‘สภาผู้บริโภค’ เผยมีผู้บริโภคกว่า 60 ราย ร้องเรียนปมสัญญาเงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ เข้าข่ายผิดผิดกฎหมาย ขณะที่ ‘ตัวแทนบริษัทฯ’ แจง ‘ปรับปรุงแก้ไข-ลงโทษพนักงาน’ แล้ว
.........................................
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดงานแถลงข่าว ‘กรณีผู้เสียหายรวมตัวร้องเรียน บ.เงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ เข้าข่ายทำสัญญาผิดกฎหมาย’ ซึ่งในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้บริโภคกว่า 60 ราย เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญากู้เงินกับบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 ประเด็น คือ
1.บริษัทฯไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบรายละเอียดการผ่อนชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าปรับต่างๆ 2.มีเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น เก็บดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน 3.ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ 4.มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรม คือ กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินให้ครบใน 12 เดือน หากชำระไม่ได้ จะให้ทำสัญญาใหม่ และเรียกค่าธรรมเนียมอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้กู้เป็นหนี้เกินความเป็นจริง
5.มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทั้งๆที่โฆษณาของบริษัทฯได้ระบุว่า ไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งการโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา รวมทั้งไม่มีการกำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน และ 6.เรื่องอื่นๆ เช่น มีการขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วงไปกับกู้เงิน โดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธ รวมถึงมีการนำตั๋วสัญญาใช้เงิน มาใช้แทนสัญญาเงินกู้ ทำให้สามารถคิดดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่
“มีผู้บริโภคกว่า 60 ราย เข้ามาขอให้สภาผู้บริโภคช่วยเหลือกรณีบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย คิดค่าทวงถามที่ไม่เป็นธรรม ไม่คืนโฉนด โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่เรียกเก็บเงิน และไม่บอกรายละเอียดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น” นายโสภณ กล่าว และระบุว่า มีผู้บริโภครายหนึ่งที่กู้เงินจากศรีสวัสดิ์ จ่ายค่างวด 2,400 บาท/เดือน แต่ค่างวดดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด ไม่ได้นำไปตัดเงินต้นเลย และมีการคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี
(พนักงานบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ ให้ผู้กู้ลงชื่อในเอกสารเปล่า)
ด้าน นายวัชร์บูรย์ สุรสิงห์สฤษฎ์ ผู้อำนวยการการฝ่ายการตลาด บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเข้าร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า กรณีผู้กู้ชำระค่างวดรายเดือน แต่เป็นการจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเปล่าๆ เท่านั้น ในกรณีนี้บริษัทฯมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ โดยเฉพาะผู้กู้ที่ต้องการเงินไปเป็นทุนหมุนเวียน และอยากได้ยอดเงินกู้ที่สูง ได้เงินพอ แต่ไม่อยากภาระผ่อนมาก บริษัทฯจึงให้ผู้กู้เลือกว่า จะชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวหรือเลือกชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยก็ได้
“นโยบายของเราที่ให้ชำระดอกเบี้ยเปล่าๆนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยเหลือภาระผู้กู้ที่กู้ไปทำทุนหมุนเวียน แต่มีภาระเยอะ เราเลยหาทางออกให้คุณลูกค้า โดยเอาโจทย์ลูกค้าที่อยากได้เงินเป็นตัวตั้ง คือ หนึ่ง ให้ผู้กู้เลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ และสอง ถ้าอยากส่งทั้งต้นทั้งดอกก็ได้ ส่วนเคสที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะการสื่อสารของพนักงาน พนักงานเรามีคนเกือบหมื่นคนที่อยู่กระจายทั่วประเทศ บางทีอาจเป็นพนักงานใหม่” นายวัชร์บูรย์ กล่าว
นายวัชร์บูรย์ ยอมรับว่า แต่เดิมประเด็นกรณีที่บริษัทในเครือฯไม่ได้ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับให้กับผู้กู้จริง แต่บริษัทฯได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว โดยได้ทยอยส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าเข้ามารับสัญญาคู่ฉบับไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว นอกจากนี้ ตนในฐานะตัวแทนของบริษัทฯขอรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ที่ขอให้บริษัทฯเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน รวมถึงรูปแบบสัญญากู้เงินของบริษัทฯไว้บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัท ไปปรึกษาหารือกับบริษัทฯและนำไปแก้ไขต่อไป
“บริษัทได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว คู่สัญญาที่ไม่ได้รับสัญญาคู่ฉบับ เราก็ส่ง SMS ไปแจ้งให้ลูกค้าตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว และทยอยส่งคู่ฉบับให้แล้ว จากเดิมที่ไม่มีการส่งมอบสัญญาคู่สัญญาให้ผู้กู้” นายวัชร์บูรย์ กล่าว
นายวัชร์บูรย์ ชี้แจงกรณีที่บริษัทในเครือฯให้ผู้กู้เซ็นชื่อในเอกสารเปล่า ว่า เรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าเป็นความผิดพลาดของพนักงานฯที่ให้ลูกค้าเซ็นกระดาษเปล่าไปก่อน แล้วค่อยมาพิมพ์แบบฟอร์มทีหลัง ซึ่งบริษัทฯลงโทษพนักงานดังกล่าวแล้ว และจะไม่มีเรื่องในลักษณะนี้อีกแล้ว
“อย่างเพื่อนผมหรือคนรู้จักที่ไปกู้เงินเช่าซื้อรถกับธนาคาร ก็เซ็นสัญญาแบบนี้เหมือนกัน และจริงๆแล้ว ที่เป็นแบบนั้น เพราะมองที่ลูกค้าเป็นหลัก การแข่งขันทางธุรกิจต้องยอมรับว่ารุนแรง ความไว จึงเป็นตัวตอบโจทย์ เราเองถูกยกเลิกเคสจำนวนมากจากความล่าช้า และเป็นไปได้ว่า เป็นความผิดพลาดจากพนักงานที่ให้ลูกค้าเซ็นกระดาษเปล่าไปก่อน แล้วค่อยมาพิมพ์แบบฟอร์มทีหลัง ตอนนี้ลงโทษพนักงาน และได้แก้ไขแล้ว จะไม่มีอีกแล้ว”นายวัชร์บูรย์ ระบุ
ส่วนกรณีที่ศรีสวัสดิ์กำหนดในสัญญาเงินกู้ให้ผู้กู้ต้องชำระเงินกู้ให้หมดภายใน 12 เดือน หากชำระเงินกู้ไม่ครบ ต้องทำสัญญาฉบับใหม่ และต้องเสียค่าธรรมเนียม นั้น นายวัชร์บูรย์ ชี้แจงว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ และเป็นคิดดอกเบี้ยตามเดือนที่ใช้ เพราะหากเป็นสัญญาระยะยาว 20-30 ปีแล้ว ลูกหนี้จะมีภาระดอกเบี้ยสูงมาก เช่น หากกู้เงิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 7-8% ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยปีละ 8 หมื่นบาท 10 ปี ก็ 8 แสนบาทแล้ว
“เป็นนโยบายบริษัทฯที่บอกว่า ดอกเบี้ยให้คิดตามเดือนที่ใช้ ซึ่งสมเหตุสมผล เพราะถ้าไปกู้ธนาคาร 1 ล้านบาท แล้วธนาคารคิดดอกเบี้ย 0.6% ต่อเดือน หรือปีละ 7-8% หากเป็นสัญญา 20 ปี หรือ 30 ปี ผู้กู้ต้องแบกดอกเบี้ยทั้งสัญญา และไม่มีใครเลยมาบอกว่า ผู้กู้ต้องแบกดอกเบี้ยทั้งสัญญาเท่าไหร่ ถ้าคิดดอกเบี้ย 7-8% ต่อปี ปีหนึ่งก็ 8 หมื่นบาท ถ้ากู้ 10 ปี ดอกเบี้ยก็ 8 แสนบาทแล้ว ซึ่งเงิน 8 แสนบาท เป็นดอกเบี้ยมหาศาลมากสำหรับคนเดือดร้อน
เราจึงคิดดอกเบี้ยตามเดือนที่ใช้ คือ เราคิดดอกเบี้ยตอนแรก 1.25% ต่อเดือน ตามกรอบกฎหมายคิดดอกเบี้ย เช่น ถ้ากู้เงิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยจะอยู่ที่เดือนละ 1,250 บาท แต่เมื่อครบกำหนดสัญญา 12 เดือนแล้ว ยังจ่ายหนี้ไม่ครบ เราทำสัญญาระยะสั้น และคิดดอกเบี้ยตามเดือนที่ใช้ ถ้าผู้กู้คิดจะใช้เงินหมุน 6 เดือน ดอกเบี้ยก็คิด 6 เดือนเท่านั้น ต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆที่คิดดอกเบี้ยทั้งสัญญา หากปิดบัญชีก่อน ก็ลดดอกเบี้ยให้ 50% เท่านั้น” นายวัชร์บูรย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้กู้จ่ายค่างวด ซึ่งเป็นการชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น แต่ปรากฏว่าเงินต้นไม่ลดลง นั้น นายวัชร์บูรย์ กล่าวว่า รายที่มีปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะค่างวดที่จ่ายไปนั้นถูกนำไปตัดเงินต้น 10% แต่เมื่อถึงปลายสัญญาหรือครบ 12 เดือน ผู้กู้ไม่สะดวกนำเงินมาวางเป็นค่าธรรมเนียมในการต่อสัญญา ดังนั้น เงินต้นที่จ่ายไปแล้ว 10% นั้น จะถูกตัดไปเป็นค่าธรรมเนียมการต่อสัญญา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินต้นไม่ลดลง
นายวัชร์บูรย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ 2% ต่อเดือน หรือคิดเป็น 24% ต่อปี ว่า ปกติแล้วดอกเบี้ยที่บริษัทฯเรียกเก็บจะอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน หรือไม่เกิน 15% ต่อปี แต่ในรายที่เจอดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน เป็นเพราะบริษัทฯต้องหาทางออกทางเอกสารให้กับลูกค้า เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อนั้น มีระบบตรวจสอบและมีระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลอยู่ ดังนั้น จึงต้องหาบริษัทฯเข้ามารองรับ ซึ่งก็คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด
“เราต้องหาทางออกในเรื่องเอกสารเท่านั้น เราไม่ได้มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงหรือโกงลูกค้า เราเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง เราพยายามหาทางออกให้ลูกค้า แต่ถ้าตรงนี้มีข้อผิดพลาด ทางศรีสวัสดิ์ก็จะปรับปรุง” นายวัชร์บูรย์ กล่าวและว่า ส่วนที่ว่าทำไมต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงิน มาใช้แทนสัญญาเงินกู้นั้น เรื่องนี้เป็นนโยบายของบริษัท และเนื่องจากตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จึงตอบได้บางคำถามเท่านั้น แต่จะนำกลับมาแจ้งเพิ่มเติมต่อไป
นายวัชร์บูรย์ ย้ำว่า บริษัทฯพร้อมปรับปรุงสัญญากู้เงินต่างๆให้ถูกต้อง โดยเฉพาะสัญญาที่ผู้กู้ทำไว้กับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด เพียงแต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า เมื่อบริษัทฯติดต่อไปยังลูกค้า แต่ลูกค้าไม่มีการตอบรับ
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภคฯ’ โต้ ‘ศรีสวัสดิ์’ แจงปมเอาเปรียบผู้บริโภค‘ไม่ตรงประเด็น-ทำให้คนสับสน’
‘ศรีสวัสดิ์’ร่อนหนังสือแจง 8 ประเด็น หลัง‘สภาผู้บริโภคฯ’จี้ลงโทษกรณีเอาเปรียบผู้บริโภค
ส่อผิดหลายข้อหา!จี้ลงโทษ‘ศรีสวัสดิ์’ คิดดบ.เกินกม.-หักต้น-พ่วงขายประกัน-เรียกค่าไถ่โฉนด