‘บอร์ด กทพ.’ เห็นชอบ 2 ผู้รับเหมา คว้างานสัญญา 1 และสัญญา 3 โครงการทางด่วนสาย ‘พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก’ คาดลงนามสัญญา ต.ค.นี้ ขณะที่ รฟม.อนุมัติขยายเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้า 'สายสีชมพู' อีก 290 วัน
.............................
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ตามที่ กทพ. เสนอ ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญากับผู้รับจ้างได้ในเดือน ต.ค.2564 ประกอบด้วย
1.ให้กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในสัญญาที่ 1 วงเงิน 7,350 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ2.กิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้ก่อสร้างในสัญญาที่ 3 วงเงิน 7,359.3 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ทั้งนี้ ในการดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 สัญญา กทพ.ได้ปรับลดระยะเวลาการก่อสร้าง จาก 39 เดือนให้เหลือเพียง 34 เดือน เพื่อให้ลดความเสียหายจากปัญหาการประมูลล่าช้าของทั้ง 2 โครงการ
นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมากในชั่วโมงเร่งด่วนและในวันหยุดช่วงเทศกาลต่างๆ บนถนนพระรามที่ 2 อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางและสัญจรของประชาชนในพื้นที่ชานเมืองและจังหวัดที่อยู่รอบนอกกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นเส้นทางสัญจรลงสู่ภาคใต้ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์อีกด้วย
“หาก กทพ. ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนจะส่งผลกระทบเสียหาย อาทิ ความเสียหายจากการสูญเสียรายได้ค่าผ่านทาง คิดเป็น 133.8 ล้านบาท/เดือน ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ คิดเป็น 544 ล้านบาท/เดือน และความเสียหายจากต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่สูงขึ้นคิดเป็น 124 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ ราคาค่าก่อสร้าง ณ เดือน ก.ย. 2564 ได้พุ่งสูงขึ้น จากราคากลางไปแล้วกว่า 575 ล้านบาท” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึงกรณีร้องเรียนของ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN และเสนอราคาต่ำสุดในการประมูลสัญญาที่ 1 ครั้งที่แล้ว นั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องเรียนได้พิจารณาแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องเรียนฟังไม่ขึ้น โดย กทพ. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในพระราชบัญญัติฯ กฎกระทรวง ระเบียบฯ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฯ
รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินการของ กทพ. จึงไม่ขัดต่อมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลปกครองกลางนั้น หากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นประการใด กทพ. ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติ ก็จะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาทันที ดังที่ กทพ. ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
@รฟม.ขยายเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู 290 วัน
ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาการดำเนินงานในระยะที่ 1 ของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 290 วัน เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการ ซึ่งประกอบด้วย
1.การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าของโครงการ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตน์ (PK26) 2.ปัญหาอุปสรรคการยกชิ้นงานสำเร็จรูปเข้าติดตั้งบริเวณทางวิ่ง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการดับไฟฟ้าได้ตามแผนงาน
และ3.ปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานโครงการฯ ที่ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับ โครงการ Floodway ของกรมทางหลวง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีทีโอที (PK13) รวมถึงกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย (Bulk Substation 02) ที่สถานีแยกปากเกร็ด (PK06)
อย่างไรก็ตาม การขยายระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid - 19 ร่วมด้วยได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด
นายภคพงศ์ ระบุว่า ผู้รับสัมปทานได้จัดทำแผนการเปิดให้บริการเดินรถบางส่วน (Partial Operation) โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มจากปลายทาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ (Depot) และเดินรถระหว่างสถานีมีนบุรี (PK30) ถึง สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) เป็นระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร
โดยยังไม่เปิดให้บริการที่สถานีนพรัตน์ (PK26) ซึ่งสามารถรองรับการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) และรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ (PK14) รวมถึงผู้โดยสารที่มาติดต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะที่สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย.2565
ส่วนระยะที่ 2 เริ่มจากศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ (Depot)และเดินรถระหว่างสถานีมีนบุรี (PK30) ถึง สถานีถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) เป็นระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2565 และระยะที่ 3 เปิดให้บริการเต็มรูปตลอดเส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) เป็นระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือน ก.ค.2566
อ่านประกอบ :
ย้อนปมประมูลทางด่วน ‘พระราม 3-วงแหวนรอบนอกฯ’ ดีเลย์ 1 ปี 'กทพ.' นำร่อง ‘ไทยเฟิร์ส’
ย้อนรอยเมกะโปรเจกต์รัฐปี 63 รับเหมา ‘เก่า-ใหม่’ แข่งเดือด ‘ทุนเจ้าสัว’ รุกขนาบ
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/