กลุ่มสมาคมอุทยานแห่งชาติ - เครือข่ายอนุรักษ์ ยื่นหนังสือร้องนายกรัฐมนตรี ขอยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำกับ 'กะเหรี่ยงบางกลอย' ระบุคนที่มีปัญหา ไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นผู้อพยพใหม่
....................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 เวลา 09.00 น. นายไพรัตน์ ธารไชย นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยกลุ่มสมาคมอุทยานแห่งชาติและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 100 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ภายในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรณีการบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรีในใจกลางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานของกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
ทั้งนี้เมื่อเวลา 09.40 น. นางวัฒนา วชิโรดม หนึ่งในกลุ่มสมาคมอุทยานแห่งชาติ และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สมาคมอุทยานแห่งชาติและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อสังเกตและข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผืนป่ามรดกอันล้ำค่าของประเทศไท และโลก อีกทั้งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียน ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จึงควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้
2. สภาพปัจจุบันของชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู่ 2 ตั้งอยู่สองฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี จากการเข้าพื้นที่ชุมชนดังกล่าว สมาคมฯ พบเห็นว่ามีหลายหน่วยงานเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนบ้านบางกลอยโป่งลึก เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แผงโซล่าเซลล์ เสารับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ สถานีอนามัยโรงทอผ้าของศูนย์ศิลปาชีพศาลาประชาคม เป็นต้น พบเห็นวัยรุ่นในหมู่บ้านใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะเดินทาง นับเป็นชุมชนกลางป่าอนุรักษ์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากพอสมควร
3.กลุ่มชาวกระเหรี่ยงที่บุกรุกป่าในระหว่าง เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 และกล่าวอ้างว่าพวกตนเป็นชาวชุมชนบ้านบางกลอยล่าง ซึ่งอพยพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 แต่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินนั้น ในขณะที่ข้อเท็จจริงจากคลิปและภาพข่าว พบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอายุช่วงวัยรุ่น บางส่วนเป็นเด็กและผู้หญิงส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่ามในการสื่อสาร หากเป็นตามที่กล่าวอ้าง เมื่อระยะเวลาผ่านมาราว 25 ปีแล้ว ควรจะเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชนไทยและพูดภาษาไทยได้แล้ว เพราะลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย ย่อมได้การศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนโป่งลึก
4.สมาคมฯ ขอเสนอและเรียกร้องให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ที่ประกาศแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทระยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบุรี และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะบุคคลของกลุ่มคนที่เข้าไปถางป่าใหม่ทุกคนให้ชัดเจนเป็นลำดับแรกเสียก่อน ในลำดับต่อไปจึงจะพิจารณาดำเนินการให้มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมให้กันชาวบ้านบางกลอย
5. หากพบว่า กลุ่มคนดังกล่าวเป็นผู้ที่เพิ่งลักลอบ หรืออพยพเข้ามาใหม่จากประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้นายกรัฐมนตรี กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเร่งด่วนและขยายผลไปยังเรื่องการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องอื่นๆ ต่อไปด้วย
6. ขอให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้สนับสนุนการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด ที่ได้กระทำการกดดันรัฐบาลและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และด้วยวิธีการต่างๆเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อสร้างกระแสสังคมไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติพ.ศ.2562 ด้วยการให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อประชาชนทั่วไป และต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ปลุกปั่นกระแสชุดความคิดสิทธิชนเผ่า และ สิทธิมนุษยชน เป็นเครื่องมือในการอ้างความชอบธรรมสำหรับการจะเข้าไปถางป่า
7. ตามหนังสือที่อ้างถึงสมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก บันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคี #SAVE บางกลอยและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 เนื่องจากเนื้อหาของบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งหนังสือที่อ้างถึงเนื้อหาของบันทึกข้อตกลง ยังทำให้สังคมเข้าใจคาดเคลื่อน
8. ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดที่บุกรุกทำลายป่าตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
เสวนา'saveบางกลอย'แนะรัฐทบทวนแผนจัดการป่าอนุรักษ์ คำนึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
ทำไร่หมุนเวียน ทำลายป่าอนุรักษ์ มายาคติคนเมืองถึง'กะเหรี่ยง'กลุ่มชาติพันธุ์
'ม็อบกะเหรี่ยง'ถอยกลับบางกลอย 17 ก.พ.'วราวุธ-ธรรมนัส'ยอมลงนามข้อตกลงร่วมภาคี
'บิ๊กตู่'ย้ำไม่ใช้ความรุนแรง แก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'
'กะเหรี่ยงบางกลอย'ยื่น 7 ข้อเสนอ ไม่ย้ายจากใจแผ่นดิน-รอคณะทำงาน ทส.ร่วมเจรจา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage