“…ถ้าถามผม ถ้าจะให้ priority (จัดลำดับความสำคัญ) กับอะไร ผมจะให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิต่างๆ ในเรื่องของโครงสร้างมากกว่าการกระตุ้น เพราะถ้าดู จะเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังดูโอเคอยู่ และด้วยความที่ลูกกระสุนเราเริ่มมีจำกัด จึงต้องใช้ให้มันตรงจุด…”
.......................................
การจัดหาแหล่งเงิน ‘ก้อนที่สอง’ สำหรับใช้ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว
เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 เห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567’ วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยจัดสรร ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ’ เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต 122,000 ล้านบาท
โดยหลังจากนี้ สำนักงบประมาณจะทำการจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และเอกสารประกอบ เพื่อนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค.2567 ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ‘วาระแรก’ ในวันที่ 17-18 ก.ค.2567 และวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.2567
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ใน ‘วาระแรก’ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้จัดสรรงบ ‘ก้อนแรก’ 152,700 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจัดสรรไว้ใน ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ’
ส่วนการจัดหาแหล่งเงิน ‘ก้อนที่สาม’ เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตอีก 172,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
@ทำ'งบเพิ่มเติม’ปี 67 ดันขาดดุลฯเป็น 4.3% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ ในการจัดทำ ‘งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม’ ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ดังกล่าว ส่งผลให้วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.1% ประกอบด้วย
1.โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ 24,400 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายประจำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 2,540,468.6 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายประจำ จำนวน 2,564,868.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 162,328.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.8% และคิดเป็นสัดส่วน 71.2% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วน 75.4%
(2) รายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่กำหนดไว้ 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีร่ายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 118,200.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.1% และคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วน 21.7%
2.รายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 2,287,000 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,797,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566จำนวน 307,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
3.งบประมาณขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับประมาณการขาดดุลปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่กำหนดไว้ จำนวน 693,000 ล้านบาท จะมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.8% และคิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
@เตือนกระทบเสถียรภาพการคลัง-ย้ำแจกเฉพาะกลุ่ม
อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความกังวลว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว จะส่งให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังได้
โดยหนังสือของ ธปท. ที่ ธปท.ฝนง. (02) ล.100/2567 เรื่อง ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ.... เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง ข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 ระบุว่า
“ธปท. พิจารณาแล้วมีข้อสังเกตว่า การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย อาทิ ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้ เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้
จึงควรใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ให้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 และอาจพิจารณาจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ (targeted) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิผลและเป็นไปอย่างคุ้มค่า”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 ตามหนังสือของ ธปท. ที่ ธปท./ฝนง. (02) เรื่อง ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีเนื้อหาว่า
“ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะต้องเป็นไปตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ รวมถึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
อนึ่ง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน
อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงดำเนินนโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้รัฐบาลเท่าที่จำเป็น”
@ชี้'ดิจิทัลวอลเลต'ทำหนี้สาธารณะเพิ่ม-แนะลดขนาดขาดดุล
เช่นเดียวกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีหนังสืออย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. เกี่ยวกับการจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้แก่
ฉบับแรก สศช. ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/3232 เรื่อง วงเงินวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 โดยมีเนื้อหาว่า
“สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีข้อสังเกตว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและพื้นที่ทางการคลังลดลงในช่วงปีงบประมาณ 2567 และ 2567 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรเร่งเบิกจ่ายให้เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และ ปีงบประมาณ 2568 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังในช่วงถัดไป โดยการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
และจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และลดความเสี่ยงต่อความยังยืนทางการคลัง”
ฉบับที่สอง สศช. ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ 1113/3592 เรื่อง รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567 โดยมีเนื้อหาว่า
“สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1.เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้น ภายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรความสำคัญกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ปี 2567) ให้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567
และควรเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนโครงสร้างงบประมาณตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เพื่อให้เม็ดเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภาครัฐสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง รวมทั้งควรเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น เมื่อรวมกับระดับหนี้สาธารณะจากผลการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่การคลังลดลง ในขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านการคลังในระยะถัดไป ควรให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลังเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังให้สามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศในช่วงถัดไป
2.เห็นควรให้ความเห็นชอบให้สำนักงบประมาณไปรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง และยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ”
@‘พิชัย’ชี้รบ.เติมเงินสร้างรายได้-‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงกระสุนจำกัด
ท่ามกลางข้อห่วงใยจากหน่วยงานของรัฐ และหลายฝ่าย เกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังนั้น พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความมุมมองเกี่ยวกับเรื่อง ‘หนี้’ ว่า การเติมเงินของรัฐบาล แม้ว่าจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าทำถูกวิธี จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้
“ในการที่เราจะทำอะไร รัฐบาลต้องเติมเม็ดเงินเข้าไป ก็อยากจะเรียนผ่านทางนี้ว่า การเติมเม็ดเงินทุกครั้งที่ organization (องค์กร) ไหนเริ่มแผ่ว หรือมีปัญหา ท่านมี 2 ทางคิด คือ ไม่ทำอะไร แล้วท่านจะแผ่วไปเรื่อยๆ หนี้ไม่เพิ่มขึ้นหรอก แต่ท่านจะแผ่ว แต่ถ้าท่านคิดแล้วว่าจะเดินไปข้างหน้าเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ก็ต้องยอมให้หนี้ขึ้น
และในขณะเดียวกัน ต้องมีความเชื่อมั่นด้วยว่า รายได้จะขึ้นแซงหนี้ อันนั้น คือ เป้าหมาย ไม่มี organization ไหนในโลก ทั้งเล็กและใหญ่ ที่แก้ปัญหาด้วยการทำให้หนี้เล็กลง มีแต่แก้ให้รายได้สูงขึ้น ด้วยวิธีที่ถูกต้อง” พิชัย กล่าวในการแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงาน ‘ขับเคลื่อนตลาดทุน’ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2567
ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในงาน ‘Meet the Press ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน’ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ผ่านมา ที่สอบถามความกังวลของผู้ว่าฯ ธปท. เกี่ยวกับสถานการณ์คลังของประเทศระยะยาว หลังจากธนาคารโลกแสดงความกังวลว่า มาตรการระยะสั้น เช่น โครงการดิจิทัลวอลเลต จะกดดันฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
โดย เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “มันก็คล้ายๆกับที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า ในภาพรวม สิ่งในระดับโลกเขาอยากเห็นหลังจากโควิด คือ เรื่องเสถียรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และหนึ่งในนั้น เป็นเรื่องเสถียรภาพฝั่งการคลัง โดยทุกคนก็ทราบดีว่าในช่วงโควิด ทุกคนเหยียบคันเร่งอะไรต่างๆ
แต่เมื่อเสร็จตรงนั้น เขาก็อยากเห็น Fiscal consolidation คือ ค่อยๆรัดเข็มขัด ไม่ใช่ว่า ต้องเร็วอะไร แต่ต้องเห็นว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่วิ่งขึ้นไปอีก เหมือนกับที่เรา (ธปท.) เป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เราไม่อยากเห็นมันวิ่งขึ้นอีก อยากจะเห็นว่ามันค่อยๆกลับมา
ถ้าถามผม ตัวเสถียรภาพทางการคลัง มันเป็นหัวใจสำคัญของเสถียรภาพโดยรวม จึงคิดว่าการต้องดูแลภาพระยะยาวของการคลังให้กลับมาเข้มแข็งนั้น สำคัญ และถ้าดู เราขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีล่าสุดก็อยู่ที่ 64-65% ต่อจีดีพีแล้ว ก็ควรที่จะใส่ใจตรงนี้
ถ้าถามผม ถ้าจะให้ priority (ลำดับความสำคัญ) กับอะไร ผมจะให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิต่างๆ ในเรื่องของโครงสร้างมากกว่าการกระตุ้น เพราะถ้าดู จะเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังดูโอเคอยู่ และด้วยความที่ลูกกระสุนเราเริ่มมีจำกัด จึงต้องใช้ให้มันตรงจุด”
ในขณะที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลที่มี ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำ กำลังผลักดันโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ให้สำเร็จตามกรอบเวลา และเร่งระดมเงินจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาท หวังสร้าง ‘พายุหมุน’ กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ระหว่างทาง ก็ต้องยอมรับว่ามีเสียงเตือนและข้อห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ อยู่ไม่น้อย!
อ่านประกอบ :
พลิกมติ'ครม.เศรษฐา'รื้อ'แผนการคลังฯ'2 รอบ กู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-'หนี้สาธารณะ'ใกล้ชนเพดาน
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’