"...เป็นความเห็นที่แตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่ม ทั้ง #Saveบางกลอย และ #Saveแก่งกระจาน ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องเดียวกัน ในชุดข้อมูลที่แตกต่างกันที่จนบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้..."
.....................................................
กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างกัน หลังเกิดประเด็นกะเหรี่ยงบางกลอย เดินเท้ากลับป่าใจแผ่นดินจนถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ เกิดกระแส #Saveบางกลอย จากแนวร่วม-กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย แต่ในทางกลับกันก็มีความเห็นจากคนอีกกลุ่มที่มองว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการรุกล้ำพื้นที่อนุรักษ์ จนเกิดกระแส #Saveแก่งกระจาน ที่นำโดย กลุ่มสมาคมอุทยานแห่งชาติและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์
ในเรื่องเดียวกัน จึงเกิดชุดข้อมูลที่แตกต่างกันอยู่เสมอ
กลุ่มหนึ่ง อ้างสิทธิ์การอยู่อาศัยดั้งเดิมก่อนกฎหมายป่าไม้มีผลบังคับใช้ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหม่ที่เพิ่งอพยพย้ายถิ่นฐาน
และยังชุดข้อมูลอีกหลายเรื่อง ที่ถูกนำเสนอผ่านสังคมในความเห็นที่แตกต่างกัน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลความเห็นต่างระหว่าง ระหว่างกลุ่ม #Saveบางกลอย และ #Saveแก่งกระจาน ไว้ดังนี้
@ พื้นที่ดั้งเดิมของกะเหรี่ยง หรือ ป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ?
กลุ่ม #Saveบางกลอย มองว่า ในอดีตพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย 'กะเหรี่ยง' หรือ 'กะหร่าง' อาศัยอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปของพื้นที่ที่เรียกว่า 'ใจแผ่นดิน' บริเวณกลางป่าลึกติดกับชายแดนพม่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของผืนป่าแก่งกระจาน
โดย 'ใจแผ่นดิน' ปรากฏครั้งแรกในแผนที่ทหาร ปี 2497 ต่อมาภาครัฐได้เจรจาและอพยพชาวกะเหรี่ยง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง มาอยู่บริเวณบ้านบางกลอยล่างในปัจจุบัน โดยได้จัดสรรที่ดินทำกิน พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ แต่เนื่องจากประสบปัญหาที่ดินไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถดำเนินตามวิถีดั้งเดิมได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงได้มีการลักลอบกลับขึ้นไปที่หมู่บ้านเดิม พร้อมดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิม คือการทำไร่หมุนเวียน
ในปี 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีการตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่าแก่งกระจาน พบว่ามีชาวบ้านบางส่วนได้มีการลักลอบทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน และปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ทางฝ่ายอุทยานฯ จึงต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยการเจรจา การบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งผลักดันด้วยวิธีต่างๆ จนเกิดคดีความฟ้องร้องระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่อุทยาน กรณีเผาทำลายหมู่บ้านปู่คออี้
กลุ่ม #Saveแก่งกระจาน มองว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผืนป่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพิทักษ์และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุด เพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนไทยทั้งประเทศ และของคนทั้งโลก เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียนตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยมรดกโลกอีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2552 พื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลรักษาเพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าในชาติ
สภาพปัจจุบันของชุมชนบางกลอย หมู่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู 2 ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี พบว่ามีหลายหน่วยงานเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน , แผงโซลาร์เซลล์ , เสารับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ , สถานีอนามัย เป็นต้น และยังพบเห็นวัยรุ่นในหมู่บ้านใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง นับเป็นชุมชนกลางป่าอนุรักษ์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก
นอกจากนั้นยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กลุ่มชาวกระเหรี่ยงที่บุกรุกป่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นกลุ่มผู้อพยพใหม่ จากชายแดนเมียนมา ด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ใช่กลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอยเดิม เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 25 ปีแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวควรจะเป็นผู้ที่ได้รับบัตรประชาชนไทย และสามารถพูดภาษาไทยได้แล้ว เพราะลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย ย่อมได้การศึกษาขั้นต้น อีกทั้งพบร่องรอยการรุกป่าถางและเผาในป่าบริเวณห้วยเต่าดำบริเวณ บางกลอยกลาง เปรียบเทียบพิกัดปี 2539 ปี 2554 และล่าสุด เดือน ม.ค.- ก.พ. ปี 2564 เป็นการทำลายป่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใหม่ไม่ใช่พื้นที่เดิม ตามที่ชาวบ้านกล่าวอ้าง
ภาพประกอบจาก: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
@รอยแหว่งพื้นป่า คือ 'ไร่ซาก' หรือทำลายเพิ่ม ?
เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯตรวจสอบสภาพป่าทางอากาศ พบว่ามีพื้นที่ป่าบริเวณเหนือหมู่บ้านบางกลอยขึ้นไปประมาณ 8 กิโลเมตร ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน มีร่องรอยการตัดไม้และถางป่า เป็นไม้ไผ่กับไม้ยืนต้นบริเวณ 2 ฝั่งของแม่น้ำบางกลอย จำนวน 10 จุด มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ และพบว่ามีการเร่งเผาทำลายเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติมอีกด้วย
ขณะที่ภาคี #Saveบางกลอย ร่วมกับประชานผู้รักความเป็นธรรม ออกแถลงการณ์เรื่องวิกฤตผลิตซ้ำมายาคติกะเหรี่ยงทำลายป่า ระบุว่า ชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม จากการสอบถามชาวบ้าน ย้ำว่า แปลงที่ดินทำกินแบบไร่หมุนเวียนแปลงสุดท้ายที่ถูกถางคือเมื่อวันที่ 12 ก.พ. เป็นเวลา 3 วัน ก่อนชาวบ้าน 10 คนจะไปปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งแปลงที่ทำกินทั้งหมดยังเป็นพื้นที่ 'ไร่ซาก' ที่เป็นที่ทำกินของชุมชนมาก่อนถูกอพยพในปี 2539 และ 2554
นอกจากนี้ยังระบุว่า ชาวบ้านเผาป่า แท้จริงเป็นการเผกำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม ไม่ได้สร้างมลภาวะหรือเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ดังที่มีงานวิชาการหลายด้านรองรับ ทั้งนี้หลังจากแผ้วถางมาแล้วกว่า 1 เดือน ไม้ในไร่หมุนเวียนในแห้งแล้ว จึงจะได้เวลาที่ต้องเผา หากรอนานกว่านี้ ฝนอาจจะตก และทำให้ไม่สามารถทำกินได้เลยตลอดทั้งปี
"เรายืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ทำตามข้อตกลงทุกข้อตามที่เจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อยุติ ขณะที่รัฐพยายามอ้างข้อกฎหมาย ช้าวบ้านกำลังยืดหยันในกฎกติกาแห่งจารีตของบรรพชน กฎหมายที่มาทีหลัง ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะบังคับใช้ในพืน้ที่บ้านบางกลอย-แผ่นดิน" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
ภาพประกอบจาก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
@ เอ็มโอยูระหว่างรัฐ-กะเหรี่ยงบางกลอยนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือไม่ ?
ส่วนกรณี หนังสือลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กลุ่มภาคี #Saveบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว ผู้ลงนามฝ่ายรัฐ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ คือ ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด , หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง และยุติคดีของสมาชิก 10 คน กรณียื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564
นอกจากนี้ในระยะยาว ยังเห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) , สถาบันวิชาการเครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนกะเหรี่ยงบางกลอย เพื่อศึกษา หาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
ทางด้านกลุ่ม #Saveแก่งกระจาน ระบุในหนังสือร้องนายกรัฐมนตรี ว่า เนื้อหาของบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งหนังสือที่อ้างถึงเนื้อหาของบันทึกข้อตกลง ยังทำให้สังคมเข้าใจคาดเคลื่อน และทำให้ชาวบ้านบางกลอยใช้อ้างเป็นใบเบิกทางว่า รัฐอนุญาตให้กลุ่มที่อ้างว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านบางกลอย กลับขึ้นไปอยู่อาศัยทำกินที่บริเวณพื้นที่บางกลอยบนได้ ทำให้เกิดการถางเผาป่าสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้ และขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความยากลำบากอีกด้วย
ทั้งหมดเป็นความเห็นที่แตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่ม ทั้ง #Saveบางกลอย และ #Saveแก่งกระจาน ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องเดียวกัน ในชุดข้อมูลที่แตกต่างกันที่จนบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
ภาพประกอบจาก: เพชรภูมิ
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
เสวนา'saveบางกลอย'แนะรัฐทบทวนแผนจัดการป่าอนุรักษ์ คำนึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
ทำไร่หมุนเวียน ทำลายป่าอนุรักษ์ มายาคติคนเมืองถึง'กะเหรี่ยง'กลุ่มชาติพันธุ์
'ม็อบกะเหรี่ยง'ถอยกลับบางกลอย 17 ก.พ.'วราวุธ-ธรรมนัส'ยอมลงนามข้อตกลงร่วมภาคี
'บิ๊กตู่'ย้ำไม่ใช้ความรุนแรง แก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'
'กะเหรี่ยงบางกลอย'ยื่น 7 ข้อเสนอ ไม่ย้ายจากใจแผ่นดิน-รอคณะทำงาน ทส.ร่วมเจรจา
สมาคมอุทยานฯ-เครือข่ายอนุรักษ์ฯร้อง'บิ๊กตู่'ยกเลิกเอ็มโอยู'กะเหรี่ยงบางกลอย'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage