สนข.ลงนามว่าจ้าง 6 บริษัทที่ปรึกษาฯ 68 ล้านบาท ศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ตามแนว ‘จ.ชุมพร-จ.ระนอง’ คาดเสนอผลศึกษา 5 เรื่อง ให้ครม.รับทราบปี 65 ก่อนประกาศหาเอกชนร่วมลงทุน คาดลงทุนทั้งโครงการ 1 แสนล้านบาท
...................
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 30 เดือน วงเงินค่าจ้าง 68 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวหลังการลงนามฯ ว่า การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมท่าเรือน้ำลึกระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรมและสังคม 2.การออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3.การจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.จัดทำและวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ5.การสร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะเสนอผลการศึกษาฯทั้ง 5 เรื่อง ให้กับสนข.ในอีก 1 ปีข้างหน้า หรือในปี 2565 และจัดทำรายละเอียดต่างๆที่เหลือจนครบสัญญาจ้าง 30 เดือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะเสนอผลการศึกษาทั้ง 5 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และประกาศหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะใช้เวลา 3 ปี หรือแล้วเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการลงทุนโครงการพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2568
“การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เป็นดำริของนายกฯ แต่แนวการศึกษาครั้งนี้จะต่างจากของเดิมที่จะสร้างจากท่าเรือสงขลา 2 ไปท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยจะขยับมายังจุดที่ลงทุนถูกที่สุด และคาดว่าจะทำให้จีดีพีเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 4% จากเดิม 2% ตลอดระยะเวลา 10 ปี ขณะที่แนวแลนด์บริดจ์ดังกล่าวจะลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งสินค้า รวมทั้งจะเชื่อมโยงกับพื้นที่อีอีซีที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ด้วย” นายศักดิ์สยามระบุ
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานไปหลายพื้นที่เพื่อลงไปตรวจสอบว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่เหมาะสมบ้าง เพราะการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวต้องเป็นพื้นที่ที่ทะเลมีความลึกไม่น้อยกว่า 15 เมตร เพื่อให้เรือขนส่งขนาดใหญ่เดินทางมาเทียบท่าได้ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันในจังหวัดชุมพร และระนอง โดยบริษัทที่ปรึกษาจะต้องลงไปศึกษาฯ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคนนาคมจะชี้แจงความคืบหน้าผลการศึกษาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆว่า ไทยได้เดินหน้าศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ปี และคาดว่าในปี 2567 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าปี 2593 ปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยหรือ Smart Port ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่น รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ ตลอดจนวางระบบการขนส่งทางท่อ โดยทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน โดยประมาณการวงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP
“เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น” รายงานข่าวระบุ
สำหรับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ,บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด ,บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
อ่านประกอบ :
ปูทางแลนด์บริดจ์! อนุมัติ 74 ล้าน ศึกษาสร้างทางรถไฟ ‘ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง’
สั่งศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’! ครม.ไฟเขียวจ้างนศ.จบใหม่ 2.6 แสนคน-เคาะใช้เงินกู้โควิด 1.8 พันล.
เมินขุดคอคอดกระ! ‘ศักดิ์สยาม’ ย้ำดันแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งทะเล-ขู่ขรก.ทำงานไม่ไหวจะให้พัก
ฟันธง 2 ปีเศรษฐกิจกลับสู่ปกติ! ‘วิรไท’ ห่วงนศ.จบใหม่ไม่มีงานทำ-'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' แนะตุนเงินสด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/