‘กกร.’ เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เสนอชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 เพื่อลดต้นทุนให้ ‘ภาคการผลิต-ภาคบริการ’ ที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด
..................................
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยกำหนดอัตราที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นกำหนดอัตราที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาท/หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาท/หน่วยนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เปิดแถลงข่าวโดยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาอัตราค่าไฟฟ้าที่มีราคาสูง เนื่องจากจะกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการการแก้ปัญหาราคาพลังงาน โดยเฉพาะปัญหาราคาค่าไฟฟ้ามีราคาสูงอย่างเร่งด่วน
“ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ติดตามสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และจากการประชุม กกร. ล่าสุด กกร.มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึง 2 งวดติดต่อกัน ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ” นายอิศเรศ กล่าว
นายอิศเรศ ระบุว่า ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 นั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในปี 2566 จะเพิ่มเป็น 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น
นายสุรงค์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา กกร.ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นอัตราค่า Ft ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 แล้ว ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่
1.ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน และภาครัฐควรเจรจาลดค่า AP (ค่าความพร้อมจ่าย) จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ และจัดสรรวงเงินให้ยืมให้ กฟผ. รวมทั้งชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เพื่อให้ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถเพิ่มการรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าได้มากขึ้น
3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า
3.1 ขอให้มีการปรับค่า Ft แบบขั้นบันได โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามาก และเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ขอให้ผู้ประกอบการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ
3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น
4.เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากแก๊สธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับไปให้การไฟฟ้าฯ ด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 เพื่อให้ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้ และลดภาษีนำเข้าของแผง Solar Cell และอุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ
5.เพิ่มการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ราคาพลังงานและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก
“ที่ผ่านมา ได้พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ดี หากมีการปรับขึ้นค่า Ft ครั้งนี้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที โดยในระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้
ขณะที่ในระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจนั้น จะสูงกว่าประเทศอื่นๆในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120% จึงอยากให้รัฐบาลนำเรื่องการปรับค่า Ft มาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไทยยังคงมีศักยภาพแข่งขันได้” นายรุ่งโรจน์ ระบุ
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคค้าปลีกและบริการประสบปัญหาค่าใช้จ่ายและต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการ ซึ่งอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท/ปีนั้น หากมีการปรับขึ้นค่า Ft อีก จะทำให้ค่าไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการเพิ่มขึ้น 20% หรือเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท/ปี
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ SMEs 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอด จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้
1.ขอให้ภาครัฐมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมัน เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ
2.ขอให้มาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน
3.ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่า FT ให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมให้สามารถฟื้นตัวต่อไปได้ เช่น พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ปรับขึ้นราคาไฟฟ้า ,การยกเลิกค่า minimum charge สำหรับธุรกิจโรงแรม ,ขอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยประหยัดพลังงาน และสนับสนุนการลงทุนในการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในโรงแรม เป็นต้น
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มพลงังานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องเรียกร้องให้ภาครัฐได้ทบทวนสมมติฐานในการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ โดยลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้า และไม่สามารถควบคุมต้นทุน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะค่าไฟฟ้าสูง และขอให้มีการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP
อ่านประกอบ :
'กกพ.'ประกาศตรึงค่าไฟ'บ้านอยู่อาศัย' งวด ม.ค.-เม.ย.66 ที่ระดับ 4.72 บาท/หน่วย เท่าเดิม
วงเสวนาฯชำแหละ รัฐเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ กินรวบโรงไฟฟ้า ส่อขัดรธน.-ปชช.รับเคราะห์จ่ายค่าไฟแพง
ศาล รธน.’ ขอความเห็น ‘นักวิชาการ มธ.-ทีดีอาร์ไอ’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาล รธน.’สั่ง‘ก.พลังงาน-กกพ.-กฤษฎีกา’ส่งความเห็น ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ รับคำร้องปมลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 51% ขัด รธน.หรือไม่
รัฐหักมติ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน ยันกำลังผลิต‘กฟผ.’ 37% ไม่ขัด รธน.
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง