"...ผลจากการที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบยอดเงินในบัญชีฝากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เป็นหลักพันล้านบาท ทำให้เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงในคดีนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข 159 ล้านบาท ตามที่กรมสรรพากรเคยให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา และพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะนี้ อาจทำมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น..."
สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก!
สำหรับมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายดนัย ดำรงชัยโยธิน นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กับพวกรวม 4 ราย ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินจำนวนรวมกว่า 2,085,348,581.53 บาท
แบ่งเป็น
1. บัญชีเงินฝากจำนวน 7 บัญชี ของนายดนัย ดำรงชัยโยธิน รวม 1,189,273,347.48 บาท
2. บัญชีเงินฝากจำนวน 5 บัญชี ของนางชลธาร คงมั่น รวม 559,946,602.03 บาท
3. บัญชีเงินฝากจำนวน 3 บัญชี ของนางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ รวม 334,246,632.02 บาท
4. บัญชีเงินฝากจำนวน 1 บัญชี ของนางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย รวม 1,882,000 บาท
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินและให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กรมสรรพากรดำเนินการลงโทษไล่ออกในกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122
เกี่ยวกับคดีนี้ หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเดือน ธ.ค.2565 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวไปแล้วว่า การคืนภาษีของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพื้นที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ถูกตรวจสอบพบปัญหายักยอกเงินกว่า 800 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นคดี เกิดขึ้นจากการที่กรมสรรพากร ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวโทษ สรรพากรอำเภอบางเสาธงรายหนึ่ง ในคดีโกงภาษีที่คืนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีพฤติการณ์แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท หลังมีการตรวจสอบพบปัญหาเรื่องนี้ เมื่อเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ การแก้ไขเช็คของผู้ประกอบการ ที่กรมสรรพากรจ่ายเงินภาษีคืนให้เป็นชื่อของตนเองแล้วนำเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง
จากนั้นเมื่อกรมสรรพากรตีเช็คฉบับใหม่ ๆ ออกมาให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะไปแก้ไขเช็คทยอยนำเงินมาคืนให้กับผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปแล้วก่อนหน้านั้น
คล้ายกับกระบวนการแชร์ลูกโซ่ นำเงินผู้ประกอบการรายใหม่ มาจ่ายคืนให้กลับผู้ประกอบการรายเดิมวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการทยอยคืนเงินอาจจะช้าไป 5 - 6 เดือน แล้วก็ทำในลักษณะนี้เรื่อย ๆ ไปเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปโวย แต่ให้เข้าใจว่า ได้เงินคืนล่าช้า
สำหรับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสรรพากรอำเภอบางเสาธง ที่เป็นคนแก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเองที่ธนาคารกรุงไทย สาขาในพื้นที่บางเสาธง ส่วนที่สอง เมื่อเงินเข้าบัญชีแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 3 ราย จะแยกกันไปทำเรื่องถอนเงินจากบัญชีที่ธนาคารสาขาใกล้เคียง (ดูอินโฟประกอบ)
เบื้องต้น กรมสรรพากร มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องออกจากราชการไปแล้ว จำนวน 4 ราย แยกเป็น ข้าราชการสรรพากร 3 ราย และผู้เกี่ยวข้องที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 1 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยชื่อเป็นทางการ ขณะที่ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น กรมสรรพากร อ้างว่า มีตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 159 ล้านบาท เอกชนที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ 20 กว่าแห่ง (อ่านรายละเอียดข่าวท้ายเรื่อง)
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่ง สำนักงาน ป.ป.ช. แถลงมติชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปกติดังกล่าว
ขณะที่ นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า คดีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คดีร่ำรวยผิดปกติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลไปแล้ว และคดีอาญาที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนคดียังไม่แล้วเสร็จ
