‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ จี้เอาผิด ‘ศรีสวัสดิ์’ ตามกฎหมาย หลังพบเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้ง ‘คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมาย-หักเงินต้น-พ่วงขายประกัน-เรียกค่าไถ่โฉนด’ เรียกร้อง ‘ธปท.-คลัง’ เข้ามากำกับดูแลธุรกิจ ‘สินเชื่อบ้านและที่ดินโดยไม่จดจำนอง’
......................................
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ ‘เปิดกลลวง บริษัทสินเชื่อ’ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคที่จะเข้าไปใช้บริการ ‘สินเชื่อบ้านและที่ดินโดยไม่จดจำนอง’
โดยนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งว่า ผู้บริโภครายนี้ได้เข้าไปทำสัญญากู้เงินสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองกับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน ซึ่งจากข้อมูลบนหน้าเว็บเพจของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน มีการโฆษณาว่าการกู้เงินดังกล่าว ไม่มีค่าธรรมเนียมหรือ ‘ฟรีค่าธรรมเนียม’ และ ‘ไม่ต้องจดจำนอง’
ทั้งนี้ ผู้บริโภครายนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บริษัทฯกำหนด โดยนำโฉนดที่ดินของตนเองไปประเมินกับกรมที่ดินว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ พร้อมทั้งนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ไปยื่นกับสาขาที่ตั้งของบริษัทฯ แต่ปรากฏว่า หลังจากที่ผู้บริโภครายนี้ลงลายมือชื่อยินยอมตกลงเข้าทำสัญญาเงินกู้แล้ว เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯได้นำเอกสารที่ไม่มีการระบุรายละเอียดข้อความและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ มาให้ผู้บริโภครายนี้ลงนาม
นายภัทรกร กล่าวต่อว่า หลังจากผู้บริโภครายนี้ได้รับแจ้งวงเงินสินเชื่อที่และตกลงทำสัญญาเงินกู้กับบริษัทฯ ในวงเงิน 200,000 บาท นั้น ปรากฏว่าในใบเสร็จรับเงินกู้มีการระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินสดไปแล้ว 4,000 บาท แต่ข้อเท็จจริง คือ ผู้บริโภครายนี้ไม่ได้รับเงินสดดังกล่าวเลย และใบเสร็จรับเงินกู้ยังระบุด้วยว่า มีวงเงินคงเหลือที่จะต้องโอนเข้าบัญชีของผู้กู้ จำนวน 205,000 บาท แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภครายนี้ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารจริงเพียง 199,946 บาท เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯยังให้ผู้บริโภครายนี้ทำประกันชีวิตด้วย โดยที่สัญญาประกันชีวิตดังกล่าว ได้ระบุวงเงินคุ้มครองฯเป็น 209,000 บาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ผู้บริโภคได้รับอนุมัติวงเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าเจ้าหน้าที่ที่ให้ทำนิติกรรมสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้บริโภคดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตตัวแทนขายประกันฯ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่อย่างใด
นายภัทรกร ยังระบุว่า จากใบเสร็จรับเงินกู้ดังกล่าวยังปรากฏข้อมูลว่า ผู้ให้กู้ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้บริโภครายนี้ กลับไม่ใช่บริษัทเจ้าของเว็บไซต์ที่โฆษณา คือ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน แต่เป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน ถือหุ้น 99% ในขณะที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหลังเซ็นสัญญาแล้ว ผู้บริโภครายนี้ไม่ได้รับสัญญาคู่ฉบับกลับไป โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทอ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัท
นอกจากนี้ ในตารางชำระเงินสินเชื่อ กำหนดให้ผู้กู้เลือกผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวก็ได้ โดยคิดดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน หรือหากเลือกผ่อนชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น จะกำหนดให้ผ่อนชำระได้ 12 งวด โดยงวดที่ 1-11 ให้ผ่อนชำระได้ไม่เกินงวดละ 6,650 บาท ส่วนที่จ่ายเกินจะไม่นำไปหักส่วนที่เป็นเงินค่างวดในงวดถัดไป และในงวดที่ 12 ให้ผ่อนชำระไว้สูงถึง 186,010 บาท ดังนั้น หากผู้กู้ชำระไม่ได้ ก็ต้องต่อสัญญาเงินกู้ ซึ่งทำให้บริษัทฯเรียกค่าธรรมเนียมเพิ่มได้
“สิ่งที่เราคิดคำนวณมา ถ้าคิดดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน ก็เท่ากับ 24% ต่อปี แต่ถ้าคิดจากยอดเงินที่ผู้กู้ได้รับจริงที่ 199,946 บาท จะพบว่าดอกเบี้ยจริงๆจะอยู่ที่ 29.61% ต่อปี ในขณะที่บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้นั้น ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ ดังนั้น การที่บริษัทฯไปเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้บริโภคที่ 2% ต่อเดือน หรือ 24% ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 15% ต่อปี” นายภัทรกร กล่าว
นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อผู้บริโภครายนี้ผ่อนชำระค่างวดครบตามสัญญาแล้ว ได้ไปขอโฉนดคืนจากบริษัทฯ แต่กลับถูกบริษัทฯเรียกเก็บค่าประเมินหลักประกันเป็นเงิน 8,000 บาท ทั้งๆที่ในโฆษณาของบริษัทฯ ระบุว่า ฟรีค่าธรรมเนียม และในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคเป็นคนขอหนังสือประเมินจากสำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากผู้บริโภครายนี้จำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดินจึงยอมจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว และไม่ประสงค์ดำเนินการต่อ
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ จึงเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้ข้อมูลดังกล่าว และคาดว่าน่าจะมีกรณีในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายกรณี ทั้งนี้ สภาฯได้ทำหนังสือสอบถามไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศว่า มีคดีที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริโภคในคดีต่างๆเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งมา แต่จากการเบื้องต้นพบว่ามีคดีที่ ศรีสวัสดิ์ฯฟ้องผู้บริโภคแล้วไม่น้อยกว่า 156 คดี
นายภัทรกร กล่าวสรุปว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค รวม 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ผู้ขอสินเชื่อไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญาจากบริษัทฯ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในการถูกฟ้องคดี 2.มีการขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วง โดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ และมีการเฉพาะเจาะจงบริษัทประกันที่กำหนด 3.มีการคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน หรือ 24% ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 15% ต่อปี
4.ผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ 5.มีการโฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่กลับมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ 6.บริษัทฯจำกัดการชำระเงินต้น ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7.กำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน หากไม่สามารถชำระได้ จะให้ทำสัญญากู้ใหม่และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในปีถัดไป และ 8.เมื่อชำระเงินกู้ครบตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทไม่คืนโฉนด โดยอ้างว่าผู้กู้มีคงค้างเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ
ด้าน นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค และทนายความ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงพบว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้สินเชื่อที่อยู่ในการควบคุมของ ธปท. และกระทรวงการคลัง จึงต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 คือ เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกิน 15% ต่อปี
ดังนั้น การที่บริษัทฯเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตรา 2% ต่อเดือน หรือ 24% ต่อปี จึงเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญาให้ผู้กู้ยืมเงิน ถือว่าฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 35 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับกรณีการโฆษณาเรื่องฟรีค่าธรรมเนียม แต่สุดท้ายมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม นั้น ผู้โฆษณาหรือผู้ได้รับประโยชน์จากโฆษณา หรือบุคคลใดที่มีลักษณะเกี่ยวโยงกันในรูปบริษัทแม่และบริษัทลูก หรือบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทลูกเกิน 50% จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือโฆษณาเป็นเท็จหรือไม่ และมีโทษอย่างไร
นายจิณณะ ระบุว่า ส่วนเรื่องการขายประกันพ่วงนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการไม่เคารพสิทธิหรือไม่ปฏิบัติตามสิทธิของผู้บริโภค และถือว่าผิดหลักการอิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญา ดังนั้น คปภ. จึงต้องเข้ามาตรวจสอบว่าพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายผิดกฎหมายของ คปภ.หรือไม่ และมีบทลงโทษอย่างไร
ขณะเดียวกัน กรณีที่ผู้ขอสินเชื่อทำสัญญากับ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด แต่บริษัทไม่ได้จ่ายเงินเต็มตามจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ อาจเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ และหากมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยเฉพาะกรณีที่มีการ ‘เซ็นเปล่า’ แล้วบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปเติมข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จะเข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งกรณีที่เป็น ‘เอกสารสิทธิ’ โทษหนักกว่าการปลอมแปลงเอกสารปกติ
นายจิณณะ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการจำกัดการชำระเงินต้น หรือจ่ายเงินต้นให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน นั้น สะท้อนว่าบริษัทฯไม่ได้มีธรรมาภิบาลหรือคุณธรรมเพียงพอในการประกอบธุรกิจ โดยมุ่งหาประโยชน์หรือกำไรจากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม และกรณีดังกล่าวก็เข้าข่ายเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และสื่อไปในทางไม่สุจริต
นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ต้องชำระเงินกู้ภายใน 12 เดือนนั้น ทำให้ผู้บริโภคต้องหาเงินมาชำระให้หมดภายในเวลาที่กำหนด แต่หากไม่สามารถชำระได้ครบจะต้องทำสัญญาใหม่ไปเรื่อยๆ และผู้ให้กู้สามารถเรียกค่าธรรมเนียมจากผู้กู้ได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ส่วนกรณีเรียกเก็บค่าไถ่โฉนด โดยอ้างว่าเป็นค่าประเมินหลักประกัน ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคเป็นคนขอหนังสือประเมินจากสำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง จะต้องไปดูว่าเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่
“กรณีนี้อาจมองว่าไม่มีหลักประกัน เพราะโฉนดไม่ได้จำนอง แต่เอาไปวางไว้เฉยๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่รู้กฎหมายจะรู้ดีกว่า การที่เอาโฉนดไปวางไว้ให้กับผู้ให้กู้ ทำให้เขาแทบสิ้นอิสรภาพในกรรมสิทธิ์ของโฉนดแปลงนั้น ที่จะเอาไปขาย จำนองหรือหาเงินมาหมุน แน่นอนคุณยังใช้บ้าน ที่ดิน ตรงนั้นได้ แต่จะหมดอิสรภาพในการนำหลักประกันตรงนี้ ไปหาวงเงินมาจ่ายเขา เพราะต้นฉบับอยู่ที่เขา เพราะเวลาทำธุรกรรมต้องเอาต้นฉบับไปทำที่สำนักงานที่ดิน
แล้วถ้าไปแจ้งความว่า โฉนดหาย ก็เป็นการแจ้งความเท็จ ซึ่งเขาดักทางไว้หมดแล้ว กรณีเช่นนี้ ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเลย ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล โดยเฉพาะกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่ ก.ล.ต.เอง ก็เน้นย้ำเรื่องการประกอบกิจการที่ดี และจากพฤติการณ์เหล่านี้ ต้องดูว่ากรรมการของบริษัทฯ รู้เห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งเหล่านี้ ถ้ามีส่วนและเข้าข่ายความผิดใด ก็อาจสะเทือนไปถึงกรรมการด้วย” นายจิณณะ กล่าว
นายจิณณะ ยังระบุว่า ไม่ใช่เฉพาะแต่ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด เท่านั้น ที่มีพฤติการณ์แบบนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายบริษัทที่มีพฤติการณ์แบบนี้ ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้เป็นภัยต่อสังคม เพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจแย่มาก อย่างไรก็ดี สภาองค์กรของผู้บริโภค จะเข้าไปตรวจสอบในทุกกรณีที่มีการกระทำความผิด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ด้าน นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.ขอให้ สคบ. ตรวจสอบการโฆษณาเกินจริง และดำเนินการตามกฎหมายกรณีการไม่ส่งมอบสัญญาให้ผู้บริโภค 2.ขอให้ คปภ. ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ กระทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประกอบกิจการที่เกี่ยวกับประกันภัย
และ 3.ขอให้ ธปท. หรือกระทรวงการคลัง กำกับดูแลสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินที่ไม่มีการจดจำนอง เช่นเดียวกับที่เคยกำกับทะเบียนรถยนต์
“สินเชื่อที่เอาโฉนดมายึดไว้ โดยไม่เรียกว่าเป็นหลักประกัน นั้น การกำกับดูแลสัญญาดังกล่าว หน่วยงานรัฐจะต้องพิจารณาว่าจะทำให้เข้มข้น และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไรได้บ้าง ส่วนเรื่องประกันภัยและประกันชีวิต ผู้บริโภคจะต้องไม่ถูกบังคับให้ทำประกัน ผู้บริโภคต้องมีสิทธิเลือกสินค้าหรือบริการ จึงเป็นเรื่องที่ คปภ. จะต้องเข้ามากำกับดูแล และทุกวันนี้เกิดคำถามว่า สินเชื่อที่นำโฉนดที่ดินมายึดถือไว้ ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
ทำให้มีช่องโหว่ มีการโฆษณาหลอกลวง เกิดการใช้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม การมีตัวแทนหรือมีการคิดดอกเบี้ยที่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ส่งมอบสัญญา ไม่คืนโฉนด หรือมีการเรียกค่าโฉนด จึงต้องมีหน่วยงานมากำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เพราะอย่างธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน คือ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ อันนี้อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง มีการออกประกาศควบคุม มีหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น สินเชื่อตัวนี้ ก็ควรมีหน่วยงานมากำกับดูแลเช่นกัน” นายโสภณ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในงานแถลงข่าวดังกล่าว มีผู้บริโภครายหนึ่ง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจาก 'สินเชื่อบ้านและที่ดินโดยไม่จดจำนอง’ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากธุรกิจของตนเองขาดสภาพคล่อง ตนจึงไปยื่นขอสินเชื่อบ้านและที่ดินโดยไม่จดจำนองกับศรีสวัสดิ์ฯ โดยนำโฉนดที่ดินไปค้ำประกัน และได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 100,000 บาท แต่มีเงินโอนเข้าบัญชีจริง 92,000 บาท ส่วนอีก 8,000 บาท บริษัทฯบอกว่าจะให้เงินสด แต่ความจริง ไม่มีการจ่ายเงินสดส่วนนี้ให้กับตน รวมทั้งให้ทำประกันด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯยังให้ตนเซ็นชื่อลงในกระดาษเปล่าทิ้งไว้ ซึ่งตอนนั้นตนก็รู้สึกเอะใจกับการสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯให้ทำ แต่เนื่องจากตนไม่มีทางเลือกและตกอยู่ในภาวะจำยอม เพราะต้องการสินเชื่อไปหมุนธุรกิจต่อ จึงต้องทำตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอก เพราะไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้เงินกู้
ขณะที่ในช่วงเย็นวันที่ 6 ก.ค.2565 สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของบริษัท ศรีสวัสดิ์ฯ ว่า กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านส่งมาให้สำนักข่าวอิศรา
อ่านประกอบ :
‘ศรีสวัสดิ์’ร่อนหนังสือแจง 8 ประเด็น หลัง‘สภาผู้บริโภคฯ’จี้ลงโทษกรณีเอาเปรียบผู้บริโภค