สภาฯถกงบเพิ่มปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน ใช้กับดิจิทัลวอลเลตวาระ 2-3 ‘วีระ ธีรภัทร’ ร่ายยาวอัดนโยบาย ชี้สุ่มเสี่ยงเกิดเป็นวิกฤติการเงินการคลังในอนาคต เปิด 3 ระเบิดเวลาเศรษฐกิจถ้าแจกเงินหมื่น ‘วิกฤติใหม่ประเทศ - จ่ายดอกเพิ่มทุกปี - งบขาดดุลพุ่ง’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระ 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ
นายพิชัยกล่าวต่อที่ประชุมว่า กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว เริ่มพิจารณาวันที่ 19 ก.ค.2567 เสร็จวันที่ 25 ก.ค. 2567 เป็นการพิจารณางบกลาง ในส่วนรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆและช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการบริโภคและลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต
โดยได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560, พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ 2561, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561, ยุทธศาสตร์ชาติ, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็นต้น
@’วีระ’ ปูด ‘คลัง’ ไม่ส่งรายละเอียดเงินหมื่นปี 68 ใช้จากไหน
ต่อมา นายวีระ ธีรภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการแสดงความเห็นว่า ได้สงวนความเห็นไว้ โดยให้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ให้เหลือ 50,000 ล้านบาทจาก 122,000 ล้านบาท เพราะงบประมาณที่รัฐบาลจัดทำในครั้งนี้ขอเรียกว่า เป็นการจัดทำงบประมาณแบบรวมห่อหรือเป็นแบบแพ๊คเกจ ที่เป็นการใช้เทคนิคในการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงไปตรงมา
สำหรับที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลตมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน ประกอบด้วย
1.เป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เป็นงบปกติและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ซึ่งกำลังพิจารณากันในครั้งนี้ ทั้ง 2 แหล่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมกัน 165,000 ล้านบาท
2. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 งบปกติ วงเงิน 2,700 ล้านบาท
และ 3. งบประมาณปกติปี 2568 โดยไม่บอกที่มาอย่างชัดเจน ก้อนนี้มีวงเงิน 132,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจใช้วิธีให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายไปก่อนตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรืออาจจะออกเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 หรืออาจจะจัดสรรวงเงินงบประมาณปกติในปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ก็ไม่ทราบได้
แต่ประเด็นสำคัญก็คือในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่ต้องใช้เงินรวม 152,700 ล้านบาท จนถึงตอนนี้ทางกระทรวงการคลังไม่ส่งรายละเอียดเข้ามาชี้แจงในคณะกรรมาธิการของงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ทั้งๆที่รับปากว่า จะจัดส่งมาให้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์แต่ตอนนี้ล่วงมา 5 สัปดาห์แล้วก็ยังไม่ได้ส่งมา
“ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า ทำกันอย่างค่อนข้างฉุกละหุก ชุลมุนชุลเก สมกับที่รัฐบาลบอกว่ามีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน เงินที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งหมดมียอดรวม 450,000 ล้านบาท เทียบแล้วเท่ากับร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ตกประมาณ 18 ล้านล้านบาท ในแง่จำนวนต้องถือว่าไม่มาก เพียงแต่ว่ามาทำในช่วงที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ใช้เงินในการประคับประคองเศรษฐกิจไปถึงร้อยละ 10 ของ GDP ในการต่อสู้ในช่วงวิกฤตโควิด ด้วยการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินรวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งช่วงเวลานี้ ควรเป็นช่วงของการถอนคันเร่งในส่วนที่รัฐบาลจะอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องปรับลด ไม่ใช่กู้เงินเพิ่มผ่านการขาดดุลอย่างต่อเนื่องจากเดิมจากที่มีอยู่ จนทำให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ที่น่าเป็นห่วงและกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้” นายวีระกล่าวตอนหนึ่ง
@ห่วงสร้างภาระทางการคลัง
นายวีระ กล่าวต่อว่า หากได้ดูแผนประมาณการทางด้านการคลัง 3 ปีข้างหน้าจะเห็นว่าตัวเลขอัตราส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDP ไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามพุ่งไปสู๔งถึงประมาณร้อยละ 68 ถึง 69 เมื่อเทียบกับ GDP แม้ว่าจะไม่เกินเพดานที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังกำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 แต่ก็ต้องบอกว่าไม่มีแนวโน้มที่ตัวเลขนี้จะลดลงในอนาคตอันใกล้ การดำเนินงานนโยบายการคลังโดยทำงบประมาณขาดดุลเรื้อรัง และข้อมูลหนี้สาธารณะเรื่อยๆต่อไปแบบนี้ จะอันตรายมากในอนาคต
ส่วนการใช้เงินดังกล่าว ก็เป็นการกระตุ้นผ่านการจับจ่ายใช้สอยการอุปโภคบริโภคซึ่งมีลักษณะเฉพาะกิจและดำเนินการด้านฝั่งของอุปสงค์ (Demand. Side) แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการผลิตซึ่งเป็นการดำเนินการด้านฝั่งของอุปทาน (Supply Side) ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากกว่า จึงอยากตั้งข้อสังเกตไว้
นายวีระอภิปรายต่อว่า แม้จะมีจุดบกพร่องตามที่กล่าว แต่อยากขอชมรัฐบาลว่า อย่างน้อยโครงการนี้ก็ดำเนินในกรอบระบบงบประมาณปกติ โดยไม่ใช้ระบบการเงินกึ่งการคลัง ที่ให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการจ่ายเงินไปแทนก่อน และไม่ใช่การออก พ.ร.ก.กู้ยืมเงินมาใช้ ยอมใช้เงินในระบบงบประมาณปกติ เปิดให้มีการตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การให้ความเห็นชอบงบประมาณที่กำลังดำเนินการตอนนี้จะไม่มีความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังในอนาคต
สิ่งที่อยากจะเรียนต่อไปก็คือ ประเด็นด้านข้อกฎหมายยังพบปัญหา อาจจะต้องส่งให้มีการตีความโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในอนาคต แถมยังมีประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ควรให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
@เปิด 3 ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ ถ้างบดิจิทัลวอลเลตผ่าน
ประเด็นด้านเศรษฐกิจ 1.ถ้าย้อนกลับไปมองวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 2527-2529 ที่มีการลดค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540-2542 สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ วิกฤตที่เกิดก่อนหน้านี้มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้ ที่อาจจะพัฒนาไปเป็นวิกฤติในอนาคต เพราะรากเหง้าของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญก่อนหน้านั้น เป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศภาครัฐและหนี้ต่างประเทศภาคเอกชนจนทำให้ต้องมีการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการลดค่าเงินบาท และการลอยตัวค่าเงินบาทในปีดังกล่าว
แต่คราวนี้รากเหง้าของปัญหาเป็นเรื่องของหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นเรื่องของเงินบาทไม่ได้เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ที่สำคัญเชื่อมโยงกับการบริหารด้านการเงินการคลังของรัฐโดยตรง ซึ่งต้องบอกว่า ประเทศเราไม่มีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาแบบนี้มาก่อน มาถึงตรงนี้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลศึกษาบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศกรีซที่ลามไปสู่วิกฤตค่าเงินยูโรในเวลาต่อมา
2.ถ้ามองลึกลงไปในงบประมาณที่จัดทำในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ขณะนี้จะเห็นตัวชี้วัดที่อันตรายคือ อัตราส่วนระหว่างรายจ่ายดอกเบี้ยเทียบกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในแต่ละปี ถ้าดูคร่าวๆจะเห็นว่างบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 346,000 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 180,000 ล้านบาท และเป็นการชำระดอกเบี้ย 222,000 ล้านบาท ขณะนี้งบประมาณที่กำลังจัดทำเป็นการจ่ายดอกเบี้ยถึงร้อยละ 8 ของประมาณการรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในแต่ละปี
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 410,000 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 150,000 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว 260,000 ล้านบาทหรือเท่ากับร้อยละ 9 สรุปก็คือ ประเทศไทยจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเกือบเท่าร้อยละ 10 ของรายได้ที่หามาได้ จุดนี้เป็นจุดที่อันตรายมาก
3. ถ้ามองตัวชี้วัดที่สำคัญคืออัตราส่วนระหว่างงบจ่ายลงทุนกับยอดขาดดุลงบประมาณในขณะนี้และอนาคตอันใกล้ ถ้าดูคร่าวๆจะเห็นว่างบจ่ายลงทุนในงบประมาณปี 2567 จำนวน 710,000 ล้านบาทในขณะที่การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 693,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายจ่ายของประมาณปี 2568 ที่มีงบจ่ายลงทุน 908,000 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบจ่ายลงทุนจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และยังมียอดสูงกว่างบขาดทุนในแต่ละปีก็ตามที
แต่สิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะแม้จะยังไม่พูดถึงนิยามงบจ่ายลงทุนของสำนักงบประมาณที่ยังมีข้อถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นการบิดเบือนเพื่อให้งบจ่ายลงทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น และคำนวณงบจ่ายลงทุนที่เอาโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (โครงการ PPP) บางรายการมารวมไว้ในงบจ่ายลงทุน
@งบปี 67 ขาดดุลอื้อ เกือบแตะเพดาน
นายวีระกล่าวต่อว่า ความผิดปกติที่ชัดเจนมากคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ที่กำลังพิจารณาอยู่ตอนนี้ เป็นการทำงบประมาณขาดดุลสูงที่สุดจนติดเพดานการทำงบประมาณขาดดุลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีปกติและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ทำให้มียอดขาดดุลรวมกัน 805,000 ล้านบาท ในขณะที่เพดานที่จะขาดดุลได้โดยไม่ผิดกฎหมายนั้นอยู่ที่ 815,000 ล้านบาท จะเห็นว่าเหลือยอดที่จะสามารถทำงบประมาณขาดดุลได้เพียง 10,000 ล้านบาท เท่ากับว่าการใช้จ่ายงบประมาณแทบไม่เหลือช่องว่างให้ทำอะไรได้อีกต่อไป
นายวีระกล่าวอีกว่า 3 ประเด็นที่ได้กล่าวไปยังไม่รวมภาระทางการคลังในงบประมาณที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม (ปกส.) ที่ยังไม่ครบถ้วน และยังไม่รวมภาระทางการคลังนอกงบประมาณตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง 2561 ที่มียอดคงค้าง 1 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกันมีภาระนอกงบประมาณที่ยังไม่มีการบริหารจัดการในขณะนี้อีก 3 ก้อนใหญ่คือ ภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 110,000 ล้านบาท, ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 98,000 ล้านบาท และภาระหนี้สินของกองทุนประกันวินาศภัยที่มีภาระต้องจ่ายสินไหมทดแทนให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ล้มละลายแล้วอีกไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท
“สิ่งที่พูดมาทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของระเบิดเวลาที่จะทำให้ภาคการเงินการคลังของรัฐมีความอ่อนไหว จนสามารถพัฒนาเป็นวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต ถ้าบริหารจัดการกันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดวิกฤตการคลังแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมจะซบเซาซึมนาน อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจต่ำต่อเนื่อง และถึงขั้นติดลบ ราคาทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้น พันธบัตรและอื่นๆ จะไม่ขยับปรับตัวขึ้น เพราะขาดแรงซื้อการลงทุนใหม่จะไม่เกิด และเมื่อต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างหนัก โดยจากประสบการณ์ของประเทศที่เคยเผชิญวิกฤตดังกล่าว งบที่จะถูกตัดอย่างแรกคือ เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินอุดหนุนชดเชยสินค้าอุปโภคบริโภค เงินสมทบกองทุนต่างๆจะถูกตัดยอดลงมาอย่างรุนแรง ในอีกด้านหนึ่ง จะต้องมีการเพิ่มภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐและอุดช่องว่างการขาดดุลงบประมาณด้วยการตัดลดงบประมาณรายจ่าย การจ้างงานและการผลิตรวมถึงการออมจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งหมดนี้เป็นการวาดภาพคร่าวๆและหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต” นายวีระกล่าว
นายวีระทิ้งท้ายว่า ขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นการเมืองว่า นโยบายแจกเงินหมื่นนี้เป็นนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้นำเป้าหมายมาสร้างความชอบธรรมในวิธีการดังกล่าวที่อันตราย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่เป็นภาระต่องบประมาณและอาจเป็นตัวอย่างของการทำนโยบายที่เสี่ยงต่อการทำงบประมาณในอนาคต ดังนั้นขอให้สส.พิจารณาก่อนลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
อ่านประกอบ
- สภาฯผ่านร่างพ.ร.บ.งบปี 67 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน ลุ้น 31 ก.ค.ถกวาระ 2-3
- ‘ศิริกัญญา’ อภิปรายอัด พ.ร.บ.กู้เงินแจกดิจิทัลวอลเลต เสี่ยงผิดกฎหมายการเงิน 2 ฉบับ
- นายกฯแจงงบเพิ่มปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน จำเป็นต้องใช้กระตุ้นศก.แจกเงินหมื่น
- เปิดหนังสือ‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้‘จุดเสี่ยง’เชื่อมระบบ‘ดิจิทัลวอลเลต’-เตือนป้องกัน‘ขายลดสิทธิ์’
- รบ. รับล้วงเงิน ‘ธ.ก.ส.’ แจกเงินหมื่น ยังไม่ถาม ‘กฤษฎีกา’ จับตา 24 ก.ค.แถลงใหญ่อีกรอบ
- เปิดหนังสือ 4 ฉบับ‘ธปท.-สศช.’เตือน‘งบเพิ่มเติม’ปี 67 ทำขาดดุลฯพุ่ง-ห่วงรัฐ‘กระสุน’จำกัด
- ครม.ไฟเขียว'ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม'ปีงบ 67 วงเงิน 1.22 แสนล.
- 'เศรษฐพุฒิ'เผย'สื่อนอก' ย้ำจุดยืนแจกเงิน'ดิจิทัล'เฉพาะ'ผู้ยากไร้-ถือบัตรสวัสดิการฯ'