คนใน วธ.แจ้งข้อมูล 'จุรีพร ขันตี' วธ.อยุธยา เคยถูกจับสด ทุจริตรับเงิน 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา ช่วงปลายปี 2565 ถูกล่าสุด ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมแล้ว หลังผลสอบสวนวินัยพบแค่ทำผิดไม่ร้ายแรง อิศรา สอบยันพบข่าวจริง จนท.แจ้งเข้าทำงานตามปกติ เพิ่งลงนามประกาศผลประกวดราคา แทนผู้ว่าฯ วันที่ 17 พ.ย.66 ที่ผ่านมา
จากกรณีปรากฎข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2565 ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมนางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ต่อมามีรายงานข่าวว่า นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ลงนามในคำสั่งให้ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการในภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ส่วนกลาง) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงวัฒนธรรมว่า ปัจจุบัน นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมแล้ว หลังจากผลการสอบสวนของวธ. พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงสายวันที่ 27 พ.ย.2566 ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ให้ข้อมูลยืนยันว่า นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปมาปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยาตามเดิมแล้ว
เมื่อถามว่า การย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่เดิม เป็นเพราะผลการสอบสวนพบว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรงใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่รายนี้ ตอบว่า "ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะเป็นเรื่องลับ และตนเองเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานเท่านั้น"
เมื่อถามว่า จะขอสัมภาษณ์ นางจุรีพร ขันตี ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่รายเดิม ตอบว่า "นางจุรีพร ขันตี ติดภารกิจประชุมอยู่"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารเพื่อยืนยันว่า นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จริงหรือไม่
พบว่า ในเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ได้เผยแพร่ประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องผู้ชนะการประกวดราคาจ้างกิจกรรมลานวัฒนธรรม ในงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ลงนามโดย นางจุรีพร ขันตี ในฐานะวัฒนธรรมจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา (ดูเอกสารประกอบ)
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ เคยปรากฏเป็นข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ร.ต.อ.เกียรติภูมิ ปภินวัช รอง สว.(สอบสวน) กก.5 บก.ปปป. ได้มีการออกคําสั่งให้วางแผนใช้วิธีการจับกุมนางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท โดย ร.ต.อ.เกียรติภูมิ ได้นําธนบัตรที่ได้จากการถอนเงินธนาคารไทยพาณิชย์ของ พยาน จํานวน 79,188 บาท(หักค่าภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว จํานวน 812 บาท) เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 14.45 น. มาลง ประจําวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการส่งมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 1,000 บาท จํานวน 74 ฉบับ ฉบับละ 100 บาท จํานวน 1 ฉบับ ฉบับละ 20 บาท เงินเหรียญ 5 บาท 1 เหรียญ เงินเหรียญ 1 บาท 3 เหรียญ
โดยคดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก นาย ส. อาชีพ พนักงานราชการ ตําแหน่ง นักวิชาการประจําสํานักงานวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มาพบ ร.ต.อ.ภูสิทธิ์ บุตรแสง พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ ให้ดําเนินคดีกับ นางจุรีพร ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ภายหลังเกิดเหตุ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามในคำสั่งให้ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการในภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ส่วนกลาง) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ ขณะที่ในคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุข้อมูลเรื่องการทุจริตรับเงิน 8 หมื่นบาท ของ นางจุรีพร ขันตี ด้วยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี การสอบสวนคดีจับกุมนางจุรีพร ขันตี รับเงินจำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์เจตนาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล
ปัจจุบันศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมาย
นางจุรีพร ขันตี จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่