ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจมิ.ย.ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการยังห่วงกำลังซื้อไม่ฟื้น เผยความเชื่อมั่นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าพุ่งเหนือระดับ 50 รับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ขณะที่ ‘กกร.’ หั่นจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 8% หลังส่งออก-ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กังวลบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมิ.ย.63 ว่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 34.4 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ 38.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ดัชนีฯปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50
อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ รวมที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนว่าแม้ปัจจุบันจะกลับมาเปิดเมืองได้เกือบเป็นปกติแล้ว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อที่ลดลงและการรักษามาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้รายได้ของธุรกิจยังกลับมาไม่มากนัก ซึ่งบางส่วนมองว่าอาจยังไม่คุ้มที่จะกลับมาเปิดให้บริการ
ธปท.ยังระบุว่า ดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากองค์ประกอบด้านการผลิต คำสั่งซื้อและผลประกอบการที่ปรับดีขึ้นมาก แต่ด้านการจ้างงานดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แสดงว่าแม้การผลิตและการบริการจะเริ่มฟื้นตัว แต่ส่งผลดีไปสู่การจ้างงานไม่มากนัก
ส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 47.0 โดยเพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตยานยนต์และผลิตอาหาร รวมถึงกลุ่มค้าปลีกที่ดัชนีฯ ปรับดีขึ้นมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 เล็กน้อย สะท้อนว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้เริ่มมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากปัจจุบัน โดยผู้ผลิตยานยนต์ ส่วนใหญ่กลับมาเตรียมผลิตเพิ่มขึ้นสำหรับขายในอนาคต ตามการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีความเชื่อมั่นดีขึ้น เนื่องจากปัญหาการขนส่งสินค้าเริ่มหมดไปตามการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ของหลายประเทศ จึงทำให้คาดการณ์คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ใน sector อื่นๆ ยังอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลว่าธุรกิจจะแย่ลงจากปัจจุบัน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆพบว่า ดัชนีฯ ด้านสภาพคล่องปรับสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังรายงานว่าได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่เพียงพอต่อการด่าเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ แม้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มคลายความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตามสถานการณ์ COVID-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การแข่งขันในประเทศรุนแรงขึ้น และเป็นข้อจำกัดเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงมาอยู่ที่ 1.4%
วันเดียวกัน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมกกร.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็น -5% ถึง -8% จากเดิมที่คาดว่าจะ -3% ถึง -5% ส่วนการส่งออกอยู่ที่ -7% ถึง -10% จากเดิม -5%ถึง -7% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป -1% ถึง -1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ -1.5% ถึง 0% ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆอีกหลายด้าน
นายปรีดี ระบุว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากเครื่องชี้วัดต่างๆพบว่ากำลังซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจยังอ่อนแรง ส่วนการส่งออกและการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ในขณะที่การระบาดของโควิดในบางประเทศยังไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกกร. กังวลเกี่ยวกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และมีทิศทางที่จะแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการใช้มาตรการคิวอีของสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลง
อ่านประกอบ :
เศรษฐกิจพ.ค.ทรุดต่อ! ธปท.เผย ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ลบหนัก-บริโภคเอกชนกระเตื้อง
ส่งออกพ.ค.ติดลบ 22.5%! ‘พาณิชย์’ ชี้โควิดกระทบแรง-ชงรัฐแก้ปัญหาต้นทุนขนส่ง
ชำแหละ ‘รายจ่าย-แผนกู้’ ปีงบ 64 รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ มองข้ามช็อต 'ศก.ฟื้น-โควิดยุติต้นปีหน้า'
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/