‘สุพัฒนพงษ์’ ตั้งโต๊ะแจงมาตรการรับมือวิกฤตพลังงาน ยันตรึง ‘ดีเซล’ 30 บาท/ลิตร พร้อมชงมาตรการช่วยเหลือ ‘กลุ่มเปราะบาง-ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ’ หลังขึ้นราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’ เป็น 333 บาท/ถัง ถก ‘คลัง-คมนาคม’ ดูแลผู้มีรายได้น้อยเติม ‘เบนซิน’
................................
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างการ ‘ชี้แจงสถานการณ์พลังงาน’ ว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ล่าสุด รัฐบาลยืนยันว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยเงินที่จะนำมาใช้ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล นั้น กพช.ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่กำหนดกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท
“ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จะใช้ตามสถานการณ์จริง ส่วนจะตรึงราคาดีเซลไปได้ยาวขนาดไหน จะต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีอยู่และสถานการณ์ราคาน้ำมันด้วย ขณะที่ กพช. ได้มอบหมายกระทรวงพลังงาน สภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง ให้ไปหารือกันว่า หากสถานการณ์ยังมีลักษณะยืดเยื้อ และราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ สูงไปเรื่อยๆแบบนี้ จะมีมาตรการเสริมอะไรมากกว่านี้อีก ซึ่งตอนนี้เรากำลังหารือกันอยู่” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 2.3 หมื่นล้านบาท ยังเหลือเงินที่จะใช้ตรึงราคาดีเซลอีก 1.7 หมื่นล้านบาท และหากระดับราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ไม่เกิน 115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คาดว่ากองทุนฯจะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ถึงเดือน พ.ค.นี้
ส่วนการดูแลราคาค่าไฟฟ้า นั้น ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแผนจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) แบบขั้นบันได โดยในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 จะมีการปรับขึ้นค่า Ft ในอัตราประมาณ 16 สตางค์/หน่วย แต่ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับ กกพ. ในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ซึ่งจะให้การปรับขึ้นค่า Ft ไม่เกินไปจากกรอบ 16 สตางค์/หน่วย แม้ว่าราคาพลังงานในขณะนั้นจะต่ำกว่าตอนนี้มากก็ตาม
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานจะมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้า โดยครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน หรือเดือนละประมาณ 1,200 บาท หากยังใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน จะให้คิดค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม แม้ว่าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 16 สตางค์/หน่วย ก็ตาม โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างทำการบ้านว่าจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเท่าใด
สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น ปัจจุบันภาครัฐได้มีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 เป็นต้นไป จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซก๊าซหุงต้มเป็น 333 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท เนื่องจากขณะนี้ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับเพิ่มเป็น 900 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน จากเดิมที่อยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเป็น 333 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัมดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเปราะบาง และพ่อค้าแม่ค้า อีก 55 บาท/3 เดือน ทำให้เงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเพิ่มเป็น 100 บาท/3 เดือน จากเดิมที่ได้รับ 45 บาท/3 เดือน
นายสุพัฒนพงษ์ ยังระบุว่า แม้ว่าจะมีการปรับราคาก๊าซหุงต้มเป็น 333 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม แต่จากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกที่อยู่ที่ 900 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือคิดเป็น 400 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัมแล้ว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระที่ต้องชดเชยก๊าซหุงต้ม 2,000 ล้านบาท/เดือน และจากมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งทำให้ราคาก๊าซหุงต้มของประเทศไทยมีราคาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก จึงต้องมาตรการป้องกันการลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการใช้น้ำมันเบนซิน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร และตอนนี้กำลังวางระบบอยู่
“ราคาดีเซลจะพยายามตรึงไว้ที่ 30 บาท ตราบเท่าที่ยังมีเม็ดเงินที่ได้รับอนุมัติมา แต่ถ้าสถานการณ์ยื้อเยื้ออย่างนี้ไปเรื่อยๆ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และสภาพัฒน์ กำลังนั่งคุยกันว่าจะมีมาตรการเสริมอย่างไร เรื่องก๊าซหุงต้มคงต้องปรับราคาขึ้นบ้าง แต่จะให้น้อยที่สุด ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าจะพยายามยึดตามที่ กกพ.ประกาศไว้ รวมทั้งจะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ ย้ำว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงที่สุดในรอบ 14 ปี แม้ว่าล่าสุดราคาน้ำมันดิบจะลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะหากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ได้เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันตามที่มีการคาดคะเนกันไว้ ราคาน้ำมันดิบก็จะปรับตัวสูงขึ้นอีก ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องช่วยกับประหยัดพลังงาน และอยากขอความร่วมมือประชาชนทุกคนลดการใช้น้ำมันและไฟฟ้าลง 10% ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้น้ำมันเบนซินนั้น กระทรวงพลังงานได้หารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เพื่อดูข้อมูลว่าผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน มีรถจักรยานยนต์มีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะไปดูว่ามีงบประมาณเท่าไหร่ ก่อนจะกำหนดแนวทางช่วยเหลือต่อไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีการใช้น้ำมันเบนซิน 50 ลิตร/เดือน
ส่วนผู้ขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร delivery หรือ กลุ่มไรเดอร์ เช่น Grab และแพนด้า นั้น คงไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากการขับรถส่งอาหารแบบ delivery มีการบวกต้นทุนค่าส่งไปยังผู้บริโภคอยู่แล้ว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในส่วนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน นั้น สนพ.ได้วางแนวทางการบริหารจัดการในแต่สถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลไปจนถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐ/ต่อบาร์เรล โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีเพียงพอกว่า 60 วัน
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 ประเทศไทยได้กระจายแหล่งการนำเข้าน้ำมันดิบไปยังแหล่งต่างๆ และลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเหลือ 57% จากเดิม 70% ส่วนสถานการณ์การจัดหาน้ำมันดิบในขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้ประสานงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิด และทุกรายยืนยันว่าสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน
ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันดิบของไทยอยู่ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน เมื่อรวมกับกรณีที่ ปตท. เตรียมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองของไทยเป็น 66 วัน
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้เตรียมมาตรการรองรับเหตุวิกฤต Supply Disruption โดยได้รับมอบหมายให้ประสานผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปเป็น 2% จากเดิม 1% ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ หรือ แปลง G1/61 นั้น ปัจจุบันผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. อีดี) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป
"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งผลักดันให้ บริษัท ปตท.สผ. อีดี เข้าดำเนินงานเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว เพื่อให้ได้ปริมาณตามเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะกำกับ ดูแล ให้การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะเริ่มในปลายเดือน เม.ย.2565 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างราบรื่น"นายสราวุธ กล่าว
นายสราวุธ ระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้มีแนวทางสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง G2/61 รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เต็มความสามารถ เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไป ตลอดจนได้เร่งดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศในช่วงวิกฤตพลังงาน คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติให้ ปตท. สำรองน้ำมันเพิ่มเติม 640 ล้านลิตร จากปัจจุบันที่ ปตท. ได้สำรองน้ำมันตามกฎหมาย รวมทั้งจัดส่งน้ำมันดีเซลให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
นายอรรถพล ระบุว่า ปตท. ยังได้จัดแคมเปญ "ก๊อดจิชวนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด" สื่อสารรณรงค์ประหยัดพลังงานด้วยสื่อหลายรูปแบบในทุกช่องทาง พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เพื่อให้เครื่องยนต์มีความสมบูรณ์ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง พร้อมด้วยโปรโมชั่นต่างๆ จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ณ FIT Auto สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ
ขณะที่ น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. พร้อมรวมพลังชวนคนไทยประหยัดพลังงานของประเทศ ด้วย 2 แคมเปญ คือ แคมเปญ “ล้างแอร์ช่วยชาติ (Clean your air, Clean your life)” มอบ 10,000 สิทธิให้ประชาชนทั่วประเทศล้างแอร์ฟรี โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ www.egat.co.th ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2565 เป็นต้นไป
ส่วนแคมเปญ “ส่วนลด 500 บาท สำหรับซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5” มอบอีก 10,000 สิทธิให้กับประชาชนทั่วประเทศที่ซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 มูลค่า 1,000 บาท ขึ้นไป โดยเริ่มใช้สิทธิได้ที่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้า Green Shop ที่เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.–30 มิ.ย. 65
"การล้างแอร์สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 10% ประหยัดพลังงานได้ถึง 1.3 ล้านหน่วย/ปี และทั้ง 2 แคมเปญนี้ยังช่วยลดการปล่อย CO2 รวมประมาณ 804 ตัน/ปี พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างงานและการซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 รวมมูลค่ากว่า 21 ล้านบาท" น.ส.จิราพร กล่าว
อ่านประกอบ :
'กพช.' ยกเลิกเพดาน 'กู้เงิน' ตรึงราคา 'ดีเซล'-ทำแผนรับมือน้ำมันพุ่ง 150 ดอลล์
‘บิ๊กตู่’เรียกถก‘กพช.’ 9 มี.ค.นี้ หลังราคาน้ำมันดิบพุ่ง-รบ.ยันตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท