‘ศรีสวัสดิ์’ รับข้อเสนอ ‘สภาผู้บริโภค’ ติดประกาศแจ้งผู้บริโภค 'กู้เงินแล้วต้องได้ 'คู่สัญญ'-ไม่บังคับทำประกัน’ หลังถูกร้องเรียนปมไม่ส่งมอบ ‘คู่สัญญา’-บังคับซื้อประกันพ่วงทำ 'สัญญาเงินกู้'
....................................
จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้าร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค กรณี บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ทำสัญญาสินเชื่อไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การไม่มอบเอกสารคู่สัญญา เสนอขายประกันพ่วงโดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ การให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน การคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม และฟ้องคดีเรียกชดใช้เงินตามสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม
กระทั่งต่อมาวันที่ 30 ก.ค.2567 ผู้บริหารของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าพบอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค เลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกู้สินเชื่อของบมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น นั้น
ล่าสุด นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคได้ติดตามความคืบหน้า และได้รับข้อมูลจากผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานใหญ่ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอร์เรชั่น ว่า ปัจจุบันบริษัทฯได้ติดประกาศที่หน้าสำนักงานทุกสาขาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่า เมื่อทำสัญญาเงินกู้แล้วสามารถรับคู่สัญญาได้ และไม่มีการบังคับซื้อประกันพ่วงกับการทำสัญญาเงินกู้
“ถ้าดูข้อมูลเรื่องร้องเรียน หลังจากการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 ยังพบเรื่องร้องเรียนที่เกิดปัญหาขึ้นกับสัญญาเดิม ซึ่งมีมาก่อนการพูดคุย แต่ยังไม่พบผู้เสียหายรายใหม่ที่เกิดปัญหาหลังจากบริษัทฯได้ออกประกาศ ซึ่งสภาผู้บริโภคจะติดตามการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องชื่นชมบริษัทศรีสวัสดิ์ที่ปรับตัวตามข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ในเรื่องการส่งมอบสัญญาเงินกู้ การไม่บังคับทำประกันภัย และหวังว่าบริษัทฯ จะปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายให้มีความยั่งยืน เพื่อเป็นธุรกิจเงินกู้ที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภค” นายภัทรกร ระบุ
(ภัทรกร ทีปบุญรัตน์)
สำหรับการประสานความร่วมมือในการเจรจาไกล่เกลี่ยเจรจาและช่วยเหลือผู้บริโภค นั้น สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อมูลต่างๆ ให้กับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น แล้ว โดยกรณีที่มีคำพิพากษาและมีคำบังคับคดีนั้น ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือสำเร็จแล้วหลายกรณี เช่น คืนโฉนดที่ดิน โดยไม่ต้องถูกบังคับการขายตลาด ส่วนกรณีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือด้านคดี โดยจัดหาทนายเข้าต่อสู้ในคดี รวมทั้งการไกล่เกลี่ยในชั้นศาลด้วย
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการผิดสัญญาแต่ยังไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความนั้น อยู่ระหว่างมีการเจรจา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคตามสัญญา
นายภัทรกร กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องการไม่ได้รับคู่สัญญานั้น ผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมกู้ยืมกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ฯ สามารถใช้สิทธิขอคู่สัญญาตามสิทธิผู้บริโภคเรื่อง “สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา” และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อบริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2545 ข้อ3(8) ซึ่งบริษัทฯต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินฯไว้เป็นหลักฐานทันทีที่ผู้บริโภคลงนามสัญญา
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคไม่ได้รับสัญญาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือประกาศของบริษัทฯ รวมทั้งกรณีที่พบว่าเอกสารสัญญาที่ได้รับเป็น “ตั๋วสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้” แทนสัญญาเงินกู้ ซึ่งถือเป็นนิติกรรมอำพราง และผิดเจตนาในการเข้าทำสัญญากู้ยืมสามารถร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคได้ที่เบอร์ 1502 รือผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ tcc.or.th ไลน์ออฟิเชียล @tccthailand หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค
อ่านประกอบ :
‘ศรีสวัสดิ์’ย้ำมี'ธรรมาภิบาล'ปล่อยกู้ลูกค้า-เผย‘บ.ลูก’ยังไม่ได้เอกสาร DSI แจ้งข้อกล่าวหา
DSI รับเรื่อง‘ศรีสวัสดิ์’คิดดบ.เกินกม.เป็นคดีพิเศษ โฆษกฯแจงมีผู้เสียหาย 4 ราย-เร่งสอบสวน
‘สภาผู้บริโภค’ยก 6 ปมชี้สัญญาเงินกู้‘ศรีสวัสดิ์’ส่อผิดกม.-บริษัทฯแจงแก้ไข-ลงโทษพนง.แล้ว
‘สภาผู้บริโภคฯ’ โต้ ‘ศรีสวัสดิ์’ แจงปมเอาเปรียบผู้บริโภค‘ไม่ตรงประเด็น-ทำให้คนสับสน’
‘ศรีสวัสดิ์’ร่อนหนังสือแจง 8 ประเด็น หลัง‘สภาผู้บริโภคฯ’จี้ลงโทษกรณีเอาเปรียบผู้บริโภค
ส่อผิดหลายข้อหา!จี้ลงโทษ‘ศรีสวัสดิ์’ คิดดบ.เกินกม.-หักต้น-พ่วงขายประกัน-เรียกค่าไถ่โฉนด