'กกพ.' มีมติปรับเพิ่มค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. อีก 23.38 สต./หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 5.82% พร้อมระบุหากไม่มีมาตรการบริหารจัดการต้นทุน 'เชื้อเพลิง' ค่า Ft จะพุ่งงวดละ 47.3 สต./หน่วย
...................................
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 โดยให้เรียกเก็บค่า Ft ในอัตรา 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์/หน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.76 บาท/หน่วย จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย จากงวดก่อน (ม.ค.-เม.ย.2565) ที่อัตราค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82%
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่า Ft ดังกล่าว มีปัจจัยหลักจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ,สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย
“ค่าไฟฟ้า 4 บาท/หน่วย มันเกิดมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องสงคราม ทุกอย่างมันมาซ้อนกัน ซึ่งถ้าสถานการณ์กลับลงมา ราคา LNG กลับลงมาอยู่ที่ 20 เหรียญ ค่าไฟฟ้าที่ 4 บาท ก็จะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ถ้าฐานราคา LNG เปลี่ยนไป เช่น ราคาเกิน 20 เหรียญขึ้นไปตลอด ฐานราคาค่าไฟฟ้าก็ต้องเปลี่ยน จึงอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร เช่น เราจะไปอิงเชื้อเพลิงอื่นแทนหรือไม่ จะไปอิงพลังน้ำ หรือจะบริหารจัดการเก็บ LNG ในช่วงที่ราคาถูก ซื้อเข้ามาเก็บเหมือนญี่ปุ่น” นายคมกฤชกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17–27 มี.ค.2565 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
นายคมกฤช ระบุว่า สำหรับแนวโน้มค่า Ft ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 นั้น จากการประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงต่างๆ มีแนวโน้มว่าค่า Ft จะปรับเพิ่มเป็น 64.83 สตางค์/หน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565) 40.06 สตางค์/หน่วย แต่ทั้งนี้ กกพ.จะพิจารณามาตรการต่างๆเพื่อบริหารจัดการไม่ให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนเกินไป และจะทยอยคืนค่า Ft เมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
นายคมกฤช กล่าวต่อว่า หากไม่มีการบริหารจัดการใดๆ ค่า Ft ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 จะเพิ่มขึ้น 129.91 สตางค์/หน่วย และเมื่อปรับเพิ่มค่า Ft แบบขั้นบันได จะต้องปรับเพิ่มค่า Ft งวดละ 47.3 สตางค์/หน่วย แต่ด้วยมาตรการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว เช่น โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ,การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และ VSPP เพิ่มจากสัญญาที่จะเริ่มในเดือน เม.ย.นี้
การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม และทดแทนการใช้ก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง ,มาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ร่วมกับมาตรการการนำ ‘Energy Pool Price’ มาใช้ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม และการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา 38,889 ล้านบาท เอาไว้ก่อน ทำให้ค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 เพิ่มขึ้นเพียง 23.38 สตางค์/หน่วย
“ในช่วงวิกฤตราคาพลังงานขาขึ้น สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟ ร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 4 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ , ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน , ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา และ เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพสำหรับตัวท่านเอง และยังจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติอีกทางหนึ่ง”นายคมกฤช กล่าว
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ตามข้อเสนอของ กฟผ. ประกอบด้วย
1.ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.–ส.ค.2565 เท่ากับประมาณ 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค.–เม.ย. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21%
2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก คิดเป็น 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้ เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 19.46% และลิกไนต์ของ กฟผ. 8.32% , เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08% ,พลังน้ำของ กฟผ. 2.58% ,น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.01% ,น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.19% และอื่นๆอีก 6.25%
3.ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค.–ส.ค.2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.–เม.ย.2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.–เม.ย. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1–31 ม.ค.2565) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค.–เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
อ่านประกอบ :
'พลังงาน'ชงเพิ่มอุดหนุนค่าก๊าซ LPG อีก 55 บาท-อุ้ม'ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ'เติม'เบนซิน'
'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า
‘กกพ.’ เคาะเพิ่ม ‘เอฟที’ ดันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย