านอุตสาหกรรม การเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่เคยมีการลงทุนในบ้านเราถึง 10 ล้านล้านบาททีเดียวไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำมา 40-50 ปีแล้ว ดังนั้นก็จะมานั่งดูว่าอุตสาหกรรมเก่าจะยังคงอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เพราะ 2 อุตสาหกรรมนี้อย่างไรก็อัพเกรดขึ้นมาได้ ปัจจุบันเครื่องยนต์ไฮบริดถูกพัฒนาขึ้นมามากแล้ว มีการกำหนดมาตรฐานและขั้นต่ำว่าถ้าวิ่งเฉยๆต้องวิ่งให้ได้ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วจึงจะชาร์จหรือเติมน้ำมัน ถ้าสามารถพัฒนาจนวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็อาจจะไม่ต้องใช้น้ำมันเลย แปลว่า เทคโนโลยีนี้จะวิ่งคู่กับอีวี เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็ต้องมาพิจารณากันว่าจะใช้เทคโนโลยีใด เพราะฉะนั้นนโยบายในวันนี้คือการรักษาแพลตฟอร์มเก่าไปพร้อมกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ส่วนการทำ Data Center วันนี้ยังไม่มีประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่จะมีประโยชน์เมื่อสามารถใช้ในเทคโนโลยี AI
ขณะที่การให้บัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นายพิชัยกล่าวว่า การลงทุนใน BOI มาเยอะกว่า 1.1 ล้านล้านบาท แต่คัดพวกสมัครเฉยๆกับมาดูเพื่อให้ได้บัตรออก วันนี้เหตุการณ์ตรงข้ามกับสมัยก่อน ในอดีตการลงทุนอุตสาหกรรมจะมาพร้อมกับเครื่องจักร กว่าจะใช้เม็ดเงินจะอยู่ที่ 3 ถึง 5 ปี แต่ตอนนี้ตรงกันข้าม นักลงทุนต้องการเร็วเพราะต้องการต่อสู้ว่าใครเร็วกว่าชนะ ดังนั้นไม่เกิน 2 ปีเม็ดเงินการลงทุนน่าจะกลับเข้ามา อาจจะมีอุตสาหกรรมบางชนิดที่เริ่มเข้ามาแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นสีเขียวจริงๆและตลาดเฉพาะจริงๆซึ่งไม่ได้แย่งตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ด้วย eec ก็ต้องเตรียมตัว ตัวเรื่องพลังงานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะในวันนี้ราคาพลังงานในประเทศสูงไปนิดนึง 4.10-4.20 บาท ดังนั้นราคาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3.50 บาท
ส่วนการท่องเที่ยว การให้คนเข้ามาเยอะเหมือนเดิมมันลำบาก การให้คนมาเที่ยวไม่ง่ายแล้ว สิ่งที่จะทำคือ เมื่อมีคนมาเที่ยวแล้วอยู่นานขึ้นได้ไหม ใช้จ่ายมากขึ้นได้ไหม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวปีที่แล้ว 35 ล้านคนมีถึง 3 ล้านคนที่เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขภายในประเทศ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้น่าจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเพราะประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ให้การบริการดีหลายแห่ง สรุปก็คือถ้าอยากให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้นมันก็ต้องมีอะไรที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากอยู่นานขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งใน 3-10 ปีนี้ จะเกิดผลนั่นคือ การลงทุนของภาครัฐ นายพิชัยชี้แจงว่า รัฐบาลเพิ่มการลงทุนในโครงการรถไฟรางคู่อีก 1,000 กิโลเมตร ทำให้การขนส่งมีมากขึ้น มีการเชื่อมต่อไปยังภาคอีสานลงมากรุงเทพฯ และยังมีเส้นทางที่เชื่อมตะวันตกกับตะวันออกด้วยกัน แปลว่าการขนส่งประเทศไทยได้เตรียมตัวมาแล้วหลายปี ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เมื่อดูแนวเส้นทางแล้วในที่สุดแล้วจากประเทศที่ส่งออกเยอะที่สุดในโลก ต่อไปเมื่อมีการขนส่งสินค้าก็จะเข้ามาทางลาวผ่านมาทางภาคอีสานลงสู่กรุงเทพฯได้เลย และอาจจะต่อลงสู่ภาคใต้ที่ในอนาคตจะเป็นแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญที่ จ.ระนอง ต่อไป
“แลนด์บริดจ์โครงการเดียวมันไม่คุ้มทุนหรอกครับ ถ้าท่านมีเส้นทางจากเหนือมาใต้มันจะเป็นเส้นทางส่งออกของสินค้าสำเร็จรูปทั้งจากไทยและจากข้างบน ขณะเดียวกันเมื่อเป็นเส้นทางส่งออกสินค้าสำเร็จรูปก็จะเป็นเส้นทางนำเข้าวัตถุดิบ เมื่อมีวัตถุดิบเข้ามาก็กระจายสู่ประเทศเพื่อนบ้านใหญ่เวียดนามและอินโดนีเซียได้ ซึ่งมีการวางแผนแล้ว” นายพิชัยกล่าวอีกตอน
@หวังทำเหรียญดิจิทัล
ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ นายพิชัยกล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่เราต้องเติมเงินเข้าไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง วันนี้หนี้ถึงระดับที่ทุกคนรับไม่ไหว ส่วนการทำสเตเบิลคอยน์ต้องใช้ระวัง ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังไม่สามารถพิมพ์เงินใหม่เพื่อแข่งกับ ธปท.ได้ แต่ที่ต้องทำเพื่อให้มีสภาพคล่อง และเข้าถึงรายย่อยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นจีโทเคน ไม่ใช่เงินใหม่ ซึ่งใครมีสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนได้ หากเป็นแบบนี้ใครที่เงินฝาก 20,000 บาทสามารถซื้อธนบัตรรัฐบาลได้ ทั้งนี้ ธปท.ยังไม่เห็นด้วย
นายพิชัยกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของตลาดหุ้นในประเทศไทย ได้แก้ในเรื่องของความได้เปรียบของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อนักลงทุนในประเทศไปแล้วเหลืออีกเรื่องเดียวคือ ต้องทำให้เห็นว่าคนที่ไม่ทำไม่ถูก ต้องถูกลงโทษ วันนี้เตรียมออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ใน 6 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มอำนาจสอบสวนให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการทบทวนโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นๆ โดยการให้อำนาจจะเลือกกรณีที่สำคัญจริงๆเท่านั้นมาพิจารณา แต่จะทำงานควบคู่กับหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนด้วย
@ซื้อหนี้ โฟกัสเฉพาะหนี้ไม่เสีย 6 ล้านล้านบาท
สำหรับเรื่องการแก้หนี้ปกติขั้นตอนทั่วไปต้องขอยืดหนี้ให้น้อยลง ยาวขึ้น ซึ่งทำได้เฉพาะคนที่มีกำลัง ทั้งนี้เป็นข้อเท็จจริงของการแก้หนี้ให้คนที่มีหนี้ไม่เยอะ เงินที่ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ใช้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สำหรับหนี้ที่มี 13.6 ล้านล้านบาท ไม่คิดว่าซื้อหนี้ทั้งระบบ เพราะไม่มีปัญญา ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าวมีหนี้ที่ไม่เสียปนอยู่ จำนวน 6 ล้านล้านบาท แต่จะเลือกซื้อหนี้เสียแล้ว แต่จะไม่เลือกกลุ่มที่ลูกหนี้กับเจ้าหนี้เจรจากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ขนาดใหญ่มีหลักทรัยพ์ค้ำประกัน เราจะเลือกลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีหลักทรัพย์ กู้มากินและตามตัวไม่ได้
“หนี้ที่มีปัญหา คือ 3 ล้านคน มีหนี้ติดอยู่ 1.2 แสนล้านบาท ด้วยเงินนิดเดียวทำให้คนมีความทุกข์ ซึ่งจะทำให้หาทางละเว้นเอ็นซีบี เฉพาะกลุ่มมีรหัสพิเศษ หากหลุดพ้นต้องหาทางกู้ใหม่ คือการให้โอกาส ส่วนจะได้กู้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ วันนี้ให้ธนาคารออมสินนำร่องโดยใช้เงิน 4,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยน้อยพบว่า เปิดได้ 3 วัน มีเข้ามา 4.5 แสนบัญชี หากควบคุมได้กำกับดีจะช่วยแก้ปัญหาตัวเล็กๆ ได้” นายพิชัย ชี้แจง
ด้านนายเผ่าภูมิ โรตนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเสริมว่า วาทกรรมที่ผู้อภิปรายบอกว่า ตัวเลขจีดีพีที่คาดการณ์ลดต่ำลงเรื่อยๆนั้น การดูเศรษฐกิจแบบวิทยาศาสตร์ต้องดูรายไตรมาสว่า มีแนวโน้มอย่างไร เมื่อดูแต่ละไตรมาสของปี 2567 พบว่า เป็นการเติบโตเชิงบวก ส่วนการกล่าวหาว่า ดิจิทัลวอลเลตไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นกระสุนด้าน ก็พบว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในปีงบประมาณ 2568 ในแต่ละด้านมีอัตราเติบโตขึ้น
ส่วนการกล่าวหาว่ารายได้ของคนไม่เพิ่มนายเผ่าภูมิกล่าวว่า 5 เดือนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90) มีอัตราเติบโต28.1% การหักภาษีณที่จ่ายตามแบบภ.ง.ด. 1 เติบโต 5.9% เป็นการบ่งบอกว่ารายได้ของประชาชนโตขึ้นทั้งในและนอกระบบ ขณะที่วาทกรรมธนาคารรัฐไม่ปล่อยกู้ นายเผ่าภูมิชี้แจงว่า ในปี 2567 ไตรมาส 1-4 การปล่อยสินเชื่อมีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะที่การกล่าวหาว่ามีการปิดตัวของบริษัทห้างร้านและโรงงานต่างๆ ก็มีข้อมูลว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมกราคม 2568 เติบโต 102% จากเดือนที่ผ่านมาทุนจดทะเบียนโต 8.98% จากเดือนที่ผ่านมา
“ข้อมูลเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ที่อยู่ตรงข้ามกับวาทกรรม เพราะฉะนั้นอยากให้สภาแห่งนี้และประชาชนดูที่ตัวเลขที่เป็นวิทยาศาสตร์ ท่านไม่สามารถใช้น้ำเสียงที่เศร้ามาลบข้อเท็จจริงทางสถิติและตัวเลขได้” นายเผ่าภูมิปิดท้าย