“…รฟม. ยอมรับข้อชี้แจงของ NBM ที่สรุปว่า NBM เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (B-Land) ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยรอบโครงการส่วนต่อขยาย ดังนั้น NBM จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิตามสัญญา กำหนดให้ B-Land แบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากมูลค่าอสังหาริทรัพย์ในพื้นที่บริเวณเมืองทองธานีที่เพิ่มขึ้นได้…”
..................
แม้ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.จะมีมติเลื่อนการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี หลัง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
แต่ที่สุดแล้ว กระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงดังกล่าว ให้ครม.พิจารณาในไม่ช้านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี และผลการเจรจาลงทุนโครงการดังกล่าว ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ความเป็นมาโครงการ
ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560 ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร โดยมี กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ หรือ BSR JV (ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) เป็นผู้รับสัมปทาน
ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.2560 บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งโดย BSR JV ลงนามสัญญาร่วมทุนสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
ซึ่งสัญญาในข้อ 36.9 ได้ระบุเกี่ยวกับข้อเสนอของผู้รับสัมปทานในชั้นการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมทุน ที่เสนอจะก่อสร้างส่วนต่อขยายแยกออกจากเส้นทางสายหลัก เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีศรีรัช (PK-10) เข้าสู่ใจกลางพื้นที่เมืองทองธานี สรุปว่า ภายในกำหนดเวลาของงานในระยะที่ 1 ผู้รับสัมปทานตกลงผูกพันตามข้อเสนอซองที่ 3 กรณีส่วนต่อขยาย (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี)
โดยคู่สัญญาตกลงจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการและขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้ คู่สัญญาต้องมาเจรจาเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นต่องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้ รฟม. ได้รับสิทธิตามสัญญาน้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม
รฟม. และ NBM ได้ดำเนินการเจรจาเงื่อนไขต่างๆของโครงการส่วนต่อขยายฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ พร้อมทั้งเสนอคณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา จนได้ข้อยุติ รวมถึงได้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว ก่อนส่งมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ให้เห็นชอบ
@ผลการเจรจาเงื่อนไขและประเด็นต่างๆ
สำหรับประเด็นที่ รฟม. และ NBM มีการเจรจากันมีทั้งหมด 13 ประเด็น โดยมีผลการเจรจาที่สำคัญ ดังนี้
-ประเด็นด้านเทคนิค
NBM ยอมรับในการดำเนินหน้าที่ก่อสร้างสถานีศรัรัช (PK-10) รวมทั้งส่วนที่ปรับปรุง เพื่อรองรับโครงการส่วนต่อขยาย รวมทั้งรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ข้อ 36.9
NBM ดำเนินหน้าที่จัดหา/สนับสนุนการเวนคืน สำหรับพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ในส่วนของส่วนต่อขยายตามข้อ 36.9 สัญญาโครงการส่วนหลัก และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดหาพื้นที่ในโครงการส่วนต่อขยาย ทั้งนี้ รฟม.จะดำเนินการตามขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินคู่ขนานไปกับ NBM ให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ในที่ดิน
กรณีที่เป็นการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆในการก่อสร้างส่วนต่อขยาย รฟม.จะดำเนินการเจรจาขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ โดย NBM จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานรัฐนั้นๆ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งปวง
NBM ยอมรับในการจัดหาระบบจำหน่ายตั๋วของโครงการหลัก และโครงการส่วนต่อขยาย ตามข้อ 10.4 สัญญาโครงการส่วนหลัก โดยให้สามารถรองรับ ‘ระบบตั๋วร่วม’ ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม (ระบบ EMV)
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูต่อขยายฯ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช (PK10) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานีตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 มีระยะทางรวม 3 กิโลเมตร
-ประเด็นการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาร่วมทุน ข้อ 13.1
NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก คือ
ข้อ 13.1 (ก.) เงินจำนวน 250 ล้านบาท ตามข้อเสนอของผู้รับสัมปทานในเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 7
ข้อ 13.1 (ข.) ส่วนแบ่งรายได้ เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารสูงกว่าผลการศึกษาที่คาดการณ์เป็นพิเศษ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 7 และ 9
NBM ชำระผลตอบแทนเพิ่มเติม กรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย ให้แก่ รฟม. โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารค่าเดิมที่ระบุในสัญญาร่วมทุนโครงการส่วนหลัก ดังเอกสารแนบ ซึ่งมีรายละเอียด เช่น ปีที่ 1 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารรวมโครงการส่วนหลักและโครงการส่วนต่อขยาย 199,054 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่ 30 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารรวมโครงการส่วนหลักและโครงการส่วนต่อขยาย 875,503 คน-เที่ยว/วัน
(ที่มา : รฟม. และกระทรวงคมนาคม)
-ประเด็นอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร
NBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของสัญญาส่วนต่อขยาย ให้สอดคล้องตามหลักการในเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 9 สัญญาโครงการส่วนหลัก
-ระยะเวลาตามสัญญา
NBM ยอมรับ ให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลัก ระยะที่ 1 (งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ระยะเวลา 37 เดือน) และระยะที่ 2 (บริหารจัดการเดินรถและบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปี) ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก แม้จะมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยาย และให้โครงการส่วนต่อขยายสิ้นสุดสัญญาพร้อมกับสัญญาโครงการส่วนหลัก
-หลักประกันสัญญา
NBM วางหลักประกันสัญญาเพิ่มเติม สำหรับงานในระยะที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 250 ล้านบาท และให้หลักประกันสัญญาสำหรับงานในระยะที่ 2 ของสัญญาโครงการหลัก จำนวน 750 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินงานในระยะที่ 2 ของโครงการส่วนต่อขยาย
-ค่าจ้างที่ปรึกษา
NBM ยอมรับ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่วนต่อขยายเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 3% ของวงเงินค่าก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายตามประมาณการของ รฟม.
-กรณีเปิดให้บริการล่าช้ากว่ากำหนดและค่าปรับ
NBM รับผิดชอบค่าปรับงานในระยะที่ 1 ของโครงการหลักตามข้อ 8.4 สัญญาโครงการส่วนหลัก (สัญญาข้อ 8.4 หากผู้รับสัมปทานไม่สามารถส่งมอบงานในระยะที่ 1 (งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา) จะต้องรับผิดชำระค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านบาท/วัน)
NBM รับชำระค่าปรับเป็นเงิน 400,000 บาท/วัน หากไม่สามารถส่งมอบโครงการส่วนต่อขยาย ในระยะที่ 1 ตามกำหนด
-ประเด็นอื่นๆ : เพื่อแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม
รฟม. ยอมรับข้อชี้แจงของ NBM ที่สรุปว่า NBM เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (B-Land) ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยรอบโครงการส่วนต่อขยาย ดังนั้น NBM จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิตามสัญญา กำหนดให้ B-Land แบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากมูลค่าอสังหาริทรัพย์ในพื้นที่บริเวณเมืองทองธานีที่เพิ่มขึ้นได้
NBM และรฟม. ยอมรับว่า การจะเชื่อมต่อโครงการส่วนต่อขยาย กับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟม. ก่อน และสิทธิในนรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ (รวมถึงการเชื่อมต่อ) เป็นไปตามสัญญาหลัก โดยให้ผู้รับสัมปทานเสนอส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ผู้รับสัมปทานจะได้รับจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานีให้ รฟม. ส่วนหนึ่ง
กรณีที่มีผลกระทบจากนโยบายการใช้ตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม NBM ยินยอมรับผลกระทบต่อโครงการส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย จากการใช้ตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมีขึ้นในอนาคต และรับภาระผูกพันตามหน้าที่ข้อ 13 สัญญาโครงการหลัก
นอกจากนี้ NBM ยอมรับว่า มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจขึ้นในอนาคตทั้งหมด จากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย
เหล่านี้เป็นเนื้อหาโดยสรุปเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ที่ ‘รมว.คมนาคม’ ขอนำกลับตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารก่อน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (คีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 15.64% และ กวิน กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 4.58%) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ NBM คาดหวังว่าจะมีการลงทุนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นนี้โดยเร็ว ซึ่งช่วยเติมผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าของบีทีเอส เนื่องจากพื้นที่รอบเมืองทองธานีมีผู้อาศัยกว่า 2 แสนคน อีกทั้งในแต่ละปีมีผู้เดินทางเข้าชมงานที่จัดที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีสูงถึง 10-15 ล้านคน/ปี
เช่นเดียวกับ บมจ.บางกอกแลนด์ ที่จะได้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเส้นดังกล่าว เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปชมงานในศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีแล้ว มูลค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าฯก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเส้นนี้จะลงเอยอย่างไร
อ่านประกอบ :
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'
เบรกบีทีเอสขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้าเมืองทอง! 'ศักดิ์สยาม' อ้างขอตรวจเอกสารอีกครั้ง
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage