10 ข่าวเด่นแห่งปี 2566 'อิศรา' เพิกถอนโฉนดที่ดิน 'เขากระโดง'-ตรวจสอบทรัพย์สิน 'พิธา'-ซื้อ-ขายงานวิจัย-พนง.อบต.ลางาน 45 วันเพื่อไปเป็น ‘ผีน้อย’-ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจนท.สรรพากรบางเสาธง 4 ราย ร่ำรวยผิดปกติ-ประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน-วธ.อยุธยา ถูกจับสดแต่ได้กลับมาทำงานต่อ-ค้นข้อมูลคราฟท์เบียร์ที่ 'ปดิพัทธ์' โพสต์-เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’-ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอาญา 'รัชฎา'
ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริต การประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายคดี รวมถึงข่าวทรัพย์สินของนักการเมืองที่มีความน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2566 ที่สำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบมาให้สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้
1. กรณีเพิกถอนโฉนดที่ดิน ‘เขากระโดง’
ประเด็นนี้สืบเนื่องเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)
โดยศาลฯพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีการหนังสือแสดงสิทธิฯ 772 ฉบับ แบ่งเป็นโฉนด 396 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 376 ฉบับ
ต่อมาวันที่ 1 พ.ค.2566 รฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์คดีฯไปยังศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดหรือค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเขากระโดง เนื่องจาก รฟท.ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า กรมที่ดินไม่ได้ละเมิด รฟท. จึงไม่ต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์ฯ 707 ล้านบาท และค่าเสียหายเดือนละ 59.9 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 9 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่ดินเขากระโดงว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีที่ดินเขากระโดง และศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ นั้น ได้ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้แล้ว
(อ่านประกอบ : ลุยเพิกถอนโฉนด 5 พันไร่! ‘กรมที่ดิน’ ไม่อุทธรณ์คดี ‘เขากระโดง’-แจ้งศาลฯตั้ง ‘คกก.สอบสวน’ แล้ว )
2. กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ประเด็นนี้เริ่มจากเมื่อเดือน พ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่
โดยสำนักข่าวอิศราได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินของนายพิธาและนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทรัพย์สินของนายพิธา ที่สำนักข่าวอิศราสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ หุ้น ITV ที่ดิน อาคาร และธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับนายพิธา มีประเด็นที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ ดังนี้
1.กรณีโฉนดที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี ทำไมแจ้ง ป.ป.ช. 18 ล้าน?
2.กรณีปล่อยเงินกู้ให้น้องชาย 15 ล.
3.กรณีคอนโดฯ 2 รายการ มูลค่า 60.5 ล้านบาท หายไปไหน?
4.ประเด็นธุรกิจ บ.น้ำมันรำข้าว ครอบครัวพิธา ปัญหาหนี้สิน ‘อาร์นี่ โอตะวะ’ เป็นใครมาจากไหน ?
ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อสงสัยที่นายพิธายังไม่ชี้แจงต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา
(อ่านประกอบ : มัดรวม 4 เรื่อง! บัญชีทรัพย์สิน - ธุรกิจ บ.น้ำมันรำข้าว ที่ ‘พิธา’ ไม่ตอบ ?)
3. กรณีนักวิชาการซื้อ-ขายงานวิจัย
ประเด็นนี้เริ่มร้อนระอุเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไบโอเทค ของสวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ
โดยเอกสารที่ ดร.อนันต์ นำมาเปิดเผย อ้างอิงถึง อาจารย์ 2 ราย คือ ผศ.ดร. สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ต่อมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกประกาศว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยแล้ว
ด้าน นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีการชี้แจงยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด
ขณะที่ รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้มีการติดต่อไปยังอาจารย์รายที่ถูกระบุถึงแล้ว เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำลังหาข้อมูล และรอข้อมูลยืนยันจากต่างประเทศ
จากกระแสปมการซื้อขายงานวิจัย เป็นแรงกระเพียมให้เกิดการตรวจสอบและตั้งคำถามถึงวงการวิชาการของไทยเป็นอย่างมาก
มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มประกาศชี้แจงและแสดงจุดยืนยันนโยบายการยึดมั่นในจริยธรมมและคุณธรรมในการวิจัย พร้อมเร่งเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสอบข้อเห็นจริง หากพบว่าบุคคลากรในสังกัดกระทำความผิด
(อ่านประกอบ : ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา?)
4. กรณี พนักงานอบต.อาจาสามารถ ลางาน 45 วันเพื่อไปเป็น ‘ผีน้อย’ ในประเทศเกาหลีใต้
ประเด็นนี้เริ่มจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านเผยแพร่ข้อมูลว่า มี พนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด แปลงกายเป็นผีน้อยบินไปเกาหลี ใช้สิทธิลาเต็มที่ ช่วง 10 วันแรก ตั้งแต่ 3-16 ม.ค.66 ใช้ลาพักร้อน จากนั้นวันที่ 17 ม.ค.-21 มี.ค. ใช้สิทธิยื่นขอลากิจอีก 45 วัน กินเงินเดือนหลวงฟรีๆ
โดยแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด มีคำสั่งด่วนให้ดำเนินการรับเรื่องกรณีนี้ ไว้เป็นคดี เพื่อตรวจสอบเป็นทางการแล้ว (อ่านประกอบ : ขอหลักฐาน ตม.มัด! ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด รับคดีสอบ'ผีน้อย'อบต.อาจสามารถ - สั่งยึดเอกสารใบลาแล้ว)
5. กรณีป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่สรรพากรบางเสาธง 4 ราย ร่ำรวยผิดปกติ
ประเด็นนี้มีที่มาจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายดนัย ดำรงชัยโยธิน นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กับพวกรวม 4 ราย ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินจำนวนรวมกว่า 2,085,348,581.53 บาท
แบ่งเป็น
1. บัญชีเงินฝากจำนวน 7 บัญชี ของนายดนัย ดำรงชัยโยธิน รวม 1,189,273,347.48 บาท
2. บัญชีเงินฝากจำนวน 5 บัญชี ของนางชลธาร คงมั่น รวม 559,946,602.03 บาท
3. บัญชีเงินฝากจำนวน 3 บัญชี ของนางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ รวม 334,246,632.02 บาท
4. บัญชีเงินฝากจำนวน 1 บัญชี ของนางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย รวม 1,882,000 บาท
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอข่าวไปแล้วว่า การคืนภาษีของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพื้นที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ถูกตรวจสอบพบปัญหายักยอกเงินกว่า 800 ล้านบาท
เริ่มจากการที่กรมสรรพากร ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวโทษ สรรพากรอำเภอบางเสาธงรายหนึ่ง ในคดีโกงภาษีที่คืนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีพฤติการณ์แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท หลังมีการตรวจสอบพบปัญหาเรื่องนี้ เมื่อเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ การแก้ไขเช็คของผู้ประกอบการ ที่กรมสรรพากรจ่ายเงินภาษีคืนให้เป็นชื่อของตนเองแล้วนำเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง
จากนั้นเมื่อกรมสรรพากรตีเช็คฉบับใหม่ ๆ ออกมาให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะไปแก้ไขเช็คทยอยนำเงินมาคืนให้กับผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปแล้วก่อนหน้านั้น
คล้ายกับกระบวนการแชร์ลูกโซ่ นำเงินผู้ประกอบการรายใหม่ มาจ่ายคืนให้กลับผู้ประกอบการรายเดิมวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการทยอยคืนเงินอาจจะช้าไป 5 - 6 เดือน แล้วก็ทำในลักษณะนี้เรื่อย ๆ ไปเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปโวย แต่ให้เข้าใจว่า ได้เงินคืนล่าช้า
(อ่านประกอบ : โยงคดีโกงคืนภาษี! เบื้องลึกป.ป.ช.ชี้มูล 3 ขรก.-1 จนท.สรรพากรบางเสาธง รวยผิดปกติ 2 พันล.)
6. กรณีการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
ประเด็นนี้เริ่มจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงแรงงานว่า การประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 7,950,000,000 บาท ที่มีการกำหนดยื่นซองเสนอในวันที่ 24
พ.ย. 2565 ในขั้นตอนการกำหนดเงื่อนทีโออาร์ มีลักษณะส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ได้รับงานหรือไม่ หลังจากนั้นการประราคาครั้งนี้ประกาศยกเลิก เนื่องจากไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ
ต่อมากรมการจัดหางานเปิดประกวดราคารอบสองที่ภายหลังปรากฏชื่อ กิจการร่วมค้า ฟิวเจอร์ สกาย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทสกาย อาย เทค จำกัด และบริษัท ฟิวเจอร์ ฟอร์ ทูเดย์ เป็นผู้ชนะ เสนอราคาวงเงิน 7,800 ล้านบาท ที่มีการตรวจสอบพบข้อสังเกตว่า บริษัทสกาย อาย เทค จำกัด มีทุนจดทะเบียน 11,800,000 บาท ส่วน บริษัท ฟิวเจอร์ ฟอร์ ทูเดย์ มีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท และจัดตั้งบริษัทก่อนการแข่งขันเสนอราคางานประมาณ 10 เดือน โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์เรื่องประกวดราคางานโครงการฯ นี้แล้ว และมีการเรียกเอกชนมาทำสัญญา แต่ตอนนี้ฝ่ายเอกชนยังไม่มา ส่วนประเด็นที่ป.ป.ช.เข้ามาสอบสวนถ้าป.ป.ช.เห็นว่าไม่โปร่งใสก็แจ้งมาที่กรมฯให้ระงับชั่วคราว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งมา
(อ่านประกอบ : เอกชนยังไม่มา! อธิบดี กกจ.เผยงานจ้างผลิตใบอนุญาต7.8 พันล.ผ่านอุทธรณ์แล้ว-รอแค่ทำสัญญา)
7. กรณีวัฒนธรรม จ.อยุธยา ถูกจับสดแต่ได้กลับมาทำงานต่อ
ประเด็นนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมนางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล
ต่อมาเดือน พ.ย. 2566 สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงวัฒนธรรมว่า ปัจจุบัน นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมแล้ว หลังจากผลการสอบสวนของวธ. พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
(อ่านประกอบ : ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง)
8. กรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จ.พิษณุโลก รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เผยแพร่ภาพคราฟท์เบียร์ยี่ห้อหนึ่งลงในโซเชียลมีเดีย
ประเด็นนี้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จ.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ได้เผยแพร่ภาพคราฟท์เบียร์ยี่ห้อหนึ่งลงในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และ Tik Tok แนะนำด้วยความภาคภูมิใจว่า “เอาแล้วๆๆๆๆ พิษณุโลกมีคราฟท์เบียร์ตัวแรกอย่างเป็นทางการแล้วครับ เป็นของดีพิดโลกนอกจากกล้วยตากและหมี่ซั่วครับ” กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
จากข้อมูลในภาพกระป๋องคราฟท์เบียร์สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ชื่อ Thai Spirit Industry คือ THAI SPIRIT INDUSTRY CO.,LTD. หรือ บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 1 มีนาคม 2545 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ประกอบการ การผลิตและจำหน่าย สุราแช่ประเภทสุราผลไม้ เบียร์และอื่นๆที่ตั้งเลขที่ 71/25 หมู่ 5 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (ที่ตั้งเลขที่เดียวกันกับที่ตั้ง Thai Spirit Industry ตามท่ระบุในข้างกระป๋อง) บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 พลเอกนายหนึ่งถือหุ้น 100%
(อ่านประกอบ : บ.สุราแช่ในจ.ฉะเชิงเทรา-พล.อ.หุ้นใหญ่ เป็นผู้ผลิตเบียร์ จ.พิษณุโลกที่‘ปดิพัทธ์’โพสต์เชียร์)
9. กรณีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโด ‘แอชตัน อโศก’
ประเด็นนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว.16 ก.ค.2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว.17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เดิมบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) เพื่อดำเนิน 'โครงการแอชตัน อโศก' โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้วินิจฉัยกรณี ‘การอนุญาตให้เอกชนให้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ รายบริษัท อนันดาฯ เป็นเรื่องเสร็จที่ 237/2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ การนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปให้บริษัท อนันดาฯ ใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดาฯ จึงไม่ใช่เป็นการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.
(อ่านประกอบ : รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้)
10. กรณีป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอาญา นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีเรียกรับสินบนโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัด
ประเด็นนี้สืบเนื่องจาก นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก. ปปป.) และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เข้าทำการจับกุมกรณีเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีการล่อซื้อ มีการติดกล้องวงจรปิด ตำรวจตามเข้าไปค้นพบเงินสดบนโต๊ะทำงาน และห้องแต่งตัวประมาณ 5 ล้านบาท ในช่วงเดือนธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ก่อนที่ บก. ปปป. จะส่งสำนวนมาให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนความผิดตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. 2 ราย ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน ขณะที่ปัจจุบัน นายรัชฎา ถูกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอบสวนวินัยร้ายแรง และให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอาญา นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีเรียกรับสินบนโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดเป็นทางการแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า นายรัชฎา สุริยกุล ถูกชี้มูลความผิดทางอาญามาตราใดบ้าง และมีผู้เกี่ยวข้องรายอื่นถูกชี้มูลความผิดด้วยหรือไม่
(อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา 'รัชฎา' อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกสินบนโยกย้าย จนท.)
เหล่านี้คือ 10 ข่าวเด่นในปี 2566 ที่บางกรณีมีข้อสรุปและจบลงแล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป หรือถูกทิ้งไว้อย่างค้างคา หรืออยู่ในกระบวนการสอบสวน
สำนักข่าวอิศราจะติดตามและนำเสนอข่าวในปี 2567 ต่อไป!