ครม.ไฟเขียวรฟท.กู้เงิน 1.15 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง-แก้ปัญหาเงินขาดมือ พร้อมเปิดวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีอีก 800 ล้านบาท คาดเงินเริ่มขาดเดือน พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบ 2564 วงเงิน 11,500 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม และอนุมัติเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ล้านบาท เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่อง
ทั้งนี้ รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 46,370.67 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 57,970.67 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2563 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบ 2564 และจำเป็นต้องกู้เงิน 11,500 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดย รฟท. คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนพ.ย.2563
นอกจากนี้ รฟท. มีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่องโดยทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 800 ล้านบาท ด้วยวิธีการประมูลตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
นายอนุชา ระบุว่า รฟท.มีภารกิจในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชิงสังคม (PSO) และต้องดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยถูกควบคุมราคาค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนและส่งผลให้มีกระแสเงินสดรับไม่เพียงพอกับกระแสเงินสดจ่าย จึงมีความเป็นต้องกู้เงิน เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการใช้จ่าย และไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง
สำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คัน มูลค่า 6,525 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โดยรถจักรดังกล่าวได้ผลิตโดย บริษัท CRRC QISHUYAN CO., LTD. ผู้ผลิตรถจักรชั้นนำจากประเทศจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาทดแทนรถจักรเก่าที่ใช้งานมานาน เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตลอดจนช่วยสร้างโอกาสการหารายได้ในอนาคตให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
นายนิรุฒ ระบุว่า การลงนามสัญญาซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คันครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการสร้างรายได้ของรฟท. เนื่องจากปัจจุบันรฟท.มีรถจักรที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน บางคันมีการใช้งานมานานกว่า 44-45 ปี จนมีการชำรุดและต้องปลดระวางไปจำนวนมาก ส่งผลให้มีรถจักรไม่เพียงพอต่อการให้บริการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้า
“การจัดหาในครั้งนี้เป็นรถจักรและอะไหล่ใหม่ทั้งหมด ซึ่งรถจักรใหม่นี้มีสมรรถนะในการลากจูงขนส่งผู้โดยสารได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการขนส่งสินค้าที่ความเร็ว 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคต” นายนิรุฒกล่าว
อ่านประกอบ :
3 ยุทธศาสตร์ 'นิรุฒ มณีพันธ์' ปลุกยักษ์ใหญ่ 'รฟท.' ลุกขึ้นยืน-คนรถไฟฯ ต้องไม่เลี้ยงบอลไปวันๆ
เดินหน้าฟื้นฟู รฟท.! ‘นิรุฒ’ เข็นเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ 4.2 แสนล.-สู้ต่อคดีโฮปเวลล์
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโปรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage