“...ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ์ติดตามเงินคืน เป็นข้อถกเถียงของนักกฎหมายมาตลอด โดยเราจะเห็นว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมา 2 แนวทาง คือใช้ลาภมิควรได้ และใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาพิจารณา จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่า ตกลงจะใช้กฎหมายอะไรกันแน่ และอะไรเป็นตัวแบ่งแยกที่จะต้องใช้กฎหมายใดมาพิจารณา...”
................................................
เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นของรัฐ ล่าสุดคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีมติเห็นชอบชะลอการเรียกคืนทุกกรณี - จัดตั้งอนุกรรมการแก้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระยะยาว และเตรียมนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า (อ่านประกอบ : คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน)
ท่ามกลางกระแสสังคมดังกล่าว คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการออนไลน์เรื่อง ‘การเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เพื่อถกเถียงและเสนอแนวทางการแก้ไขในระยะยาว โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ วายุภาพ อดีตประธานศาลฎีกา , รศ.อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอภิราชย์ ขันธ์เสน ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการนำกฎหมายเอกชนมาบังคับใช้กับข้อพิพาททางปกครอง เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
โดยมีข้อเสนอ - ความเห็นทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวไว้อย่างน่าสนใจ
@คำพิพากษาศาลฎีกา 2 แนวทางทำ'เบี้ยคนชรา'อาจถูกตัดสินเรียกคืนทั้งหมด
รศ.อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการพิจารณาคดีการเรียกเงินคืน ยังมีคำพิพากษาในลักษณะเดียวที่แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ คืนเงินเต็มจำนวน กับ คืนเฉพาะบางส่วนที่เหลืออยู่ โดยบางคดีเริ่มต้นมาจาก พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 51 ที่บัญญัติให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ว่าด้วยเรื่อง 'ลาภมิควรได้' มาบังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้แม้ว่าผู้รับเงินจะได้มาโดยสุจริต ก็มีแนวทางคำวินิจฉัยว่าเป็นลาภที่มิควรได้ และให้คืนเงินเฉพาะที่เหลืออยู่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 412 ขณะเดียวกันก็มีคำวินิจฉัยอีกทางหนึ่ง จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2562 ที่วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องของการติดตามทรัพย์หรือเอาเงินคืน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 จึงส่งผลให้ต้องเรียกเงินคืนทั้งหมด
นายอานนท์ กล่าวย้ำว่า จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายใดให้คำนิยามของ 'ลาภมิควรได้' ได้อย่างชัดเจน และนิยามคำนี้จะเกี่ยวพันกับกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากหากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา ศาลอาจพิจารณาว่าไม่ถือเป็นลาภมิควรได้ และมีคำสั่งให้จ่ายคืนทั้งหมด จะเป็นปัญหาได้
“ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ์ติดตามเงินคืน เป็นข้อถกเถียงของนักกฎหมายมาตลอด โดยเราจะเห็นว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมา 2 แนวทาง คือใช้ลาภมิควรได้ และใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาพิจารณา จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่า ตกลงจะใช้กฎหมายอะไรกันแน่ และอะไรเป็นตัวแบ่งแยกที่จะต้องใช้กฎหมายใดมาพิจารณา” รศ.อานนท์ กล่าว
@ดำเนินคดีเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตนนำเงินแสนเรียกคืนเงินหมื่น
นายอภิราชย์ ขันธ์เสน ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการนำกฎหมายเอกชนใช้บังคับกับข้อพิพาททางปกครอง กล่าวว่า การพิจารณาคดีกรณีเรียกเงินคืนดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรม โดยหลักการพิจารณา คดีจะถูกส่งมายังศาลปกครองก่อน และจะส่งต่อไปยังศาลยุติธรรมเพื่อให้ออกคำสั่งเรียกเงินคืน เนื่องจากศาลปกครองเห็นว่าหลังจากเพิกถอนคำสั่งศาลปกครองที่มีประโยชน์แล้ว และในประเทศไทยยังไม่มีฐานกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานการปกครองออกคำสั่งเรียกเงินคืน ซึ่งหากจะใช้มาตรการปกครองออกคำสั่งได้ จะต้องฟ้องดำเนินคดีผ่านศาลยุติธรรมต่อ
ทั้งนี้กรณีเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา จะทำให้เกิดปัญหาสิ้นเปลืองทรัพยากรในการฟ้องร้องคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐศาสตร์ที่เห็นชัดเจนว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของรัฐประมาณ 1 แสนบาท ไปสู้คดีเพื่อเรียกเงินคืนจากคนชรา 7,000 - 8,000 บาท
“การที่เราจะเรียกร้องเงินคืนจากคุณตาคุณยาย 7,000-8,000 บาท เราจะต้องดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลทั้ง 2 ศาล ต้องใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างมหาศาล เพียงแค่การดำเนินคดีในศาลปกครองก็ร่วม 100,000 บาทต่อคดี นั่นหมายความว่าเรากำลังนำเงินของรัฐ 100,000 บาทเพื่อเรียกคืนเงินจากคุณตาคุณยายคืนเพียงไม่กี่พันบาทหรือกี่หมื่นบาท เหมือนเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนมากกว่า ส่วนคำถามว่าคุ้มไหมในการบริหารจัดการของรัฐ นักกฎหมายอาจบอกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย แต่นักเศรษฐศาสตร์อาจต้องมองว่าคุ้มหรือไม่ที่เรากำลังดำเนินมาตรการทางกฎหมายเช่นนี้” นายอภิราชย์ กล่าว
ดังนั้น ในอนาคตหากจะต้องมีการเรียกคืนในลักษณะเดียวกันอีก รัฐควรจะมอบอำนาจการพิจารณาให้จบที่ศาลเดียว คือศาลปกครอง แต่จะต้องแก้ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก่อน เพื่อให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่งเรียกคืนเงินได้ ทั้งนี้หากผู้สูงอายุหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกศาลสั่งให้คืนเงินไม่พอใจคำสั่ง ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ เมื่อข้อโต้แย้งสิ้นสุดแล้ว หน่วยงานไม่จำเป็นต้องฟ้องศาลยุติธรรมอีก แต่จะสามารถบังคับทางปกครองได้เลย
@แนะรัฐตั้งเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพแต่พอดี แต่เสริมสวัสดิการสุขภาพ-สถานดูแลผู้สูงอายุแทน
ศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ วายุภาพ อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การจ่ายแบบนี้เป็นการจ่ายแบบสงเคราะห์ เราไม่ได้จ่ายเพียงเพราะผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เราห่วงใยเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการสร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์ ดังนั้นการจ่ายเงินเพียง 600-1,000 บาท เป็นสิ่งที่เพียงพอต่อการยังชีพจริงหรือไม่ ซึ่งอยากให้รัฐนำกลับไปคิด เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อเราด้วย หากผู้สูงอายุไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ลูกหลานจะทุกข์ตามด้วย แต่หากผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี เราจะมีความสุข ขณะเดียวกันผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลในวงกว้าง เนื่องจากหากปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว
“กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของเงิน ซึ่งมองว่าการจ่ายเงิน เป็นเรื่องของจิตใจ โดยมีเงินเป็นสภาพคล่อง พอจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ ท่านจะมีความสุข แต่ไม่อยากให้มองตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียว อยากให้มองไปที่การให้สวัสดิการใหญ่ๆ มากกว่าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งยังมีน้อยมาก และเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการจริงๆ” ศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ กล่าวเสนออีกว่า การทบทวนให้ผู้สูงอายุได้รับเงินที่เพียงพอต่อการยังชีพ และได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพหรือสถานดูแลผู้สูงอายุดังกล่าวร่วมด้วย จะสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุได้ จึงอยากขอให้คณะกรรมการที่ดูแลนำเรื่องดังกล่าวนำไปพิจารณาร่วมด้วย
ข่าวประกอบ :
ผู้ว่าฯโคราชหารือด่วน 1 ก.พ.ถกแก้ปัญหา 610 ผู้สูงอายุถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพ
5 ก.พ.มีทางออก!'ยุทธพงศ์'ถาม 'จุติ'ตอบ ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา
ส่องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
'วิษณุ'ยันไม่มีคนแก่ติดคุกปม'เบี้ยคนชรา'กรองเหลือ 6 พันรายรอสอบสิทธิ์สุจริตหรือไม่
คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage