“…การลงทุนระบบราง มอเตอร์เวย์ เริ่มชนเพดานแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่มีเงิน แต่หลายๆโครงการไม่ค่อยคุ้มค่าแล้ว และจะสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ซึ่งกระทรวงการคลังหรือสภาพัฒน์ ต้องสะกิดแล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช ถ้าเปิดเดินรถน่าจะขาดทุน 100% แต่ถ้าสร้างส่วนต่ออีก ก็จะหมายถึงภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น…”
................
ปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องถือการประมูลงานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ 'เมกะโปรเจกต์' เป็นไปอย่างคึกคัก
ผู้รับเหมาทั้ง 'รายใหญ่-รายกลาง' ต่างขับเคี่ยวกัน เพื่อให้ได้งานประมูลรัฐมาครอบครอง ขณะที่งานก่อสร้างเอกชน 'หดหาย' จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนน่าจะติดลบ 8.9% ในปี 2563
(ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 16 พ.ย.2563)
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเปิดประมูลใน 2563 และโครงการที่ค้างท่อรอผลการประมูลมาจากปี 2562 จะพบว่า ไม่เพียงแต่ผู้รับเหมา ‘เจ้าเดิม’ ที่ได้งานเมกะโปรเจกต์ภาครัฐไปเท่านั้น แต่ปรากฏชื่อรับเหมารายกลาง ‘หน้าใหม่’ หลายเจ้า ที่ได้งานระดับหมื่นล้านบาทไปครองด้วย
ที่สำคัญกลุ่ม ‘ทุนใหญ่-ทุนเจ้าสัว’ ซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจรับเหมาเป็น ‘ธุรกิจหลัก’ เช่น กลุ่มซีพี กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ฯของ ‘นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ เศรษฐีไทยอันดับ 11 และกลุ่มกัลฟ์ (GULF) ของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ เศรษฐีไทยอันดับ 5 ได้ร่วมกับพันธมิตรผู้รับเหมา กระโจนเข้าร่วมประมูลเมกะโปรเจกต์และคว้างานใหญ่ไปได้หลายงาน
เริ่มจากในช่วงต้นปี 2563 ‘กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS’ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์’ , บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ชนะประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และมีการเซ็นสัญญาในเวลาเมื่อเดือนมิ.ย.2563 ที่ผ่านมา
กลุ่ม BBS เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 305,555 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ชนะคู่แข่งรายสำคัญ คือ ซีพีและพันธมิตร เช่น อิตาเลียนไทย (ITD) ,ช.การช่าง (CK) ,บี.กริม.จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง และโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐเพียง 1.02 แสนล้านบาท ไปอย่างขาดรอย (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติ 'สกพอ.-บีบีเอส' เซ็นสัญญาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล.)
ส่วนการประมูลเมกะโปรเจกต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ในปี 2563 รฟท.ทยอยเซ็นสัญญาโครงการที่เปิดประมูลในช่วงปี 2562-2563 ในหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งแบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญานั้น การเปิดประมูลงาน 5 สัญญาที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเดือนพ.ย.2563 พบว่าบริษัทรับเหมาทั้ง ‘หน้าเก่า-หน้าใหม่’ ต่างได้งานกันทั่วหน้า
ไม่ว่าจะเป็น บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) , อิตาเลียนไทย (ITD) , บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) , กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค (นภาก่อสร้าง,ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดี และบิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี) และ ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม (อ่านประกอบ : รฟท.เซ็นรวด 5 สัญญา 4 หมื่นล.! งานโยธาไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’-เปิดเดินรถปี 68)
ขณะที่การแข่งขันการประมูลงานดังกล่าวค่อนข้าง ‘ดุเดือด’ สะท้อนได้จากราคาประมูลงานในแต่ละสัญญา พบว่าเอกชนที่ชนะการประมูลเสนอราคา ‘ต่ำกว่า’ ราคากลางคิดเป็น 15-26% ของราคาประมูล
(พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 5 สัญญา เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2563)
นอกจากนี้ ในการเปิดประมูลจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 50 คัน ของรฟท. ปรากฎว่ากิจการร่วมค้า SFR (บริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ป่าไม้สันติ) และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) คว้าสัญญามูลค่า 6,525 ล้านบาท ไปได้ (อ่านประกอบ : เงินขาดมือ 1.15 หมื่นล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘รฟท.’ กู้เสริมสภาพคล่อง-ลงทุน-จ่ายหนี้)
เอาชนะคู่แข่ง ‘หน้าใหม่’ คือ กิจการร่วมค้า WIS และ HYN (ประกอบด้วย บริษัท เวิลด์ อินสตอลลิ่ง เซอร์วิส และ บริษัท หาดใหญ่นันทกร) ซึ่งดัมพ์ราคาลงมาเหลือ 5,019 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23.5% แต่กิจการร่วมค้า WIS และ HYN ต้อง ‘แพ้ฟาล์ว’ ตกเกณฑ์คุณสมบัติ เนื่องจากใช้พันธบัตรส่วนตัวยื่นค้ำประกันจากธนาคาร (Bank Guarantee)
เช่นเดียวกับ การประมูลงานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์ 2 สัญญา ของกรมทางหลวง (ทล.) ได้แก่ งาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และงาน O&M มอเตอร์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี รูปแบบ PPP Gross Cost อายุสัมปทาน 30 ปี มูลค่า 61,086 ล้านบาท
ผลปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) กวาดงานประมูล O&M มอเตอร์เวย์ไปได้ทั้ง 2 สัญญา
เบียดคู่แข่งอีก 2 เจ้า คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และบริษัทไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จากจีน) ไปได้ไม่ยากนัก
ทั้งนี้ งาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 21,329 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 36% ส่วนงาน O&M มอเตอร์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 17,809 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 36% เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 มีโครงการเมกะโปรเจกต์สำคัญๆที่ยัง ‘คาราคาซัง’ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 อีกอย่างน้อย 2 โครงการ
ได้แก่ 1.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มปตท. และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง) เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เสนอผลตอบแทนต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้
หากการเจรจาไม่บรรลุผลตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายไว้ คือ ผลตอบแทนขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับต้องไม่น้อยกว่า 29,002.5 ล้านบาท หรือลดลง 10% จากผลตอบแทนขั้นต่ำที่ครม.อนุมัติไว้ที่ 32,225 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อาจต้อง 'ล้มประมูล' และเปิดประมูลใหม่
และ 2.โครงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 142,789 ล้านบาท ที่น่าจะยืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ทีโออาร์ในประเด็นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูล ทำให้กลุ่ม BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และต่อมารฟม.เลื่อนเปิดซองออกไปอย่างไม่มีกำหนด (อ่านประกอบ : 'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’)
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) มองภาพรวมการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ในปี 2563 ที่ผ่านมา ว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้กระทบต่อการประมูลเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ จะมีเพียงรถไฟฟ้าบางสาย เช่น สายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่ต้องชะลอไปก่อน เพราะมีประเด็นฟ้องร้องกันที่ศาลปกครอง
“ที่ยังล่าช้ามากก็มีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-ราษฎร์บูรณะ ที่ยังไม่ได้เริ่มประมูล ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 นั้น ถือว่าช้าเป็นปกติ เพราะต้องรองบประมาณ การเซ็นสัญญางานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ต้องถือว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้ เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ตามแผน” สุเมธประเมิน
สุเมธ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการปรับแก้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ของรฟม. ว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นเชิงเทคนิค เช่น เทคนิคการประมูล และเทคนิคการคัดเลือก ซึ่งหลายครั้งเทคนิคพวกนี้ เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ๆ ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ภาครัฐพยายามทำงานให้รัดกุม แต่ความรัดกุม ก็สร้างต้นทุนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ตรงนั้นมี 4 สัญญา เมื่อเปิดซองมาได้ผู้ชนะ 4 ราย แต่สุดท้ายเซ็นสัญญาไม่ได้ 2-3 สัญญา เพราะคู่แข่งขันขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้อง และสุดท้ายก็ต้องมีการฟ้องร้องกัน
หรือการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีการยื่นเอกสารช้าไป 9 นาที จนต้องมีการฟ้องร้องกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อผลประโยชน์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางโครงการเป็นแสนล้าน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด การฟ้องร้องในประเด็นเหล่านี้จะเกิดกับการประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ” สุเมธกล่าว
สุเมธ เสนอว่า ภาครัฐจะต้องมีวิธีการบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการฟ้องร้องกันให้น้อยที่สุด หรือเกิดแล้วต้องไม่กระทบหรือกระทบต่อแผนการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ให้น้อยที่สุด
(สุเมธ องกิตติกุล)
อย่างไรก็ดี สุเมธ เห็นว่า การลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ส่วนใหญ่จะใช้เวลาดำเนินการ 3-5 ปี แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมควรทบทวนโครงการลงทุนใหม่บางโครงการ ให้มีความรอบคอบมากขึ้น เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณเพิ่มขึ้น
“การลงทุนระบบราง มอเตอร์เวย์ เริ่มชนเพดานแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่มีเงิน แต่หลายๆโครงการไม่ค่อยคุ้มค่าแล้ว และจะสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ซึ่งกระทรวงการคลังหรือสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ต้องสะกิดแล้ว
เช่น รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช ถ้าเปิดเดินรถน่าจะขาดทุน 100% แต่ถ้าสร้างส่วนต่อขยายอีก ก็จะหมายถึงภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น และเป็นได้สูงว่าโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ในอนาคตจะอยู่ในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP มากขึ้น คือ ให้เอกชนรับความเสี่ยงและหาเงินลงทุนให้” สุเมธกล่าว
สำหรับปี 2564 มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเปิดประมูลหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ,รถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง วงเงินรวม 1.52 แสนล้านบาท ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท
งานประมูลรถไฟความเร็วสูงรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมาที่เหลืออีก 7 สัญญา มูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ,โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง มูลค่า 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งอาจใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) และการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เช่น สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 32,187 ล้านบาท และสายนครปฐม-ชะอำ (ช่วงที่ 1 นครปฐม-เพชรบุรี) 79,006 ล้านบาท เป็นต้น
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าผู้รับเหมารายใดบ้างจะได้งานไป
อ่านประกอบ :
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/