'ผู้ว่าฯธปท.-ประธานทีดีอาร์ไอ’ ประเมินอีก 2 ปีเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับไปเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเครื่องหมาย ‘ถูก’ ห่วงนักศึกษาจบใหม่หางานทำไม่ได้ ‘สมเกียรติ’ แนะธุรกิจใช้ 6 คาถาเอาตัวรอดจากโควิด ‘เก็บเงินสด-ลดต้นทุน-อุดหนุนเครือข่าย-กระจายความเสี่ยง-เพียงอย่าท้อใจ-โอกาสใหม่รออยู่'
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ 'ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจ หลังยุคโควิดภิวัตน์' ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารธนาคารแห่งประเทศ สำนักงานภาค ประจำปี 2563 'ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน' จัดโดยธปท. ตอนหนึ่งว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงจะกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังไตรมาส 2 นั้น จะเป็นลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เราคงไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วอย่างก้าวกระโดด…ถ้าเราสามารถควบคุม (โควิด-19) ได้ แม้อาจมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆบ้าง แต่ไม่มีการระบาดรุนแรง เราคิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆทยอยกลับฟื้นตัวขึ้นมา อาจจะใช้เวลาจนถึงปลายปีหน้า ซึ่งหมายความว่าจะใช้เวลาถึง 2 ปี ในการค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งคงไม่เรียกว่าเป็นตัว 'U' แต่จะเป็นเครื่องหมาย 'ถูก' ที่มีหางยาวๆ ตกลงมาแล้วค่อยๆฟื้น” นายวิรไทระบุ
นายวิรไท ระบุว่า เศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนว่าจะ ‘ลงลึก’ กว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นเพราะเราเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพากับเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 40 ล้านคน เหมือนก่อนเกิดโควิด-19 จะต้องใช้เวลาหลายปี เช่นเดียวกับการส่งออกที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าลดลงมากจากวิกฤติครั้งนี้
นายวิรไท กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนเป็นกังวลมากที่สุดในวิกฤติโควิด-19 รอบนี้ คงเป็นเรื่องของการจ้างงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับไทยแรงมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งทั้งสองภาคเป็นภาคที่มีการจ้างงานอยู่ในระดับที่สูง ทำให้แรงงานต้องตกงานกันเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญหากมองไปยาวๆ จะพบว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าหลายคนก็จะไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในโลกใหม่ได้
“ตลาดแรงงานในโลกใหม่หลังโควิด-19 จะต่างไปจากตลาดแรงงานในช่วงก่อนหน้านี้ อันแรก คือ กำลังการผลิตส่วนเกินมันอยู่สูงมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก หลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาประเทศไทยปีละ 40 ล้านคนเหมือนเดิม ต้องใช้เวลาอีกหลายปี แรงงานจำนวนมากที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไม่สามารถที่จะกลับเข้ามาได้
และหากผ่านไป 2 ปี 3 ปี 4 ปี เขาก็อายุมากขึ้น รูปแบบของนักท่องเที่ยวก็จะแตกต่างไปจากเดิม กรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆที่เคยเข้ามา ก็จะเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มทัวร์เล็กลง ซึ่งก็ต้องมาดูว่าทักษะของแรงงานที่ตกงานจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้เขามีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท เป็นห่วงว่า สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเป็นช่วงที่หางานยากมาก ถ้าน้องๆที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ต้องว่างงานไป 2 ปี ทั้งในทางทฤษฎีและงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานพบว่า จะมีผลข้างเคียงระยะยาวถึงศักยภาพ รวมถึงความสามารถในการหางานของเรา เพราะอย่าลืมว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีคนรุ่นใหม่จบออกมา และจบออกมาด้วยทักษะใหม่ด้วย ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะให้แน่ใจว่า 2-3 ปีนี้จะสร้างแผลเป็นให้กับเขา
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ ‘ชวนท้องถิ่น พลิกมุมคิด...มองโลกใหม่หลังโควิด’ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นปรากฎการณ์ที่ใหญ่มาก ซึ่งในแง่สาธารณสุขจะพบว่าเป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี นับตั้งแต่เกิดไข้หวัดสเปนเมื่อ 102 ปีก่อน แต่หากเป็นในแง่เศรษฐกิจจะพบว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากเมื่อ 90 ปีก่อน เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ ‘Great depression’
อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 ที่กำลังจะเปลี่ยนโลกเดิมไปสู่โลกใหม่นั้น จะทำให้ในช่วง 2 ปีนับจากนี้เป็น 2 ปี ที่ตื่นเต้นและไม่แน่นอนที่สุด โดยตัวที่สามารถเปลี่ยนเกมส์ได้ 3 อย่าง คือ 1.การค้นพบวัคซีน 2.ยารักษาโรค และ3.การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้น และเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ายารักษาโรคและการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมส์ใหญ่ แต่ตัวเปลี่ยนเกมส์ใหญ่ คือ วัคซีน แต่มีข่าวร้าย คือ กว่าจะมีวัคซีนใช้ทั่วหน้าต้องใช้เวลา 2 ปีขึ้นไป
“ภายใน 2 ปีนี้ เราจะเจอสภาพการณ์ที่ไม่ปกติ หรือโลกที่ผลิกผัน หรือ ‘VUCA’ คือ เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ เราจะรู้ว่ามีอะไรที่เราไม่เข้าใจอีกมาก ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจและแยกแยะให้ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสหรัฐพบวัคซีนก่อน เราต้องเตรียมเงินไว้ซื้อ แต่ถ้าเป็นจีนที่พบวัคซีน เราก็ต้องดัดแปลงโรงงานเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนสูตรที่จีนให้มา หรือเราอาจต้องทำ 2 อย่าง เหมือนกับผู้ส่งออกที่ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” นายสมเกียรติกล่าว
(สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์)
นายสมเกียรติ ระบุว่า โลกใหม่หลังโควิดจะมาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ เช่น เดิมธุรกิจเน้นประสิทธิภาพและกำไรสูงสุด หรือรัฐบาลเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้จีดีพีใหญ่ที่สุด แต่โลกหลังโควิด การบริหารความเสี่ยงจะเป็นสิ่งที่มีสำคัญมาก จึงต้องเน้นการบริการความเสี่ยงควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะความเสี่ยงนั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโควิด แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ตั้งแต่ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ผันผวน
“นอกจากเรื่อง ‘just in time’ แล้ว ยังต้องมีเรื่อง ‘just in case’ ด้วย เช่น ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เราจะปรับสายการผลิตอย่างไร ให้เราส่งมอบสินค้าได้ แต่ตัวที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ โลกใหม่จะมีข้อจำกัดใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติจะลดลง ในขณะที่คนยากจนเพิ่มขึ้น ฐานะการคลังของแต่ละประเทศแย่ลง และคนมีกำลังซื้อลดลง ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 5-6 ปีข้างหน้า” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ ยังกล่าวว่า โลกหลังโควิดจะมีสิ่งที่เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ 1.สิ่งที่เร่งการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีอันเนื่องจาก From home economy หรือเศรษฐกิจที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำงานจากบ้านก็ได้ ซึ่งจะทำให้ 5G เกิดเร็วขึ้น มีการใช้ Cloud Computing เพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ บริษัทใหญ่มีการคืนพื้นที่สำนักงานให้เช่า และให้พนักงานเข้ามาทำงานที่สำนักงานแค่ 1-2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น
2.สิ่งที่ชะลอการเปลี่ยนแปลงช้าลง ได้แก่ พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเมื่อราคาน้ำมันถูกลงตามความต้องการที่ลดลง การพัฒนาพลังงานทางเลือกจะช้าลง เพราะพลังงานเหล่านี้จะต้องไปแข่งกับพลังงานดั่งเดิม เช่นเดียวกับการลงทุนหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติก็จะช้าลง โดยเฉพาะในไทยที่มีการใช้กำลังการผลิตเพียง 60% ซึ่งการลงทุนเพื่อยกระดับไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต้องใช้เวลา ในขณะที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว และแรงงานมีมากมาย
นอกจากนี้ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) จะช้าลง เพราะงบประมาณของรัฐจะหายไป เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย นครราชสีมา-หนองคาย จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิดได้
และ3.สิ่งที่จะย้อนกลับ คือ ที่ผ่านมากระบวนโลกาภิวัฒน์ และการค้าขายเสรี ทำให้เราเคยลดความยากจนลงไปได้มาก แต่โลกหลังจากโควิดจำนวนคนจนจะกลับไปเพิ่มมากขึ้น
นายสมเกียรติ เสนอว่า การเอาตัวรอดของภาคธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิดมี 6 ข้อ ได้ 1.เก็บเงินสด 2.ลดต้นทุน 3.อุดหนุนเครือข่าย 4.กระจายความเสี่ยง 5.เพียงอย่าท้อใจ และ6.โอกาสใหม่รออยู่
อ่านประกอบ :
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/