'เศรษฐพุฒิ' ให้สัมภาษณ์ 'บลูมเบิร์กตี' ย้ำจุดยืนแจกเงิน 'โครงการดิจิทัลวอลเลต' 5 แสนล้านบาท ต้องลดเพดานแจกเงินเฉพาะ 'ผู้ยากไร้-ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ด้าน 'นักวิเคราะห์' คาดโครงการฯส่อได้รับผลกระทบ หาก 'ศาล รธน.' วินิจฉัยว่า 'นายกฯ' มีความผิด ต้องหลุดจากตำแหน่ง เหตุละเมิดจริยธรรม
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานข่าว โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิมในการคัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะแจกเงินเกือบ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (5 แสนล้านบาท) ให้กับประชากรในวัยผู้ใหญ่เกือบทั้งหมด (โครงการดิจิทัลวอลเลต) เพื่อต้องการฟื้นฟูกิจกรรมการบริโภค โดย ธปท.เน้นย้ำว่า สิ่งที่ควรคิดอย่างรอบคอบ คือ การมุ่งเน้นไปที่ผู้ยากไร้เป็นหลัก
โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันอังคารที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ด้วยการคาดการณ์ที่ว่า การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวประมาณ 4% ในปีนี้ หลังจากขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7% ในปีที่แล้ว จึงไม่จําเป็นต้องกระตุ้นอุปสงค์โดยรวม
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลสัญญาว่า จะมอบเงินสดจำนวน 10,000 บาท แก่พลเมืองไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านคน นั้น ควรจะครอบคลุมเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15 ล้านคน เท่านั้น
แม้ความเห็นนายเศรษฐพุฒิจะสอดคล้องกับการแถลงของ ธปท. ก่อนหน้านี้ แต่ว่าทั้งคำพูดและจังหวะเวลา ก็ทำให้เกิดความสั่นคลอนและตอกย้ำความบาดหมางที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างรัฐบาลและ ธปท. ในประเด็นเรื่องการจัดการกับเศรษฐกิจ เพราะการผลักดันโครงการแจกเงินสด 5 แสนล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกทั้งการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เอง ก็กำลังเผชิญกับการตั้งคำถามมากมาย ทั้งในเรื่องของการระดมทุน เพื่อหาเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต และความล่าช้าของโครงการฯ เนื่องจากโครงการนี้มีการเลื่อนการเปิดตัวมาหลายครั้งแล้ว
ทั้งนี้ นายเศรษฐา พยายามจะหลีกเลี่ยงจากการคัดค้านโครงการดิจิทัลวอลเลตมาโดยตลอด และขนานนามว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามานานหลายปี
“ดิจิทัลวอลเลตเป็นเหมือนกับ 'พายุหมุน' ที่จะส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายกฯเศรษฐา กล่าวกับรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. พร้อมทั้งระบุว่า รายได้ภาษีที่เกิดจากโครงการนี้ จะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ดี นายเศรษฐพุฒิ ยังคงย้ำว่า "ถ้าคุณ (รัฐบาล) ต้องการทำโครงการนี้ (ดิจิทัลวอลเลต) ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงและทำในขนาดที่เล็กกว่าด้วย" และเห็นว่า "ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคทั่วทั้งกระดาน"
แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเฟื่องฟูขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่ครัวเรือนที่เปราะบางและมีรายได้น้อยยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและต้องการความช่วยเหลือ ตามข้อมูลที่ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ แต่นายเศรษฐพุฒิ ยังคงมองว่า การจำกัดผู้ที่จะเข้าข่ายในโครงการดิจิทัลวอลเลตให้เหลือเฉพาะผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ และมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนและเบี้ยเลี้ยงต่างๆของรัฐ 'น่าจะมีผลดีกว่า' จากมุมมองในทางการคลัง
ทั้งนี้ แม้จะมีคำมั่นสัญญาของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเลตในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่รัฐบาลได้มีการเปลี่ยนจุดยืนไปมาเกี่ยวกับวิธีการว่าจะจัดหาเงินทุนอย่างไร โดยตอนแรกมีการเสนอว่า โครงการนี้จะครอบคลุมคนไทย 55 ล้านคน และจะหาเงินมาจากงบประมาณของรัฐ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายเศรษฐา ก็ตัดสินใจตัดคนไทยที่ร่ำรวยออกจากโครงการ และหาเงินทุนผ่านการกู้ยืมเพียงครั้งเดียว
แต่จากความท้าทายทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น และมีคำเตือนที่ตามมาจากหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนทางเลือกในการระดมเงิน ขณะที่นายเศรษฐาให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะแจกเงินสดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการจัดหาเงินทุนก็ตาม
"ในฐานะหน่วยงานกำกับด้านธนาคาร ธปท.ได้ให้แนะนำแก่รัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าการกู้เงิน 1.72 แสนล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำเงินเข้าไปในโครงการดิจิทัลวอลเลต จะไม่กระทบต่อความปลอดภัยและสภาพคล่องของผู้ให้กู้" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตยังมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะอยู่ที่ 2.6% และ 3% ตามลำดับ โดยยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่มาจากโครงการดิจิทัลวอลเลต
"การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสู่ระดับศักยภาพที่ 3% แม้ว่าจะไม่มีการแจกเงินสดก็ตาม" นายเศรษฐพุฒิกล่าว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะไม่ได้รับผลกระทบ หากการแจกเงินสดไม่เกิดขึ้นจริง
จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหม่ของนายเศรษฐา และนายทักษิณ ชินวัตร ผู้นำโดยพฤตินัยของพรรคเพื่อไทย ที่เผชิญกับคดีทางกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญต่อโครงการดิจิทัลวอลเลต นั้น นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Citigroup และบริษัท Nomura Holdings ให้ความเห็นว่า นายเศรษฐามีความเสี่ยงว่าจะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า นายเศรษฐามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาว่าได้ละเมิดจริยธรรม
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-06-19/thai-central-bank-renews-case-to-limit-14-billion-cash-stimulus