‘ดีเอสไอ’ รับเรื่อง คดี ‘ศรีสวัสดิ์’ คิดดอกเบี้ยลูกค้าเกินกฎหมายเป็น ‘คดีพิเศษ’ ขณะที่ ‘สคบ.’ กล่าวโทษบริษัทฯต่อ ‘บก.ปคบ.’ ปมไม่ส่งมอบสัญญา ด้าน 'สภาผู้บริโภค' ได้รับเรื่องร้องเรียนรวม 126 เคส ช่วยเหลือ 'ผู้บริโภค' ถูกฟ้อง 12 คดี 'โฆษกดีเอสไอ' แจงมีผู้เสียหาย 4 ราย ย้ำ 'ผู้ถูกกล่าวหา' ยังบริสุทธิ์
.........................................
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่า DSI ได้รับเรื่องกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภคมีหนังสือร้องเรียน บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และบริษัทในเครือประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยรับเป็นคดีพิเศษเลขที่ 47/2567
“เราพร้อมสนับสนุน DSI ทำคดีนี้อย่างเต็มที่ และยินดีสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี และเชิญชวนผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบในลักษณะเดียวกัน มาร้องเรียนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สภาฯยังได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้ตรวจสอบการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค กรณีกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ ไม่ดำเนินการส่งมอบสัญญากู้ยืมเงิน และไม่มีการแสดงรายละเอียดสัญญากู้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ โดยล่าสุด สคบ.ได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แล้ว
น.ส.สารี ระบุว่า ปัญหาเงินกู้หรือปัญหาธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแล โดยสภาผู้บริโภคได้จัดหาทนายความเพื่อสนับสนุนการถูกฟ้องคดีของผู้บริโภคทุกคดีจนได้รับความเป็นธรรม และได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีการดำเนินการกับกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ เป็นต้น
ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เผยแพร่เอกสารข่าว โดยมีเนื้อหา DSI ได้รับหนังสือสอบถามข้อมูลและขอความเป็นธรรมจากผู้บริหารบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด กรณีปรากฏภาพหนังสือราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 2 พ.ค.2567 เผยแพร่ผ่านช่องทางสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ในหลายกลุ่ม มีสาระสำคัญว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีการรับกรณีที่มีบุคคลกล่าวหาบริษัทข้างต้นว่ากระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อของบริษัทฯ ไว้เป็นคดีพิเศษ
เอกสารที่เผยแพร่ข้างต้นนั้น ทำให้กลุ่มบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ฯ ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทฯ ขอสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พร้อมกับแจ้งว่าผู้เสียหายจะมายื่นขอถอนเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษจำนวนหลายราย เนื่องจากเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่ติดใจดำเนินคดี ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีความพร้อมในการนำข้อมูลพยานหลักฐานเข้าชี้แจงเพื่อยันยันความบริสุทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ นั้น
จากกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลมากล่าวหาบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้าลักษณะที่จะต้องสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 2 พ.ค.2567 แจ้งผู้ร้องทราบว่าได้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ อันเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นตามกฎหมาย ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฏหมาย ซึ่งหลังจากนี้จะได้ทำการสอบสวนต่อไป สำหรับประเด็นที่มีผู้มาถอนเรื่องนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งรัดตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือสอบถามข้อมูลและขอความเป็นธรรมจากผู้บริหาร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด
โดยระบุถึงกรณีปรากฏภาพหนังสือราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 2 พ.ค.2567 เผยแพร่ผ่านช่องทางสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ในหลายกลุ่ม มีสาระสำคัญว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีการรับกรณีที่มีบุคคลกล่าวหาบริษัทข้างต้นว่ากระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อของบริษัทฯ ไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งเอกสารที่เผยแพร่ข้างต้นนั้น ทำให้กลุ่มบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ฯ ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ
โดยบริษัทฯ ขอสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พร้อมกับแจ้งว่าผู้เสียหายจะมายื่นขอถอนเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษจำนวนหลายราย เนื่องจากเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่ติดใจดำเนินคดี
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลมากล่าวหาบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้าลักษณะที่จะต้องสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 2 พ.ค.2567 แจ้งผู้ร้องทราบว่าได้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ อันเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นตามกฎหมาย
"ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้จะได้ทำการสอบสวนต่อไป สำหรับประเด็นที่มีผู้มาถอนเรื่องนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งรัดตรวจสอบและดำเนินการต่อไป เบื้องต้น ทราบว่ามีผู้เสียหายคงเหลือน้อยกว่า 4 ราย และมีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่า 500,000 บาท โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันว่าจะให้ความยุติธรรมกับทุกคนอย่างเต็มที่" พ.ต.ต.วรณันกล่าว
วันเดียวกัน น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) กล่าวถึงกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเรื่องการร้องเรียนการดำเนินธุรกิจของบริษัทอีกครั้ง และเร่งรัดให้ DSI ดำเนินการตรวจสอบบริษัทโดยเร็ว ว่า บริษัทขอชี้แจงรายละเอียดว่า บริษัทได้ประกอบธุรกิจในการให้บริการสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายและไม่เคยมีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวอ้าง
โดยกรณีที่ถูกร้องเรียนเป็นลูกค้ากลุ่มเดิม ซึ่งบางรายเมื่อได้เข้าใจเรื่องก็ได้ชำระเงินปิดบัญชีครบและได้หลักทรัพย์คืนไปนานแล้ว ขณะที่ทางดีเอสไอได้ดำเนินการขอข้อมูลลูกค้าจากทางบริษัท ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติในการสอบสวน และทางบริษัทได้ให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลแก่ดีเอสไอและทุกหน่วยงานด้วยข้อมูลเป็นปกติ
"หากลูกค้ามีข้อสงสัย บริษัทพร้อมให้ข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ลูกค้า เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการรับข้อมูลจากบุคคลที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าและบริษัท โดยบริษัทขอยืนยันว่าบริษัทดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมมาภิบาล ประกอบธุรกิจภายใต้ข้อบังคับและกฎหมายที่หน่วยงานกำกับดูแลด้วยความเคร่งครัด จึงขอแสดงเจตจำนงแก่ลูกค้า พันธมิตร นักลงทุน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมทุกประการ" น.ส.ธิดา กล่าว
@'สภาผู้บริโภค'จี้ภาครัฐกำกับดูแลคิดดอกเบี้ยเกินกม.
ด้าน นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผู้บริโภคถูกผู้ประกอบธุรกิจฯคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐยังไม่ได้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และหากภาครัฐยังมุ่งแก้ไขเฉพาะผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล รวมทั้งไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตสามารถหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง
“ผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับข้อสัญญาของตัวเอง ดังนั้น การมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองได้มากขึ้น” นายจิณณะ กล่าว
นายจิณณะ ยังเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดิน เช่นเดียวกับที่ได้มีการกำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีก รวมทั้งอาจกระทบต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้บริโภค จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเองผ่านการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน สภาฯได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมากกว่า 126 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการทำสัญญาเงินกู้กับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองในประเด็นต่างๆ เช่น ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยไม่เป็นธรรม ถูกคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ และให้ลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าที่ยังไม่มีข้อความที่สมบูรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคยังได้เข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างไม่เป็นธรรมอย่างน้อย 12 คดี
ขณะที่ น.ส.นันณภัชสรณ์ เตชปัญญาพิพัฒน์ ทนายความ ซึ่งรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับเงินกู้ศรีสวัสดิ์ 5 คดี ได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมของบริษัทสินเชื่อฯที่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก เช่น บริษัทฯฟ้องว่าผู้บริโภครายหนึ่งที่กู้เงิน 140,000 บาท ทั้งๆที่โอนเงินเข้าบัญชีของผู้บริโภครายดังกล่าวเพียง 130,726 บาท และอ้างว่าที่เหลือจำเลยรับเป็นเงินสด 9,274 บาท จึงมีข้อพิรุธว่าเหตุใดจึงไม่โอนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน
ขณะเดียวกัน ศาลฯได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า เมื่อผู้บริโภคได้ชำระเงินรายงวดให้บริษัทฯไปแล้ว 70,901 บาท ศาลจึงพิพากษาให้ผู้บริโภคต้องชำระเฉพาะส่วนที่เหลือ 59,825 บาท หรือเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทฯโอนเงินเข้าบัญชีของผู้บริโภค 130,726 บาท
ส่วนกรณีที่บริษัทฯคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหนึ่งว่า บริษัทฯมีการคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 24 ต่อปี จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และมีผลทำให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภคได้ แต่ก็พบว่าในบางคดี บริษัทฯพยายามจะเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ศาลไม่ต้องวินิจฉัยคดี
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภค’ยก 6 ปมชี้สัญญาเงินกู้‘ศรีสวัสดิ์’ส่อผิดกม.-บริษัทฯแจงแก้ไข-ลงโทษพนง.แล้ว
‘สภาผู้บริโภคฯ’ โต้ ‘ศรีสวัสดิ์’ แจงปมเอาเปรียบผู้บริโภค‘ไม่ตรงประเด็น-ทำให้คนสับสน’
‘ศรีสวัสดิ์’ร่อนหนังสือแจง 8 ประเด็น หลัง‘สภาผู้บริโภคฯ’จี้ลงโทษกรณีเอาเปรียบผู้บริโภค
ส่อผิดหลายข้อหา!จี้ลงโทษ‘ศรีสวัสดิ์’ คิดดบ.เกินกม.-หักต้น-พ่วงขายประกัน-เรียกค่าไถ่โฉนด