‘บอร์ด กกพ.’ มีมติเห็นชอบ 3 แนวทาง ปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เป็นตั้งแต่ 5.37-6.03 บาท/หน่วย พร้อมเปิดรับฟังความเห็นผู้ใช้ไฟฟ้า 14-27 พ.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้ต่อไป
...........................
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ประจำรอบ พ.ค.-ส.ค.2565 พร้อมทั้งเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. แบกรับ รวม 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ.จะบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะนำผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ทั้ง 3 แนวทาง ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกพ. ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 14-27 พ.ย.2565 ก่อนประกาศใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก ที่ประชุม กกพ. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท และให้สำนักงาน กกพ. เร่งดำเนินการประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อให้การปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ได้แก่
1.ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย และประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU ลดอัตราค่าบริการรายเดือน เหลือ 24.62 บาท/เดือน จากเดิม 38.22 บาท/เดือน 2.กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ ลดอัตราค่าบริการรายเดือน เหลือ 33.29 บาท/เดือน จากเดิม 46.16 บาท/เดือน และ 3.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU ลดอัตราค่าบริการรายเดือน เหลือ 204.07 บาท/เดือน จากเดิม 228.17 บาท/เดือน
นายคมกฤช ยังระบุว่า สำนักงาน กกพ. ขอเรียกร้องให้มีการมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า LNG หรือลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อให้สามารถบริหารและสามารถควบคุมต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่า Ft ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ตามผลการคำนวณของ กฟผ. ประกอบด้วย
1.การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เท่ากับประมาณ 67,833 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3,724 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,091 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84
2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 54.20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้ เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 13.81 และลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.46 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 6.25 พลังน้ำของ กฟผ.ร้อยละ 3.48 น้ำมันเตา (กฟผ.และ IPP) ร้อยละ 0.73 น้ำมันดีเซล (กฟผ.และ IPP) ร้อยละ 6.31 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.75
3.ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1-30 ก.ย. 2565) เท่ากับ 37.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นฐานซึ่งอ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ประมาณการไว้ที่ 34.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐอยู่ 2.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.75)
อ่านประกอบ :
‘สำนักงาน กกพ.’ แจ้งปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 เป็นอัตรา 4.72 บาท/หน่วย
‘สำนักงาน กกพ.’ แจ้งเลื่อนการชี้แจงขึ้น ‘ค่า Ft’ งวดเดือน ก.ย-ธ.ค. ออกไปไม่มีกำหนด
‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ จี้รัฐทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า 4 บาท-ชี้ 5 ปัจจัยทำราคาแพงเกินจริง
กกพ.เคาะขึ้นเอฟที 23.38 สต. ดันค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. แตะ 4 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 5.82%
'พลังงาน'ชงเพิ่มอุดหนุนค่าก๊าซ LPG อีก 55 บาท-อุ้ม'ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ'เติม'เบนซิน'
'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า
‘กกพ.’ เคาะเพิ่ม ‘เอฟที’ ดันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย