“...การมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ไม่ใช่การยกสิทธิพิเศษให้เหนือกว่าคนอื่น แต่เป็นการดึงให้กลุ่มชาติพันธุ์ยืนเทียบเท่าคนทั่วไป มีสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น ๆ...”
…………………………………..
ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ หลังจากกระเหรี่ยงบางกลอยยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และเกิดปัญหาใหม่ตามมา จากกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังสกัดกั้นการเดินทางกลับใจแผ่นดินของพวกเขา
แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เชื่อว่าการเจรจาระหว่างรัฐ – กะเหรี่ยงบางกลอยจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาในระยะสั้นนี้
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว หลายภาคส่วนฝากความหวังไว้ที่การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดนโยบายให้สอดรับกับการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมีการยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนทั้งสิ้นทั้งหมด 3 ร่าง ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
2.ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดทำโดยกลุ่มสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จัดทำโดยสภาผู้แทนราษฎร
ภาพประกอบจาก: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
@ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เป็นร่างกฎหมายที่ถูกยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ได้รับมอบหมายมาจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม
นายอภินันท์ ธรรมเสนา รักษาการหัวหน้าสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดทำขึ้นตามแผนปฏิรูปประเทศ และเริ่มดำเนินการหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อปี 2553 เห็นชอบให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยหลักการสำคัญ คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมาตรา 70 แห่งรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการให้ ‘สิทธิพิเศษ’ แต่เป็นการ ‘คุ้มครองสิทธิ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากคนเหล่านี้ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย จึงควรที่จะมีกฎหมายคุ้มครอง เช่นเดียวกับกฎหมายคุ้มครองเด็กหรือการคุ้มครองสิทธิสตรี
สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... ที่บัญญัติไว้มี 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษ แต่เป็นการให้ความคุ้มครองในฐานะเป็นกลุ่มเปราะบางด้อยสิทธิ และยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น การได้รับการดูแลและไม่ถูกเกลียดชัง เหยียดหยาม หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การอนุรักษ์ภูมิปัญญาหรือความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจัดการชุมชนและพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชน เป็นต้น
2.จัดตั้ง 'คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์' เพื่อเป็นกลไกของรัฐที่จะเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรงและเป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสร้างกลไกไปสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานต่อไป
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กลุ่มชาติพันธุ์จัดการตนเอง ในรูปแบบของ 'สมัชชาชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย' ประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่เลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิกสมัชชา โดยมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วนงานภาครัฐ
4.การจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศและเพิกถอนเขตพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดเพื่อการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการดำเนินกิจการอื่นของรัฐ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์
5.การกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีแนวคิดมากจากการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ อันเป็นความพยายามของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมได้อย่างสมดุล กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สำหรับสถานะล่าสุด ร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ โดยมีกำหนดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 มี.ค.2564 จากนั้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ พร้อมทั้งปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมก่อนเสนอให้สภาพิจารณาต่อไป
ภาพประกอบจาก: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
@ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... จัดทำโดย สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
เนื่องด้วยประเทศไทยมีชนเผ่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค และมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ด้อยหรือขาดโอกาสจากกระบวนการพัฒนาของรัฐ เป็นเหตุให้ถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ จึงเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และก่อตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายได้รับการปกป้องคุ้มครอง จนเกิดเป็นการผลักดันร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ.… ฉบับนี้ขึ้น เพื่อหวังเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ประกอบด้วย
1.กำหนดให้มี ‘สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ที่มาจากชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาแล้ว จำนวนกลุ่มละไม่เกิน 15 คน
ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ภาครัฐและสาธารณชน เพื่อให้ภารกิจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงศึกษา ติดตาม และประเมินผลกระทบของนโยบายหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อจัดทำรายงานและข้อเสนอในประเด็นของชนเผ่าพื้นเมืองต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์การระหว่างประเทศ
2.กำหนดให้มี ‘คณะผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง นักพัฒนา หรือนักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จำนวน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือ แก่สมาชิกสภา คณะกรรมการบริหารสภา รวมถึงคณะทำงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ
3.กำหนดให้มี ‘กองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ซึ่งมาจากการเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินหรือทรัพย์สิ่งที่มีผู้บริจาคให้เพื่อสบทบกองทุน
โดยกองทุนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และสนับสนุนกิจกรรมโครงการของกลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมือง เช่น สนับสนุนกิจกรรมโครงการของกลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกเสนอโดยภาคประชาชน อยู่ในขั้นตอนการล่ารายชื่อให้ครบทั้งสิ้น 15,000 ชื่อ เพื่อเสนอต่อสภาต่อไป โดยคาดว่าจะถูกนำไปพิจารณาควบคู่กับร่างกฎหมายที่จัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ภาพประกอบจาก: สำนักข่าวชายขอบ
@ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จัดทำโดยสภาผู้แทนราษฎร
นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ (ชุดที่ 2) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกับ ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีเนื้อหาสาระสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนและอนุรักษ์คุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 70 แห่งรัฐธรมนูญ
โดย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในกระบวนการปรับปรุงรายละเอียดเป็นรายมาตรา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจะส่งเข้าสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
@ข้อแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ
นายอภินันท์ ธรรมเสนา รักษาการหัวหน้าสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการและเจตนารมณ์ที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่ ร่างกฎหมายที่ทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์ รวมถึงวิธีการส่งเสริม เช่น การจัดตั้งสมัชชา เป็นต้น
ในขณะที่ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เน้นหลักการทำงานตามกลไกสภาอย่างเดียว ส่วน พ.ร.บ.ที่จัดทำโดยสภาผู้แทนราษฎรจะเน้นถึงบทลงโทษ
ภาพประกอบจาก: สำนักข่าวชายขอบ
@ร่างกฎหมาย ชาติพันธุ์ คือทางออกปัญหาชนพื้นเมือง ?
ขณะที่ นายพชร คำชำนาญ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ คือเรื่องการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ถูกรวบทั้งหมดไว้ในการจัดการของรัฐส่วนกลางภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการนับรวบยอด รวมคนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ป่าว่าเป็นผู้บุกรุก รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาก่อนหน้านี้ด้วย
นายพชร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับไหนคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้จริง ที่ผ่านมามีแค่มติ ครม. ว่าด้วยแนวนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรที่ทำกำกับดูแลพื้นที่ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังมองเป็นแค่มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.อุทยานฯ
นายพชร กล่าวย้ำว่า การมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ไม่ใช่การยกสิทธิพิเศษให้เหนือกว่าคนอื่น แต่เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ถูกละเมิด ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมี พ.ร.บ.จะเป็นการดึงให้กลุ่มชาติพันธุ์ยืนเทียบเท่าคนทั่วไป มีสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น ๆ
"การมี พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่จะเป็นกลไกที่มีส่วนที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างแน่นอน" นายพชรกล่าว
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการมีกฎหมายสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นและเร่งด่วนที่จะเห็นผลได้เร็วที่สุด คือ การเจรจา
นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเห็นปัญหาบ้านบางกลอยที่สะสมมานาน เชื่อว่า การเจรจาหาทางออกร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน จะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่มีข้อตกลงร่วมกันได้
"ในอดีตที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหาแบบนี้มาเป็นช่วงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องกลับไปดูบริบทเหล่านี้ก็คือ ข้อตกลงต่างๆที่ตกลงในแต่ละช่วงเวลาในขณะนั้น สามารถทำได้ครบหรือไม่ ทำให้ถูกต้องตามข้อตกลงหรือไม่ ผมคิดว่าถ้าในอดีตทำตามข้อตกลงที่วางกันไว้ ปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่สะสมมาจนถึงวันนี้ เป็นการบอกว่าก่อนจัดการแก้ปัญหาหรือว่าข้อตกลงที่มันล้มเหลวนั้น คือปัญหาซับซ้อนมาจนถึงปัจจุบัน" นายสุชาติกล่าว
ด้วยเหตุนี้ ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ จึงกลายเป็นความหวังที่หลายฝ่ายเชื่อว่า จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ภาครัฐ-กลุ่มชาติพันธุ์ จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
เสวนา'saveบางกลอย'แนะรัฐทบทวนแผนจัดการป่าอนุรักษ์ คำนึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
ทำไร่หมุนเวียน ทำลายป่าอนุรักษ์ มายาคติคนเมืองถึง'กะเหรี่ยง'กลุ่มชาติพันธุ์
'ม็อบกะเหรี่ยง'ถอยกลับบางกลอย 17 ก.พ.'วราวุธ-ธรรมนัส'ยอมลงนามข้อตกลงร่วมภาคี
'บิ๊กตู่'ย้ำไม่ใช้ความรุนแรง แก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'
'กะเหรี่ยงบางกลอย'ยื่น 7 ข้อเสนอ ไม่ย้ายจากใจแผ่นดิน-รอคณะทำงาน ทส.ร่วมเจรจา
สมาคมอุทยานฯ-เครือข่ายอนุรักษ์ฯร้อง'บิ๊กตู่'ยกเลิกเอ็มโอยู'กะเหรี่ยงบางกลอย'
ถอดบทเรียนข้อโต้แย้ง-ความเห็นต่างจาก'กะเหรี่ยงบางกลอย'ถึง #Saveแก่งกระจาน
พีมูฟแถลงตำหนิ'วราวุธ'ไม่คุมเจ้าหน้าที่ แก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage