‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือถึง ‘รมว.พลังงาน’ จี้ทบทวนปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 4 บาท/หน่วย พร้อมเสนอขนายเวลารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน ขณะที่ ‘รสนา’ เปิด 5 ปัจจัยทำราคาค่าไฟฟ้าของไทยสูงเกินจริง
...............................
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ,นายอัฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก เข้ายื่นข้อเสนอถึง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ในอัตรา 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย
สำหรับข้อเสนอของ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ยื่นต่อกระทรวงพลังงาน มีดังนี้
1.ให้ดำเนินการสนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยขอให้ดำเนินการดังนี้
1.1 จากเดิมกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ 2.20 บาท/หน่วย ให้เปลี่ยนเป็นระบบเน็ตมิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย เพื่อไม่ให้การไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเป็นภาระในการเปลี่ยนหรือเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้า
1.2 ให้ขยายระยะเวลาการับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 ปี เป็น 20 - 25 ปี หรือตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
1.3 ให้จัดหาแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งระบโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง
2.ขอให้ยับยั้งและทบทวนการคิดค่า Ft ใหม่โดยด่วน โดยให้ดำเนินดังนี้
2.1 ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4.00 บาทต่อหน่วย ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่ากับการผลิตของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ประมาณ 8,860 ล้านบาทต่อปี
2.2 ปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้อยู่ที่ร้อยละ 1.75 ให้ใกล้เคียงกับเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
2.3 ควรมีการกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อไว้ที่ 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดและค่าประสิทธิภาพที่ร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ถึง 587 ล้านบาทต่อปี
2.4 ให้ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยนำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ราคา Pool Gas ลดลง และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี
3.ให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ออกไป และการดำเนินการเพื่อการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงด้วย
4.การดำเนินนโยบายด้านพลังงานและการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ขอให้ตระหนักถึงความมีธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด และต้องไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
น.ส.รสนา ยังระบุว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ติดตามศึกษาสถานการณ์ปัญหาราคาพลังงานของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของประเทศ ไม่ได้มีปัจจัยจากภาวะสงครามหรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นแต่เพียงที่หน่วยงานด้านพลังงานกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก ได้แก่
1.ค่าไฟฟ้าแพง เพราะการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆของประเทศและของโลก ไม่ได้คำนึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็นหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ
โดยเห็นได้จากปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,136.4 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2564 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น
2.ค่าไฟฟ้าแพง เพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย”(Take or Pay) ประมาณการว่าที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย โดยคาดว่าค่าภาระไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
3.ค่าไฟฟ้าแพง เพราะการที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ จึงมีการผ่องถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแทน ตามประมาณการค่า Ft ในช่วงเดือน พ.ค.–ส.ค.2564 ค่าไฟฟ้าของโรงฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4 บาทต่อหน่วย มีปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อมากถึง 18,014 ล้านหน่วย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 73,261 ล้านบาท นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณซื้อไฟฟ้า และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้งหมด
โดยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากจำนวนทั้งหมด 155 โรง ไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากถึง 76 โรงหรือคิดเป็นร้อยะ 49 ของจำนวน SPPs ทั้งหมด ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 6,200 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของกำลังผลิตไฟฟ้า SPPs ทั้งหมด ขณะที่โรงไฟฟ้า SPPs พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ 74 โรง แต่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันเพียง 2,868.4 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 30 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกลุ่ม SPPs เท่านั้น
4.ค่าไฟฟ้าแพง เพราะประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา Pool ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากประเทศพม่าและ LNG ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่มีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ไม่ต้องไปรวมในราคา Pool ก๊าซ จึงเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำและไม่มีการร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับประชาชน
5.ค่าไฟฟ้าแพง เพราะรัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง แทนที่รัฐจะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อประชาชนอีก แต่รัฐยังจะเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาวเข้ามาอีก 2 โรง คือเขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบาง มีอัตราค่าไฟฟ้า 2.8432 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบง อัตราค่าไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย
ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.56863 บาทต่อหน่วย จึงย่อมบ่งชี้ได้ว่า ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายให้กับสองเขื่อนนี้จะเป็นภาระค่า Ft ของประชาชนในประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการเขื่อนทั้งสอง และเขื่อนอื่นๆ ยังมีปัญหาการร้องเรียนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัยของประชาชนไทยและลาวตามมาอีกด้วย
อ่านประกอบ :
กกพ.เคาะขึ้นเอฟที 23.38 สต. ดันค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. แตะ 4 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 5.82%
'พลังงาน'ชงเพิ่มอุดหนุนค่าก๊าซ LPG อีก 55 บาท-อุ้ม'ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ'เติม'เบนซิน'
'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า
‘กกพ.’ เคาะเพิ่ม ‘เอฟที’ ดันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย