‘ปลัดพลังงาน’ เตรียมถก ‘กกพ.’ ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.2 บาท/หน่วย พร้อมหารือ ‘สำนักงบฯ’ ขอ 'งบกลางฯ' ช่วยลดค่าไฟฟ้า ‘กลุ่มเปราะบาง’
..................................
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบปรับค่า Ft ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เป็น 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น นั้น
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ จะอยู่ในส่วนของค่า Ft ซึ่งเกิดจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมา ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักของค่าไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคามีความผันผวนอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม
ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือน เม.ย.2567
“ค่าไฟฟ้าที่ทาง กกพ. ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ในส่วนของค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า หากย้อนดูค่า Ft ในอดีตก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะพบว่า ค่า Ft ของไทยติดลบมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดสงคราม ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก เมื่อไม่สามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อค่า Ft ที่ผ่านมา
กระทรวงพลังงาน ก็มีแผนปรับลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แต่ด้วยพลังงานหมุนเวียนยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง หากนำมาใช้มากเกินไปอาจจะยิ่งกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากขึ้น และหลังจากที่ กกพ. ประกาศค่า Ft รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 หลายฝ่ายก็กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับภาคประชาชนและภาคเอกชน
กระทรวงพลังงานจึงเตรียมหารือกับ กกพ. เพื่อให้พิจารณาการคำนวณค่า Ft ว่าจะมีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบกลางมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน
ผมขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ก็จะพยายามทางหาลดให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย” นายประเสริฐ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ถึงกรณีที่ กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาท โดยนายเศรษฐา ระบุว่า “4.68 บาท ไม่ได้หรอกครับสูงเกินไป ผมในฐานะประธานจะต้องมีการเรียกประชุม ไม่ยอมหรอกครับ”
“ก็จะเข้าไปพูดคุยรายละเอียดทั้งหมด” นายเศรษฐา กล่าวและระบุว่า “ก็ต้องไปนั่งดูก่อน เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย แต่ขึ้นไปถึง 4.68 บาท คงไม่ไหว เยอะเกินไป แนวโน้มจะขึ้นจาก 3.99 บาท แต่ไม่ถึง 4.68 บาท แน่นอน”
อ่านประกอบ :
กกพ.เคาะขึ้น Ft ดันค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย.67 เป็น 4.68 บาท/หน่วย เพิ่มจากงวดก่อน 17%
สภาผู้บริโภคจี้นายกแก้ค่าไฟแพงระยะยาว ปรับต้นทุนก๊าซ-ยกเลิกทำสัญญาโรงไฟฟ้า
ลดอีก! ครม.เคาะค่าไฟ เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย มีผลทันที
ลดลง 25 สต.! กกพ.เคาะค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.เหลือ 4.45 บาท/หน่วย-ยังค้างหนี้ กฟผ. 1.1 แสนล.
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1.04 หมื่นล.อุ้มค่าไฟฟ้า 4 เดือน-‘บิ๊กตู่’เชื่อ‘กกต.’อนุมัติเร็ว
จ่ายค่าก๊าซเดือนละ 6 หมื่นล.! ‘คลัง’ห่วง‘กฟผ.’มีปัญหา‘สภาพคล่อง’หลังแบกหนี้ Ft ต่อเนื่อง
ครม.เคาะ 1.1 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เสนอ'กกต.'ไฟเขียวใช้งบกลางฯ