“…ถ้ารัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาไข่แพง ไก่แพง หมูแพงได้ทั้งระบบ วิธีการแก้ที่ดีที่สุด คือ การเคลียร์เรื่องราคาอาหารสัตว์ จะไปทำด้วยวิธีการไหนก็แล้วแต่ แต่จะต้องทำให้ราคาอาหารสัตว์ และราคาวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ลดลง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แก้จุดนี้จุดเดียว ทุกอย่างจบเลย…”
...............................
สถานการณ์ ‘สินค้าราคาแพง’ ในขณะนี้
กำลังบั่นทอน ‘ความเชื่อมั่น’ ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ อย่างมาก เพราะหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ไปได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ต่างทยอยปรับขึ้นราคา ส่งผลให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนจาก ‘ค่าครองชีพ’ ที่พุ่งขึ้น สวนทาง ‘รายได้’ ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันที่ 10 ม.ค.2565 ราคาหมูเนื้อแดงขายปลีกมีราคา 218-220 บาท/กก. (ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก.)
เทียบกับเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่ราคาหมูเนื้อแดงขายปลีกอยู่ที่ 190-200 บาท/กก. (ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 96-100 บาท/กก.) และเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ที่ราคาหมูเนื้อแดงขายปลีกอยู่ที่ 158-160 บาท/กก. (ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 80 บาท/กก.)
หรือเท่ากับว่าในห้วงเวลาเพียง 1 ปี ราคาหมูเนื้อแดงขายปลีกเพิ่มจาก 158-160 บาท/กก. เป็น 218-220 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 60 บาท/กก. หรือคิดเป็น 37.97% (อ่านประกอบ : ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว)
ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
@หากมี ‘วัคซีน’ ที่เชื่อถือได้ จะทำให้ราคาหมูลดลงเร็ว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ระดับ 110 บาท/กก. พร้อมทั้งประกาศจุดยืนว่า “ยังไม่ถึงจุดจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องพิจารณาผลกระทบทั้งห่วงโซ่ และแนวโน้มตลาดหลังจากสัปดาห์นี้น่าจะเริ่มทรงตัว หลังผู้บริโภคบริหารจัดการอาหารโปรตีนได้ดีขึ้น”
แต่ราคาเนื้อหมูจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีแนวโน้มว่าราคาเนื้อหมูอาจพุ่งขึ้นไปที่ระดับ 250 บาท/กก. จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
“ราคาเนื้อหมูน่าจะอยู่ในระดับนี้อย่างน้อย 2 ปี เพราะเป็นเรื่องวัฎจักร โรคระบาดที่ทำให้หมูตาย และราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น แต่หากจะทำให้ราคาเนื้อหมูลดลงมา ต้องขึ้นอยู่กับวัคซีนอย่างเดียว ถ้ามีวัคซีนที่เชื่อใจได้ ทุกอย่างจะกลับมาเร็ว” สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@ต้นทุนเลี้ยงเพิ่ม 'ผู้เลี้ยงฯ' ประกาศขึ้นราคาไก่หน้าฟาร์ม
ขณะเดียวกัน สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศปรับราคาไก่หน้าฟาร์มเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 37-39 บาท/กก. (วันที่ 10 ม.ค.2565) เทียบกับในช่วงเดือน พ.ย.2564 ที่ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 34-35 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้น 3-4 บาท/กก. หลังจากต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 30-40%
ส่งผลให้ราคาไก่ตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาท/กก. เทียบกับในช่วงเดือน พ.ย.2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ 65 บาท/กก. ราคาอกไก่เฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาท/กก. เทียบกับในช่วงเดือน พ.ย.2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 65 บาท/กก. และราคาสะโพกไก่เฉลี่ยอยู่ที่ 65 บาท/กก. เทียบกับในช่วงเดือน พ.ย.2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60 บาท/กก. หรือราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-15 บาท/กก.
“ในปี 2564 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่ม 30-40% รวมถึงปัจจัยการผลิตและต้นทุนในการป้องกันโรคระบาดปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนการบริหารจัดดังกล่าวมานาน ซึ่งราคาเนื้อไก่ที่ปรับขึ้นนี้จะเป็นการช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้” ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ ให้สัมภาษณ์สื่อ
@แจงขอเพิ่มราคา ‘ไข่ไก่’ เหตุต้นทุนอาหารเพิ่ม
เช่นเดียวกัน ราคาอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเลี้ยงไก่ไข่ปรับสูงขึ้น กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศปรับเพิ่ม ‘ราคาแนะนำ’ ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 3 บาท จากเดิม 2.80 บาท เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนอาหารเลี้ยงไก่ที่เพิ่มขึ้นมาก
“ผู้เลี้ยงไก่ไข่สะท้อนมาถึงเราว่า ต้นทุนการเลี้ยงของเขาเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารไก่ที่เพิ่มขึ้น สมาคมฯ ในฐานะที่อยู่ในห่วงโซ่ จึงได้ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเพิ่มเป็นฟองละ 3 บาท เพราะไม่เช่นนั้นผู้เลี้ยงรายย่อยจะไปต่อไม่ได้” สุธาศิน อมฤก สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
สุธาศิน ระบุว่า โอกาสที่ราคาไข่ไก่คละจะลดลงต่ำกว่าฟองละ 3 บาท น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะผู้เลี้ยงไก่ไข่มีต้นทุนค่อนข้างสูง โดยไข่ไก่คละที่ขายกันฟองละ 3 บาทในตอนนี้ จะพบว่าไข่ไก่ 1 ฟอง มีต้นทุนเฉพาะค่าอาหารไก่ 2 บาท หรือคิดเป็น 60% ขณะที่ผู้เลี้ยงยังมีต้นทุนอื่นๆอีก เช่น ค่าซื้อแม่ไก่เข้าเล้า ค่าทำกรง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าแรง
สุธาศิน ยังให้ความเห็นว่า “ถ้ารัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาไข่แพง ไก่แพง หมูแพงได้ทั้งระบบ วิธีการแก้ที่ดีที่สุด คือ การเคลียร์เรื่องราคาอาหารสัตว์ จะไปทำด้วยวิธีการไหนก็แล้วแต่ แต่จะต้องทำให้ราคาอาหารสัตว์ และราคาวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ลดลง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แก้จุดนี้จุดเดียว ทุกอย่างจบเลย”
@‘พาณิชย์’ สั่งตรึงราคา ‘ไก่สด-ไข่ไก่’ นาน 6 เดือน
แต่ทว่าก่อนที่ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่จะปรับตัวสูงขึ้นจนหยุดไม่อยู่ วัฒนศักดิ์ เสื่อเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ และขอความร่วมมือจากสมาคมฯให้ ‘ตรึงราคา’ เนื้อไก่และไข่ไก่ เป็นเวลา 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการซื้อเนื้อสัตว์อื่นในช่วงหมูแพง
เช่น ตรึงราคาขายไก่มีชีวิตอยู่ที่ 33.50 บาท/กก. ไก่สด (รวม/ไม่รวมเครื่องใน) อยู่ที่ 60-65 บาท/กก. น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาท/กก. และเนื้ออกอยู่ที่ 65-70 บาท /กก. เป็นต้น ส่วนราคาไข่ไก่คละให้ตรึงราคาไว้ที่ไม่เกินฟองละ 3 บาท ขณะที่กรมปศุสัตว์และเกษตรกรจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะไก่ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 วัน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการแก้ปัญหาเนื้อไก่ และไข่ไก่ มีราคาแพงนั้น กระทรวงพาณิชย์ ใช้วิธีขอความร่วมมือจาก ‘ผู้เลี้ยง’ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าที่จะเข้าไปแก้ปัญหาที่ ‘ต้นเหตุ’ โดยเฉพาะเรื่องราคาราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น 30-40% ในช่วงที่ผ่านมา
@‘พลังงาน’ เดินหน้าตรึงราคา ‘ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม’
ไม่ใช่เฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นที่มีราคาสูงขึ้น แต่ค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย หลังราคาพลังงานโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการ ‘ตรึงราคา’ ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มต่อเนื่อง (อ่านประกอบ : 'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด)
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กก. ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดการตรึงราคาในวันที่ 31 ม.ค.2565 เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
พร้อมทั้งขอให้ ปตท. คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกก. และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกก. อีก 1 เดือน (อ่านประกอบ : ‘กบง.’ เคาะตรึงราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’ อีก 2 เดือนถึง 31 มี.ค.-ขอ ‘ปตท.’ คง NGV ช่วยแท็กซี่)
“เงินที่ กบง.จะนำมาใช้ตรึงราคา LPG เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น จะมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแม้ว่ากองทุนน้ำมันมีภาระต้องใช้เงินในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเป็นเวลา 4 เดือน แต่เงินที่กองทุนฯจะทยอยกู้เข้ามา 2 หมื่นล้านบาทจะบริหารจัดการได้” สมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุ (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติกู้ 2 หมื่นล.ตรึง‘ดีเซล’-‘บิ๊กตู่’ชี้หากจำเป็นจะใช้‘รถทหาร’ช่วยขนส่งสินค้า)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา 13,594 ล้านบาท เพื่อนำไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) (อ่านประกอบ : 'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า)
@วิจารณ์ยุคบิ๊กตู่ ‘แพงทั้งแผ่นดิน-ของแพงค่าแรงถูก’
ทั้งนี้ จากปัญหาสินค้าราคาแพง ทำให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “เรื่องหมูที่ไม่ใช่หมู เพราะเรื่องหมูนี่แหละจะเป็นเรื่องล้มรัฐบาลได้ รัฐบาลชุดนี้ปล่อยปละละเลยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และก่อความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจครัวเรือนพังพินาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโรคระบาดสัตว์ แต่รัฐบาลชุดนี้แปลก ถ้าเจอโรคระบาด ทำงานไม่เป็น”
ขณะที่ ‘#แพงทั้งแผ่นดิน’ ไต่อันดับขึ้นมาเป็นเทรนด์ในโลกออนไลน์ เช่นเดียวกันวลี ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ ที่มีการหยิบยกมาโพสต์กันอย่างแพร่หลายอีกครั้งในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แตกต่างจากโลกจริงที่ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสินค้าราคาแพง และพยายามสะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาล
เช่นเดียวกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย ว่า หากพิจารณาเงินเฟ้อในแง่เสถียรภาพราคาในระดับมหภาคแล้ว ธปท.มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่กังวลมากกว่า คือ ค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ขึ้น
“ธปท.คาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.7% ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% ในปี 2566 ขณะที่สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นจนหลุดกรอบ 3% ยังไม่เห็น แต่สิ่งที่กังวลมากกว่า คือ ค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ขึ้น” เศรษฐพุฒิ กล่าวในงาน ‘Meet the Press’ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : 'ผู้ว่าฯธปท.'จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำเศรษฐกิจ‘สะดุด’-ห่วง'ค่าครองชีพ'พุ่ง สวนทาง'รายได้')
หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถแก้ปัญหา ‘ปากท้อง’ ที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ได้ทันท่วงที
แม้ว่าจะไม่ถึงขั้น ‘ล้มรัฐบาล’ ได้ แต่ก็ทำให้รัฐบาลสูญเสียความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากประชาชน ไปไม่น้อยเลยทีเดียว!
อ่านประกอบ :
‘กบง.’ เคาะตรึงราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’ อีก 2 เดือนถึง 31 มี.ค.-ขอ ‘ปตท.’ คง NGV ช่วยแท็กซี่
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด