“...ตอนนี้เราจะเน้น ThaiFirst (ไทยเฟิร์ส) เพราะโควิด-19 ที่เข้ามาทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป เราจึงต้องสนับสนุนคนไทย ซึ่งผมถามไปที่กรมบัญชีกลางว่าทำได้หรือไม่ ส่วนวิธีการที่นำมาใช้ คือ เราจะอิงวิธีการแบบ e-bidding ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลงานรัฐได้นั้น ต้องเป็นผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง ผมเกาะหลักนี้อยู่...”
....................
ล่าช้าจากแผนเดิมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีแล้ว
สำหรับการประมูลงานโยธาสัญญาที่ 1 และงานโยธาสัญญาที่ 3 โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก (กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากมีปัญหาร้องเรียน จนกระทั่งต้องยกเลิกผลการประมูลไปในที่สุด
ส่งผลให้การเปิดให้บริการ ‘ทางด่วน’ ซึ่งจะรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในกทม. สายนี้ และเดิมมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2565 หลังจากเริ่มก่อสร้างภายในปี 2562 อาจต้องล่าช้าเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
ย้อนกลับไปในปี 2562 กทพ.เปิดขายซองประมูลงานโยธาทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก 4 สัญญา มูลค่ารวม 29,154 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 7 มี.ค.-23 เม.ย.2562 ปรากฏว่ามีผู้รับเหมาไทย จีนและญี่ปุ่น ซื้อซองประมูล 18 ราย และเมื่อเปิดให้ยื่นซองในวันที่ 24 เม.ย.2562 พบว่ามีผู้รับเหมายื่นซอง 8 ราย
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปิดซองประมูลในวันที่ 21 พ.ค.2562 ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้รับเหมาจากจีน ซึ่งรวมกลุ่มกับผู้รับเหมาไทยรายกลาง ชนะการประมูล 3 สัญญา จากทั้งหมด 4 สัญญา ขณะที่ผู้รับเหมาไทยรายใหญ่ได้งานไป 1 สัญญา ได้แก่
งานโยธาสัญญาที่ 1 (งานโครงสร้างยกระดับ ระหว่าง กม.0-000-กม.6+369 ระยะทาง 6.9 กม.) ราคากลาง 6,979 ล้านบาท
ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการร่วมค้า CNA ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด โดยเสนอราคาเพียง 5,897 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางถึง 15.5%
เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ ที่เสนอราคา 5,929 ล้านบาทไปเพียง 32 ล้านบาท ขณะที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เสนอราคา 6,271 ล้านบาท ,บมจ. ช.การช่าง หรือ CK เสนอ 6,645 ล้านบาท และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC เสนอราคา 6,912 ล้านบาท
งานโยธาสัญญาที่ 2 (งานโครงสร้างยกระดับ ช่วง กม.6+369-กม.11+960.577 ระยะทาง 5.3 กม.) ราคากลาง 7,241 ล้านบาท
ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการร่วมค้า CTB ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปะนี ลิมิเต็ด ,บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด โดยเสนอราคา 6,440 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 11.07%
เบียดชนะคู่แข่งอย่าง อิตาเลียนไทย (ITD) ที่เสนอราคา 6,486 ล้านบาท ไปเพียง 46 ล้านบาท ขณะที่ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง (UNIQ) เสนอราคา 6,515 ล้านบาท , ช.การช่าง (CK) เสนอราคา 6,890 ล้านบาท และ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ (STEC) เสนอราคา 7,023 ล้านบาท
งานโยธาสัญญาที่ 3 (งานโครงสร้างยกระดับ ช่วง กม.11+960.577-กม.16+694.752 ระยะทาง 5 กม.) ราคากลาง 6,990 ล้านบาท
ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท China Railway 11 th Bureau Group Corporaton และบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคา 6,098 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 12.77%
มีชัยเหนือคู่แข่งเช่น อิตาเลียนไทย (ITD) ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในราคา 6,284 ล้านบาท ไปด้วยมูลค่า 186 ล้านบาท ขณะที่ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ (UNIQ) เสนอราคา 6,359 ล้านบาท ,ช.การช่าง (CK) เสนอราคา 6,642 ล้านบาท และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ (STEC) เสนอราคา 6,955 ล้านบาท
งานโยธาสัญญาที่ 4 (งานสะพานบริเวณ กม.16+964.752 ถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กม.) ราคากลาง 7,943 ล้านบาท
ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ ช.การช่าง (CK) ที่เสนอราคา 6,636 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.5% ชนะคู่แข่ง กิจการร่วมค้า CSP ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท พี.พี.ดี. คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เสนอราคา 7,108 ล้านบาท และกิจการร่วมค้า SMCC-ITD (สุมิโตโม-อิตาเลียนไทย) เสนอราคา 7,371 ล้านบาท
(แนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก)
ต่อมาบอร์ด กทพ. เห็นชอบให้ กทพ. ลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลงานโยธาสัญญาที่ 2 คือ กิจการร่วมค้า CTB โดยมีการลงนามสัญญาไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 และลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลงานโยธาสัญญาที่ 4 คือ ช. การช่าง โดยเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562
ขณะที่งานโยธาสัญญาที่ 1 นั้น บอร์ด กทพ. ยกเลิกผลการประมูล หลังจาก อิตาเลียนไทย (ITD) และ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ (UNIQ) ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลางเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของ กิจการร่วมค้า CNA และต่อมาคณะกรรมการฯมีคำวินิจฉัยว่า กิจการร่วมค้า CNA ขาดคุณสมบัติ
เช่นเดียวกับงานโยธาสัญญาที่ 3 บอร์ด กทพ. ได้ยกเลิกผลการประมูล เนื่องจากเห็นว่า กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ขาดคุณสมบัติด้านผลงาน ตามที่ อิตาเลียนไทย (ITD) ร้องเรียน อย่างไรก็ตาม กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ยื่นฟ้องกรณีพิพาทดังกล่าวต่อศาลปกครอง ซึ่งจนถึงปัจจุบันศาลฯยังไม่มีคำตัดสินออกมา
เป็นที่น่าสังเกตว่าในการประมูลครั้งนี้ อิตาเลียนไทย (ITD) ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของไทย เพิ่มบทบาทในฐานะ ‘ผู้ร้องเรียน’ มากขึ้น ขณะที่ศักยภาพในการแข่งขันของ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ (STEC) ลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากการเสนอราคาประมูลที่สูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก พร้อมๆกับการรุกคืบเข้ามาของผู้รับเหมาจากจีน
สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้กทพ.อยู่ระหว่างรอหนังสือจากกรมบัญชีกลางว่า การเปิดประมูลงานโยธาสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 นั้น สามารถใช้วิธีการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ตอนนี้เราจะเน้น ThaiFirst (ไทยเฟิร์ส) เพราะโควิด-19 ที่เข้ามาทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป เราจึงต้องสนับสนุนคนไทย ซึ่งผมถามไปที่กรมบัญชีกลางว่าทำได้หรือไม่ ส่วนวิธีการที่นำมาใช้ คือ เราจะอิงวิธีการแบบ e-bidding ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลงานรัฐได้นั้น ต้องเป็นผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง ผมเกาะหลักนี้อยู่” สุรเชษฐ์กล่าว
(สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข (ซ้าย) เซ็นสัญญาว่าจ้างเป็นผู้ว่าการ กทพ. คนที่ 15 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563)
สุรเชษฐ์ ยังระบุว่า การเปิดประมูลสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 อาจมีราคากลางสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากจะร่นเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 6 เดือน เพราะการก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาดังกล่าว ล่าช้ามาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว แต่การร่นเวลาให้เร็วขึ้นนั้น ทำให้ผู้รับเหมาจำเป็นต้องเพิ่มทรัพยากรในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคากลางเพิ่มขึ้น ขณะที่การก่อสร้างก็ไม่ได้ง่าย เพราะสร้างในเมือง
นอกจากนี้ เพื่อลดปัญหาการร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นในการประมูลรอบใหม่ กทพ.ได้นำคำวินิจฉัยที่คณะกรรมการอุทธรณ์ฯได้วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้ มาปรับปรุงร่างทีโออาร์ให้รัดกุม ชัดเจน และเขียนให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะในประเด็นคุณสมบัติต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และชี้แจงให้ผู้รับเหมาเข้าใจตรงกันแล้ว
“งานดีเลย์มา 1 ปี แต่เราจะทำให้กระทบน้อยที่สุดหรือเสียหายน้อยที่สุด แต่การร่นระยะเวลาก่อสร้างให้สั้นลง ก็หมายถึงต้องใช้ทรัพยากรเยอะขึ้น ดังนั้น ราคากลางจะสูงขึ้นมาบ้าง และคงตอบไม่ได้ว่าราคาประมูลที่เอกชนเสนอในการประมูลครั้งใหม่จะต่ำกว่าราคากลางเท่าไหร่ แต่ขอภาวนาว่าอย่าร้องเรียนกันเยอะเลย” สุรเชษฐ์ระบุ
ส่วนการประมูลงานสัญญาที่ 5 (งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร) วงเงินเบื้องต้น 900 ล้านบาทนั้น สุรเชษฐ์ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ โดยระบบเก็บค่าผ่านทางจะเป็นระบบ M-Flow ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีไม้กั้น ซึ่งจะทำให้ราคากลางลดลง
สุรเชษฐ์ ย้ำว่า “โครงการนี้ล่าช้ามาเยอะแล้ว ยิ่งช้าไปรัฐยิ่งเสียหาย และว่าก่อนจะล้ม (ประมูล 2 สัญญา) เราได้เชิญเอกชนมาอธิบายทำความเข้าใจกันแล้ว และซักซ้อมว่าที่ล้ม ล้มใเพราะอะไร ตอนนี้ต้องเดินไปข้างหน้าแล้ว” พร้อมระบุว่า “เมื่อกรมบัญชีกลางตอบหนังสือที่กทพ.ถามไป น่าประมูลได้ไม่เกินไตรมาส 1 ปีนี้ โดยเราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด”
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การประมูลงานโยธาสัญญา 1 และสัญญา 3 รวมถึงสัญญา 5 ของโครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก (กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) ผู้รับเหมารายได้บ้างที่จะเข้าวิน
อ่านประกอบ :
ย้อนรอยเมกะโปรเจกต์รัฐปี 63 รับเหมา ‘เก่า-ใหม่’ แข่งเดือด ‘ทุนเจ้าสัว’ รุกขนาบ
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/