"การตรวจสอบเรื่องความร่ำรวยผิดปกติข้าราชการและเจ้าหน้าที่สรรพากรบางเสาธง ทั้ง 4 ราย เป็นผลมาจากกรมสรรพากร ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบหลังเกิดคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งจากการสอบสวนข้อมูลทางการเงินพบว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ มีเงินจำนวนมากกว่า สถานะและเงินเดือน ที่ได้รับ เป็นหลักพันล้าน ขณะที่ ป.ป.ช.มีอำนาจในการอายัดทรัพย์ตามกฎหมายไม่เกิน 1 ปี จึงต้องหยิบคดีส่วนนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน"
นายศรชัย ชูวิเชียร
นายศรชัย ยังระบุด้วยว่า ในขั้นตอนการสอบสวน ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีการเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ มาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ที่มาทรัพย์ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครมาชี้แจง จึงมีการสรุปผลการสอบสวนคดีร่ำรวยผิดปกติ เสนอเรื่องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดดังกล่าว " นายศรชัยระบุ
เมื่อถามว่า ผลการสอบสวนคดีอาญาจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายศรชัย ตอบว่า ยังไม่ทราบ แต่หากดำเนินการเรียบร้อย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นทางการแล้ว จะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนต่อไป
ด้าน แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 4 ราย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปกติ นายดนัย ดำรงชัยโยธิน นางชลธาร คงมั่น นางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ เป็นข้าราชการ กรมสรรพากร มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ 9 ธ.ค.2565 ส่วน นางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย เป็นลูกจ้างชั่วคราว ไม่ต่อสัญญาจ้างตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 แล้วเช่นกัน
เหล่านี้ คือ เบื้องลึกและความคืบหน้าทางคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ผลจากการที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบยอดเงินในบัญชีฝากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เป็นหลักพันล้านบาท ทำให้เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงในคดีนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข 159 ล้านบาท ตามที่กรมสรรพากรเคยให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา และพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะนี้ อาจทำมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น
แต่สิ่งที่น่าสนใจตามประเด็นที่สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้ว คือ เกี่ยวกับรูปแบบปัญหาการกระทำความผิดที่ถูกตรวจสอบพบในพื้นที่บางเสาธง จะเห็นได้ว่ากระบวนการคืนภาษีของกรมสรรพากร มีช่องโหว่สำคัญเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น รูปแบบการกระทำความผิดดังกล่าว ที่อาจจะนับได้ว่าเป็นโมเดลทุจริตคืนภาษีรูปแบบใหม่ เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในพื้นที่อำเภอบางเสาธงหรือไม่? พื้นที่อื่นมีปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่? เพราะถ้าหากขยายผลสอบไปยังพื้นที่อื่น ๆ แล้วพบว่ามีรูปแบบนี้เกิดขึ้นด้วย กรณีการโกงเงินคืนภาษีในพื้นที่บางเสาธง จะกลายเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งใต้ผิวน้ำลูกใหม่ ที่ซ่อนความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับกระบวนการทำงานคืนภาษีของกรมสรรพากรอีกครั้ง
ต่อเนื่องจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท เมื่อปี 2556 ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และยังคอยตามหลอกหลอนคนสรรพากรมาถึงทุกวันนี้
หากมีข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ เพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชน รับทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
- โกงคืนภาษี 800 ล.! สรรพากร กล่าวโทษ จนท.บางเสาธง แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่สรรพากรอำเภอ! พฤติการณ์โกงคืนภาษี800 ล. มีผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า3 ราย คอยช่วย (2)
- เสียหาย 159 ล.! อธิบดีสรรพากร แจงคดีโกงเงินคืนภาษีบางเสาธง ให้จนท.ออกราชการไปแล้ว (3)
- ป.ป.ช.ล่าตัวการใหญ่! คดีโกงคืนภาษี800 ล.บางเสาธง 'สรรพากร' ให้ออกราชการไปแล้ว 2 คน (4)
- ขมวดปม! คดีโกงคืนภาษีบางเสาธง 800 ล. โมเดลทุจริตใหม่จนท.แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง (5)