ครม.เห็นชอบกำหนด ‘ไก่-เนื้อไก่’ เป็นสินค้าควบคุม ต้องแจ้ง 'สต๊อก-ต้นทุน' หากปรับราคาต้องได้รับอนุญาตก่อน ขณะที่ ‘นายกฯ’ ระบุแก้ปัญหา ‘หมูแพง’ ต้องใช้เวลา
..............................
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2565 จำนวน 5 รายการ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ประกอบด้วย
1.รายการสินค้าควบคุมเดิมในปี 2564 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ หน้ากากอนามัย ,ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และเศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก
2.เพิ่มเติมรายการสินค้าควบคุมใหม่ 1 รายการ คือ ไก่ เนื้อไก่ เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล ติดตามไก่ เนื้อไก่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้มีปริมาณเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม
"ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัว/วัน ต้องแจ้งปริมาณ สต็อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน 2.โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต็อก และ 3.การปรับราคาสินค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน" น.ส.รัชดา กล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดสินค้าควบคุมตามมติ ครม. ดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันมีรายการสินค้าและบริการควบคุมทั้งสิ้น 56 รายการ จากเดิมที่มี 51 รายการ โดยมีสินค้าและบริการควบคุมสำคัญๆ เช่น ไข่ไก่ หมูและเนื้อหมู แชมพู ผงซักฟอก ข้าวสาร กระเทียม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องแบบนักเรียน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับสินค้าบางตัวที่มีการปรับราคาสูงขึ้น รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการในการรักษาระดับราคาในรูปแบบที่สร้างสมดุล ระหว่างการให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกร แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่างๆ เช่น การตรึงราคาสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ค้าและสมาคมต่างๆ ตรึงราคาในหลายหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม
นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ กิโลกรัมละ 110 บาท ไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลตรุษจีน และทางสมาคมผู้เลี้ยงและส่งออกไข่ไก่ พร้อมให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ไว้ที่ฟองละ 2.90 บาท เป็นต้น ในขณะเดียวกันราคาเนื้อหมู ไข่ไก่ และผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักคะน้า ผักบุ้งจีน กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ตามรายงานของสถานการณ์สินค้าเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว
น.ส.รัชดา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ยืนยันว่า จะดำเนินการในทุกทางที่จะเป็นการดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งบางมาตรการอาจจะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล เช่น เรื่องหมูแพง แต่ก็มีหลายมาตรการออกมา ได้แก่ งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ,ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร ,ให้สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ ,ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน
การเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน ,ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ,เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด ,ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด และส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค
อ่านประกอบ :
หากผิดจริงโทษคุก 1 ปี! ‘ผู้ว่าฯสงขลา’รายงาน‘จุรินทร์’ ห้องเย็นฯไม่แจ้งสต๊อกหมู 2 แสนกก.
'ของแพง' เขย่ารัฐบาล 'บิ๊กตู่' ค่าครองชีพพุ่ง แต่ 'รายได้' ไม่เพิ่ม
‘กบง.’ เคาะตรึงราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’ อีก 2 เดือนถึง 31 มี.ค.-ขอ ‘ปตท.’ คง NGV ช่วยแท็กซี่
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด