กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยกว่า 50 คน อพยพเดินเท้ากลับ 'ใจแผ่นดิน' หมู่บ้านดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง หลังเผชิญปัญหาไร้ที่ทำกิน-หนีโควิด นักวิชาการกลุ่มชาติพันธุ์ แนะรัฐอย่าจับกุมหรือใช้ความรุนแรง แต่ต้องร่วมกันเจรจาเพื่อหาทางออกของปัญหา
.....................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)รายงานว่าวันที่ 21 ม.ค. 2564 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (SAC) ร่วมกับ ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต , ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเวทีสาธารณะออนไลน์ ในหัวข้อ ‘จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์’ โดยมี นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี , นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง จ.เชียงใหม่ , นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม , นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต , นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้
การเสวนาครั้งนี้ เกิดขึ้น หลังจากมีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านบางกลอยล่างกลุ่มหนึ่ง รวมกันเดินเท้ากลับขึ้นไปหมู่บ้านบางกลอยบน ไปที่ใจแผ่นดินหมู่บ้านดั้งเดิมของชาวกระเหรี่ยง ภายหลังจากชาวบ้านบางกลอย ทั้งหมู่บ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 แต่อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีที่ทำกินและหนีกลับขึ้นไปอยู่บ้านเดิม จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าจัดการพื้นที่เมื่อปี 2554 และกดดันให้ชาวบ้านย้ายลงมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึกในเวลาต่อมา
นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข หรือ ชิลลี่ ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยกว่า 50 คนที่เดินเท้ากลับขึ้นไปที่หมู่บ้านใจแผ่นดินนั้น ยังคงมีการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านบางกลอยล่างอยู่เป็นระยะๆ พร้อมยืนยันว่า ชาวบ้านที่ขึ้นไปยังไม่ได้สร้างกระท่อมตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานให้ข้อมูล ส่วนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกนั้น เป็นเพียงพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยถูกเผาไปเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของชาวบ้านกว่า 50 คนที่ตัดสินใจเดินเท้ากลับไปนั้น เพราะนับตั้งแต่ถูกอพยพลงมาในปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน รัฐไม่เคยแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ดินทำกินที่ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถทำกินได้ อีกทั้งยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติก็ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ไปไหนได้ ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเห็นว่าอยู่ที่นี่ต่อไปคงต้องอดตายแน่นอนและไม่เห็นถึงทางออก จึงตัดสินใจร่วมกันว่าต้องอพยพกลับพื้นที่ดั่งเดิมที่บรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่
ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การถูกบังคับอพยพของชาวบ้านบางกลอยบนนั้นเป็นการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่บางคนเท่านั้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดรับรอง อีกทั้งเมื่อสืบหลักฐานย้อนหลัง พบว่าชาวบ้านอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินมากว่าร้อยปีแล้ว ในกรณีคดีของปู่คออี้ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า เจ้าหน้าที่ทำการไล่ รื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สินของชาวบ้านเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวถึง ปัญหาความขัดแย้งของชนพื้นเมืองนั้น เป็นปัญหาเรื้อรัง มีความเชื่อมโยงหลายเรื่องและหลายด้าน ทำให้แก้ไขได้ยาก อีกทั้งสังคมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และมีอคติต่อชนพื้นเมือง จากภาพจำเมื่อ 30-50 ปีก่อน ว่า ชนพื้นเมืองตัดไม้ทำลายป่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่เข้าให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า สำหรับแนวทางที่อยากให้รัฐใช้แก้ปัญหาขณะนี้ คือ ขั้นแรก ต้องไม่จับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านที่เดินทางกลับใจแผ่นดิน เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยนั้น อาศัยอยู่มาก่อนแล้ว และถูกบังคับให้อพยพ ดังนั้นแนวทางที่พึงปฎิบัติคือ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และให้ความเป็นธรรม พิทักษ์ความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และการคืนที่ดินของชุมชน
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่เคารพและปฎิบัติตาม มติ ครม. เรื่องพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของทุกชาติพันธ์ พร้อมทั้งพัฒนา มติ ครม. และสิทธิชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์ และทบทวนกฎหมายว่าด้วยป่าที่ล้าหลังที่ไม่ยอมรับสิทธิชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาเหล่นี้ในระยะยาว