‘ศิริกัญญา’ อภิปรายอัดรัฐบาลเสนอพ.ร.บ.งบปี 67 แจกเงินหมื่น เสี่ยงผิดกฎหมาย 2 ฉบับ กางยิบใช้งบกลางข้ามปีไม่ได้ กู้ชนเพดานเหยียบ 8 แสนล้าน เก็บรายได้ก็พลาดเป้า ระบบลงทะเบียน-เจ้าภาพก็ยังไม่พร้อม แถมกีดกันรายย่อย เอื้อร้านค้าใหญ่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพื่อพิจารณาาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 พ.ศ…. วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตนี้ มีการเปลี่ยนแปลงวงเงินและแหล่งที่มาของเงินในการทำโครงการมาโดยตลอด ล่าสุดนอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่เพิ่งผ่านวาระ 1 เมื่อไม่นานมานี้ ที่จะมีการกู้เพิ่ม 1.52 แสนล้านบาท ก็ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 2568 อีก 1.32 แสนล้านบาท และยังมีส่วนของงบประมาณปี 2567 ที่มาขอสภากู้เพิ่มวันนี้อีก 1.22 แสนล้านบาท และหารายได้อื่นมาโปะเพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมาจากเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชี
โดยการกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท จะส่งผลเท่ากับว่าในงบประมาณปี 2567 จะมีการกู้เพิ่มเพื่อชดเชยขาดดุลทั้งสิ้น 8.05 แสนล้านบาท ซึ่งก็ยังสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ดี เป็นรองแค่ปี 2568 ทำให้สัดส่วนการกู้ชดเชยขาดดุลสูงถึง 4.34% ถ้าย้อนกลับไปไม่เคยมีการตั้งงบประมาณเพื่อขาดดุลสูงขนาดนี้ ปกติควรต้องกดลงมาให้เหลือ 3% แต่รัฐบาลน่าจะติดใจกับการที่สามารถเบ่งงบออกไปเรื่อยๆ และทำการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ ถึง 4.34% ซึ่งจะเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะและภาระในการชำระดอกเบี้ยชำระหนี้ตามมา
@กู้ยับชนเพดาน 8.15 แสนล้าน
นางสาวศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า แต่ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่านั้นคือการกู้จนเต็มเพดานของงบประมาณปี 2567 ซึ่งเพิ่งจะผ่านไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จาก 3.48 ล้านล้านบาทวันนี้จะกลายเป็น 3.6 ล้านล้านบาทแล้ว เท่ากับจะมีการกู้เพิ่มจากเดิม 6.93 แสนล้านบาท เป็น 8.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้มีการขยายเพดานของการกู้ก็จะกู้ได้แค่ 7.9 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำโครงการดิจิทัลวอลเลต จึงต้องมีการขยายเพดานเงินกู้โดยการขยายงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไปอีก 8.15 แสนล้านบาท แต่ก็ยังเป็นการกู้จนเกือบสุดเพดานเหมือนเดิม เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเพียง 1 หมื่นล้านบาท
เหมือนกับว่าถ้ารัฐบาลนึกอะไรไม่ออกก็ใช้วิธีการเบ่งงบ กู้เพิ่ม เบ่งรายจ่ายให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีรายได้เพิ่ม และถ้ารายได้ไม่มาตามคาดการณ์ก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเลย ปัญหาคือเมื่อหาเงินไม่ทันก็ต้องไปดูที่ฝั่งรายได้ ว่ารัฐบาลจะสามารถมีงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงเวลาจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ ถ้าเก็บรายได้ไม่ได้ตามที่คาดไว้ สมมุติว่าหลุดเป้า 5 หมื่นล้านบาท ก็จะกู้โปะได้อีกแค่ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้งบประมาณที่สภาอนุมัติไป 3.48 ล้านล้านบาท สุดท้ายอาจจะใช้ได้ไม่ครบ เพราะรายได้ไม่เข้าเป้าและกู้โปะได้ไม่เพียงพอ แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็คือการไม่สนใจสภาวะความเสี่ยงนี้ เพียงเพื่อได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และทำให้ต้องกู้จนสุดเพดานขนาดนี้
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อจัดเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ จากการประมาณการจีดีพีใหม่ที่เดิมประมาณการไว้เฉลี่ยที่ 2.7% วันนี้มาเหลือ 2.5% และเมื่อดูเอกสารงบประมาณเกี่ยวกับประมาณการรายได้ ก็จะพบว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่ มีเพียงบอกว่าจะจัดเก็บรายได้ได้เท่าเดิม ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้โตตามคาด และที่เพิ่มมา 1 หมื่นล้านบาทก็เป็นของใหม่ล้วนๆ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่เลย และผลการจัดเก็บก็เห็นอยู่ว่าไม่มีทางได้เท่าเดิม
@เก็บรายได้พลาดเป้า กู้แหลกไม่เหลือบริหารความเสี่ยง
นางสาวศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า เมื่อต้นปีได้อภิปรายเอาไว้ว่ารายได้จะจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า ซึ่งตอนนี้ตัวเลขทางการออกมาของ 8 เดือนแรกก็ต่ำกว่าเป้าไปแล้ว 2.6 หมื่นล้านบาท และผล 9 เดือนก็น่าจะออกเร็วๆ นี้ คาดการณ์ว่ากรมสรรพสามิตน่าจะต่ำกว่าเป้า 5.8 หมื่นล้านบาท, กฟผ. ก็นำส่งได้ต่ำกว่าเป้า 8 พันล้านบาท, กรมศุลกากรจัดเก็บได้เกินเป้า 2.8 พันล้านบาท, กรมสรรพากรจัดเก็บเกินเป้า 1.1 หมื่นล้านบาท, กองทุนวายุภักษ์นำส่งรายได้เกิน 1.1 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่มีทางที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า ด้วยสถานการณ์แบบนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีรายได้เพียงพอใช้สำหรับงบประมาณปี 2567 หรือไม่ แต่รัฐบาลก็ยังจะมาขอกู้สภาแบบเต็มเพดานอีก ถามว่าจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ได้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยหรือ
ในส่วนการบริหารรจัดการ 4.3 หมื่นล้านบาทที่นายกรัฐมนตรีมายืนยันกับสภาว่าจะใช้งบกลางเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปแค่กับมาตรการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน 2 ครั้งเกือบ 4 พันล้านบาท, ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล, แก้ฝุ่น pm 2.5, แจกงบให้กลุ่มจังหวัด และแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ผ่านมา 7 เดือนงบกลางยังใช้ไปไม่ถึงไหน อนุมัติไปแค่ 1.79 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับว่าการเบิกจ่ายจริงในบางโครงการจะน้อยกว่านี้หรือไม่มีการเบิกจ่ายเลยอีก
“แม้รัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชน ที่ออกมาล่าสุดก็ไม่ได้มีมาตรการใหม่ที่ช่วยเหลือประชาชนระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเลย เมื่อเป็นแบบนี้ก็ได้แต่สรุปว่างบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นที่สภาอนุมัติไว้เกือบแสนล้านบาท ที่ไม่ออกมาเลยก็เพราะรัฐบาลยังไม่รู้ว่าตกลงจะต้องเอามาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกี่บาท ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าจะใช้ 4.3 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับว่าเงินส่วนนี้จะไม่ได้ถูกเอาไปกระตุ้นหรือสร้างการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณนี้ใช่หรือไม่” นางสาวศิริกัญญากล่าว
@ติงดึงงบกลางปี 67 มาใช้ เสี่ยงผิดกฎหมาย
นางสาวศิริกัญญาอภิปรายต่อไปอีกว่า งบกลางส่วนนี้ถ้าจะต้องเอามาเบิกจ่ายข้ามปีมาในปี 2568 เพื่อแจกดิจิทัลวอลเลต พร้อมกับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่มาขอสภาวันนี้อีก 1.22 แสนล้านบาท รวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท จะถูกโยกข้ามมาใช้หลังจบปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เงินที่จะต้องไหลเวียนหลังจากอั้นไว้เพราะงบประมาณปี 2567 ออกล่าช้าก็จะถูกปล่อยออกมาไม่สุด เพราะต้องถูกกั๊กเอาไว้ใช้กับดิจิทัลวอลเลต
ซึ่งสุดท้ายไม่น่าจะทำได้ตามกฎหมาย เพราะตาม ม.21 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็บอกไว้ชัดเจนว่างบกลางปีต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ ใช้ข้ามปีไม่ได้ และไม่สามารถรอใช้พร้อมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ รัฐบาลอาจบอกว่าใช้ข้ามปีได้ แต่ ม.43 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ก็ระบุว่าต้องก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้วิธีการตีความว่าการลงทะเบียนถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ทั้งที่ไม่ใช่
“การก่อหนี้ผูกพันต้องเป็นสัญญาที่ทำทั้งสองฝ่าย การทำฝ่ายเดียวถือว่าเป็นการให้ การลงทะเบียนถือว่าไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนจึงไม่เกิดหนี้ ถ้าถือว่าการลงทะเบียนเป็นการก่อหนี้แล้ว ในอนาคตจะมีการเอาเยี่ยงอย่าง ใช้งบประมาณประจำปีไม่ทันก็เรียกประชาชนมาลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปเบิกจ่ายข้ามปี งบประมาณในแต่ละปีจะใช้ไม่หมด จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดที่จะทำให้การบริหารงบประมาณผิดพลาด” นางสาวศิริกัญญากล่าว
@งบกลาง 4.3 หมื่นล้าน ใช้กู้หน้ารัฐบาล ไม่ฉุกเฉิน
นางสาวศิริกัญญากล่าวต่อไป ว่าอีกประเด็นที่ทำให้รัฐบาลน่าจะเลือกใช้งบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น 4.3 หมื่นล้านบาทจากงบประมาณปี 2567 คือถ้างบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นไม่พอเมื่อไหร่ ก็ สามารถเบิกจ่ายทุนสำรองจ่ายได้อีก 5 หมื่นล้านบาท แต่ตาม ม.45 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ระบุว่าจะใช้ได้ก็ต่อเมื่องบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นไม่เพียงพอ และเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินเท่านั้น
ทุนสำรองจ่ายเคยถูกใช้มาก่อนในช่วงโควิดเพื่อใช้แจกเงินเยียวยาในช่วงแรก แต่รอบนี้ความจำเป็นเร่งด่วนอย่างเดียวที่เห็นคือความจำเป็นที่จะต้องรักษาหน้ารัฐบาล แต่อย่าลืมว่างบประมาณก้อนนี้ต้องตั้งงบโอนคืนในโอกาสแรก ถ้าใช้ไป 5 หมื่นล้านบาทสุดท้ายก็ต้องมาตั้งงบประมาณคืนในปี 2569 อยู่ดี เรียกว่ายืมเงินข้ามปี แต่ถ้ารัฐบาลไม่คิดจะใช้ก็ดี แต่คำถามคือถ้าถึงเวลาลงทะเบียนจริงแล้วประชาชนมาลงทะเบียนเกิน 45 ล้านคนจนงบประมาณไม่พอแจกทุกคน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรกันต่อ
นางสาวศิริกัญญาอภิปรายต่อไป ว่าปัญหาต่อมาคือการตีความงบประมาณโครงการนี้เป็นรายจ่ายลงทุนสูงถึง 80% ซึ่งตามนิยามปกติ งบรายจ่ายลงทุนคืองบประมาณที่ใช้ซื้อสิ่งของ สร้างสิ่งปลูกสร้างอายุเกิน 1 ปี ค่าจ้างใช้ทำของหรือปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น แต่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคนก็ทราบกันดีว่าเป็นการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
ตาม ม.20 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุว่าถ้าจะตั้งงบประมาณแล้ว งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ตตามการตีความว่าเป็นรายจ่ายลงทุน 80% เข้าไป ก็จะมีสัดส่วนสูงถึง 22.4% และเกินกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ 8.76 แสนล้านบาท แต่ถ้าตีความตามที่เป็นจริง ก็จะไม่ผ่านทั้งเกณฑ์ 20% และเกณฑ์ที่ต้องเกินการขาดดุลงบประมาณ
@อัดไร้เจ้าภาพรับหน้าลงทะเบียน - ระบบก็ไม่พร้อม
นางสาวศิริกัญญาอภิปรายต่อไป ว่านอกจากความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายแล้ว โครงการดิจิทัลวอลเลตยังมีปัญหาในเรื่องความไม่พร้อม อีก 15 วัน หรือวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จะมีการเริ่มลงทะเบียนแล้ว แต่วันนี้ยังหาเจ้าภาพไม่ได้เลย รัฐบาลยังคงเสนอเป็นภาพรวมไว้ในงบกลาง ซึ่ง ม.22 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุว่าตั้งได้เฉพาะเมื่อไม่สามารถจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณหรือไม่ควรจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณเท่านั้น
ไม่ใช่แค่เรื่องเจ้าภาพเท่านั้น ระบบลงทะเบียนก็เพิ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลมา 2 ราย ในวันที่ 10 กับ 11 กรกฎาคม 2567 ในส่วนของระบบชำระเงินก็ยังไม่ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง มีการระบุแค่ว่าเป็นงานจ้างพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งเมื่อตนเข้าไปตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ก็ยังขึ้นแผนเหมือนเดิมว่าคาดว่าจะจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนกรกฎาคม แต่อีก 15 วันจะลงทะเบียนแล้วระบบการชำระเงินจะทันได้อย่างไร
ไม่ต้องพูดถึงว่างบประมาณที่ใช้ก็แปลกประหลาด ระบบลงทะเบียนที่เป็นการต่อยอดจากแอปพลิเคชันภาครัฐที่มีอยู่แล้ว มีการใช้งบประมาณ 89.5 ล้านบาท ระบบจ่ายเงินที่จะใช้เป็น open-loop system ให้ธนาคารพาณิชย์มี interface รับชำระเงินดิจิทัลวิลเลตได้ ฯลฯ ใช้เงินแค่ 95 ล้านบาท ซึ่ง DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) ชี้แจงว่าเป็นแค่งบประมาณในการพัฒนาระบบ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะเป็นเจ้าของระบบ ซึ่งอาจตีความได้ว่าผู้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบก็จะมาเป็นเจ้าของระบบในที่สุด
นอกจากนี้ เงื่อนไขต่างๆ ยังมีการเปลี่ยนไปมาในส่วนของสินค้าที่เข้าร่วมได้ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือส่วนของร้านค้า อีก 15 วันต้องลงทะเบียนร้านค้าแล้วแต่ยังไม่มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการได้ ระบบที่ถูกออกแบบมาเอื้อให้ร้านค้าที่มีสายป่านยาว แต่รายย่อยที่ใช้เงินสดเป็นหลักจะอยู่ไม่ได้ เงินดิจิทัลวอลเลตแม้จะใช้ซื้อวัตถุดิบได้ก็จริงแต่ก็ไม่ได้ทุกร้าน หรือไม่ได้มีแค่ต้นทุนค่าวัตถุดิบอย่างเดียว ยังมีค่าแรง ค่าเช่า ค่าน้ำมัน ฯลฯ เมื่อธุรกิจเงินสดเงินหมุนเข้าร่วมไม่ได้ แล้วจะให้มาลงทะเบียนได้อย่างไร หรือคนที่พร้อมลงทะเบียนแต่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี มีการแจ้งหรือยังว่าต้องเข้าฐานภาษีเมื่อไหร่ จ่ายย้อนหลังได้หรือไม่ หรือถ้ามีเงินสดไม่พอจริงๆ มีสินเชื่อให้เขาเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ รัฐบาลไม่มีอะไรบอกเลย ที่ออกแบบมาเอื้อให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินสดและสายป่านมากพอนั้นก็แย่มากอยู่แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลยที่จะลดอุปสรรคให้รายย่อยเข้ามาได้ นี่คือการกีดกันรายย่อยกลายๆ
“โครงการนี้ที่ตีไว้ 5 แสนล้านบาท ลงทุนไปแล้วได้อะไร คำตอบคือได้รักษาหน้าว่าได้ทำตามที่หาเสียงไว้แล้ว แม้หน้าตาของนโยบายจะไม่เหมือนกับตอนที่หาเสียงไว้เลยตั้งแต่ต้น ได้เพิ่มจีดีพีเต็มที่เลยตามประมาณการของกระทรวงการคลัง ก็ยังได้แค่ 3.5 แสนล้านบาท วิญญูชนควรรู้ว่าลงทุน 5 แสนล้านได้คืน 3.5 แสนล้านบาทเรียกว่าคุ้มหรือไม่ แต่สิ่งที่จะเสียก็คือการเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังให้แก่ประเทศ ตอนนี้รัฐบาลไม่มีปัญญาจะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย แค่ฝ่ายค้านพูดว่าต้องมีมาตรการเฉพาะหน้า วิ่งหาเงินก็ไม่เหลือแล้ว เพราะต้องเก็บไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต และยังต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมายอีกหลายข้อ ซึ่งถ้าสามารถทำต่อไปได้จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ในการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายที่ประเมินไม่ได้” นางสาวศิริกัญญากล่าวอีกตอน
@เอื้อรายใหญ่ กีดกันรายย่อย
นางสาวศิริกัญญาทิ้งท้ายว่า อุตส่าห์ลงเงินไป 5 แสนล้าน แต่ก็สร้างเงื่อนไขกลไกโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะเอื้อค้าปลีกรายใหญ่ กีดกันรายย่อยโดยไม่รู้ตัว จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข เสียโอกาสแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้ประชาชน เพียงเพราะต้องกั๊กเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เพื่อไปทำโครงการนี้ตอนปลายปี และยังมีอีกหลายโอกาสที่จะต้องเสียไปที่จะได้ทำนโยบายอื่นๆ เพราะภาระที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไม่ได้จบแค่งบประมาณปี 2567-2568 มันจะตามเราอีกไปถึงปี 2569-2570 และจะไปทำให้พื้นที่ที่จะมีงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่างๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ นี่จะเป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียว และนัดสุดท้ายของทั้งรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามมา
และเมื่อครั้งที่แล้วที่มีการพิจารณางบประมาณปี 2567 ได้ส่งความห่วงใยไปยังข้าราชการประจำที่ยังซื่อตรงต่อหลักการให้ออกมากล้าท้วงติงกับโครงการนี้ที่มีปัญหา ไม่ตรงไปตรงมา และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่วันนี้ตนขอส่งความห่วงใยไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายครั้งนี้หรือไม่ ถ้าท่านเองก็ยังพอยึดถือหลักการอะไรอยู่ในหัวใจ ยังถือหลักวิชาการ มีความรู้เรื่องงบประมาณและการคลัง ท่านคงรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าทำแบบนี้จะทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร