‘สำนักงาน กกพ.’ แจ้งปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 เป็น 4.72 บาท/หน่วย พร้อมระบุผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท ‘บ้านที่อยู่อาศัย’ จะมีภาระเพิ่มขึ้น 143 บาท/เดือน
...................................
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘สำนักงาน กกพ.’ ประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัย 22.59 ล้านราย มีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 143 บาท/เดือน
“การคิดค่าเอฟทีในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 พบว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งไม่รวมที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าอีกประมาณ 83,010 ล้านบาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กกพ. ปรับเพิ่มค่าเอฟทีเพียง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย” สำนักงาน กกพ. ระบุ
สำนักงาน กกพ. ระบุด้วยว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพม่าที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก สรุปได้ดังนี้
1.ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100-2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด
ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้น การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2.การผลิตก๊าซจากพม่ามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม
3.สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566
4.สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย
“ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในพม่ามารวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ. ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถานการณ์การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ” สำนักงาน กกพ.ระบุ พร้อมทั้งขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และลดการนำเข้า Spot LNG
อ่านประกอบ :
‘สำนักงาน กกพ.’ แจ้งเลื่อนการชี้แจงขึ้น ‘ค่า Ft’ งวดเดือน ก.ย-ธ.ค. ออกไปไม่มีกำหนด
‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ จี้รัฐทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า 4 บาท-ชี้ 5 ปัจจัยทำราคาแพงเกินจริง
กกพ.เคาะขึ้นเอฟที 23.38 สต. ดันค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. แตะ 4 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 5.82%
'พลังงาน'ชงเพิ่มอุดหนุนค่าก๊าซ LPG อีก 55 บาท-อุ้ม'ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ'เติม'เบนซิน'
'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า
‘กกพ.’ เคาะเพิ่ม ‘เอฟที’ ดันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย