ม็อบ 'กะเหรี่ยงบางกลอย' เตรียมกลับภูมิลำเนาวันที่ 17 ก.พ.หลัง 'วราวุธ' และ 'ร.อ.ธรรมนัส' ยอมลงนามในหนังสือข้อตกลง ยุติการขัดขวางชาวบ้านบางกลอยกลับใจหมู่บ้าน
............................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 นายประยงค์ ดอกลําไย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมหารือกับ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอย ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย นายพงศ์บุณย์ ได้รับข้อเสนอของทางกลุ่มทั้งหมดเพื่อไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวว่าจะมีการจัดตัวแทนหน่วยงานจัดการและตัวแทนชาวบ้านลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 19 ก.พ.นี้
เวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ช่วยกันยกเต็นท์ หมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ขยับข้ามถนน จากถนนพระราม 5 มาที่หน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งขวางทางเข้าทำเนียบรัฐบาลบริเวณหน้าแผงกั้น เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อเป็นการกดดันให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ลงนามในบันทึกข้อตกลงที่จัดทำขึ้นเพื่อให้มีแนวทางชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นหลักประกันว่าผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่มาปักหลักชุมนุมในครั้งนี้ จะได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล ต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า มีการลงไปที่พื้นผิวการจราจร ทำให้ต้องใช้แผงเหล็กกั้นจัดแนวไว้ที่บริเวณช่องทางซ้ายสุด ขนานกับทางเท้าหน้าทำเนียบ และขอให้อยู่ชุมนุมไม่เกิน 17.00 น. เพราะเป็นเขตห้ามชุมนุม
และเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เข้าพูดคุยกับบุคคลต่างๆในที่ชุมนุม ต่อมากลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี รวม 3 ราย ลงนามในบันทึกข้อตกลง ร่วมกับตัวแทนภาครัฐ 4 ราย ประกอบด้วย ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเอกสารการลงนามฯ จัดทำขึ้นทั้งหมด 6 ฉบับ มีเนื้อหาหลักสำคัญ คือ ส่วน 3 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด, หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และจุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด และยุติคดีของสมาชิกภาคีทั้ง 10 ราย ในกรณีการยื่นหนังสือต่อ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา
ส่วนข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งสิ้น 6 ข้อ ได้แก่
1.ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทําไร่หมุนเวียน และดํารงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบนใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทํากิน และดําเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยการรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
2.ยุติการใช้กําลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการ ข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทํากินอยู่ที่บ้าน บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน
3.ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจําเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย
4.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการ จับกุม ดําเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน
5.ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดําเนินการจัดสรรที่ดินทั้ง ที่ดินอยู่อาศัยและทํากินให้เพียงพอต่อการดํารงชีพ เพื่อให้สามารถดําเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง
6.รัฐจะต้องยุติการดําเนินการสนธิกําลังกันของเจ้าหน้าที่รัฐได้ตั้งจุดสกัด เดินลาดตระเวนและตรวจ ค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านบางกลอย และมีมาตราการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและ ความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอยทุกคน
ทั้งนี้ คืนนี้จะเป็นการปักหลักชุมนุมเพื่อจัดกิจกรรมคืนสุดท้าย และพรุ่งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านบางกลอย
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
เสวนา'saveบางกลอย'แนะรัฐทบทวนแผนจัดการป่าอนุรักษ์ คำนึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
ทำไร่หมุนเวียน ทำลายป่าอนุรักษ์ มายาคติคนเมืองถึง'กะเหรี่ยง'กลุ่มชาติพันธุ์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage