กกพ.มีมติเห็นชอบเรียกเก็บค่า Ft ที่ระดับ 89.55 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 17.29%
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
“การพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 นี้ กกพ. คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฟผ. โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น” กกพ. ระบุ
ทั้งนี้ กกพ. ได้เชิญชวนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัด การใช้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นร่มเงาลดอุณหภูมิให้กับตัวบ้าน จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง
รายงานข่าวแจ้งว่า ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่ระดับ 4.68 บาทต่อหน่วย นั้น เพิ่มขึ้น 17.29% เมื่อเทียบกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ซึ่งค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าฯอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กกพ. มีมติเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 รับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10–24 พ.ย.2566 ดังนี้
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
ขณะที่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยก่อนหน้านี้ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นตามความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มมากขึ้นตามสภาพฤดูหนาวในยุโรป ส่งผลให้การประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในรอบ ม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งสะท้อนปริมาณการนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
“ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบากฟุตต่อวันเป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ
นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนที่ยังยืดเยื้อประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และ ม.ค.-เม.ย. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ” นายคมกฤช ระบุ
อ่านประกอบ :
สภาผู้บริโภคจี้นายกแก้ค่าไฟแพงระยะยาว ปรับต้นทุนก๊าซ-ยกเลิกทำสัญญาโรงไฟฟ้า
ลดอีก! ครม.เคาะค่าไฟ เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย มีผลทันที
ลดลง 25 สต.! กกพ.เคาะค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.เหลือ 4.45 บาท/หน่วย-ยังค้างหนี้ กฟผ. 1.1 แสนล.
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1.04 หมื่นล.อุ้มค่าไฟฟ้า 4 เดือน-‘บิ๊กตู่’เชื่อ‘กกต.’อนุมัติเร็ว
จ่ายค่าก๊าซเดือนละ 6 หมื่นล.! ‘คลัง’ห่วง‘กฟผ.’มีปัญหา‘สภาพคล่อง’หลังแบกหนี้ Ft ต่อเนื่อง
ครม.เคาะ 1.1 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เสนอ'กกต.'ไฟเขียวใช้งบกลางฯ