"...ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อสั่งการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยดีมาตลอด อีกทั้ง การที่กล่าวอ้างว่าได้บังคับบริษัทและเจ้าหน้าที่ให้กระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้นก็ไม่เป็นความจริง ผู้ร้องเรียนได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อผู้รับเรื่องร้องเรียน เนื่องจากสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ( Thai Pharmaceutical Manufacture Association : TPMA ) และสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ ( พรีม่า ) ก็ได้ยืนยันและแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมกันป้องกันมิให้มีการกระทำการที่ไม่ถูกต้อง..."
"ไม่ใช้คำว่าเรียกรับ เพราะว่า เวลาเขาจะบริจาคหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อการขาย ว่าคุณไม่จ่าย เราไม่ซื้อ ไม่ใช่แบบนั้น แล้วมีหลายบริษัทที่ถึงแม้เขาไม่ได้บริจาคให้เรา เราก็ซื้อ เพราะเขาราคาถูก เราซื้ออย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น โรงพยาบาลขอนแก่นไม่เรียกรับเงิน เป็นเพียงการที่เขาบริจาคทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่น นำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น โดยทุกบาททุกสตางค์ ใช้ไปกับการพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น ใน 3-4 ด้าน คือด้านอาคารสิ่งก่อสร้าง เช่น หลังคารั่ว เงินบำรุงอาจไม่พอ ไม่อยู่ในแผน ก็ต้องใช้เงินบริจาคส่วนนี้ ทำลานจอดรถ ทำทางเชื่อมอาคาร วางระบบไอที ระบบคอมพิวเตอร์ ในตึกหัวใจ แล้วนอกจากนั้นก็ซื้อครุภัณฑ์บางอย่างที่จำเป็น มีทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การพัฒนาบุคลากร"
คือ หนึ่งในคำชี้แจงของ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ต่อเงื่อนปม 7 ประเด็นในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีถูกร้องเรียนกล่าวหาและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เรื่องการเรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ซึ่งเข้าข่ายเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. 2561 ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ไร้สาระมากกล่าวหาภรรยาสั่งการ รพ.แทน! หมอชาญชัย ยันผลสอบ 7 ปมรับเงิน บ.ยา ถูกตีตกหมด)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปเงื่อนปม 7 ประเด็นในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำโต้แย้งของ นพ.ชาญชัย มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
@ ข้อร้องเรียน 7 ประเด็น
สืบเนื่องจาก ปลัด สธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1161/2562 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 เนื่องจากมีการร้องเรียนกล่าวหา นายชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น และนางอังคณา ภูนาแก้ว หัวหน้างานบัญชี มีประเด็นข้อร้องเรียน 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น สั่งให้มีการเรียกเก็บเงินจากบริษัทยา และร้านค้าต่างๆ ในอัตราประมาณร้อยละ 5 ทั้งที่ ป.ป.ช. และ ก.สาธารณสุข ได้สั่งให้ยกเลิกไปแล้ว แต่นายชาญชัย ยังเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากทุกบริษัท โดยไม่ส่งคืนเงินบำรุง โดยสั่งให้นำเข้าบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560
หัวหน้างานบัญชี ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2560-25 กันยายน 2561 เพียงไม่ถึง 10 เดือน กลับมีเงินไหลเข้าออก ในสมุดบัญชีเป็นจำนวนถึง 8 เล่ม มีการถอนเงินจากบัญชีไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
ประเด็นที่ 2 นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ได้อ้างคืนกำไรให้กับสมาชิกสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่สวัสดิการร้านค้าเปิดดำเนินการเพียง 5 เดือน ( ทั้งที่ปกติควรปันผลหรือคืนกำไรเป็นรายไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี ) โดยอ้างกำไร 6.69 ล้านบาท และสั่งจ่ายเจ้าหน้าที่คนละ 2,000 บาท สั่งจ่ายจำนวน 3,433 คน รวม 6,866,000 บาท โดยเร่งรีบประชุมกรรมการนโยบายหลังคำสั่งย้ายออกเพียง 1 วัน และอีก 2 วัน เงินถูกโอนเข้าบัญชีอย่างเร่งรีบ
ประเด็นที่ 3 เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น อ้างว่าร้านค้าสวัสดิการ มีกำไร โดยคิดจากยอดขายและยอดสั่งซื้อสินค้าในช่วง 5 เดือน ดังนั้น ในบัญชีของสวัสดิการร้านค้านั้น จะไม่มีเงินสดเหลือในมือ เนื่องจากกำไรก็คือมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่นายชาญชัยกลับสั่งให้โอนเงิน จากกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ นายชาญชัย ไม่เคยโอนเงินดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่มาก่อน
ประเด็นที่ 4 นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น และหัวหน้างานบัญชี ได้ส่งมอบงานต่อรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โดยได้ส่งมอบเงินงบประมาณรวม 15 บัญชี และส่งมอบบัญชีกองทุน 13 บัญชี แต่ไม่ได้ส่งมอบบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่นให้ รวมถึงไม่ได้ส่งมอบบัญชีดังกล่าวให้นายเกรียงศักดิ์ ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น นายเกรียงศักดิ์จึงต้องไปลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการขอ Statement จากธนาคารด้วยตนเอง
ประเด็นที่ 5 เมื่อมีการตรวจสอบ Statement จึงพบการเบิกเงินจากบัญชี ในช่วงท้ายปีงบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เบิกไป 4,300,000 บาท ทำให้ยอดคงเหลือจากเดิม ประมาณ 22 ล้านบาทเศษ เหลือเพียงประมาณ 18 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ หลังคำสั่งย้ายนายชาญชัยออก เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 จนถึงวันที่ 5 ต.ค.2561 ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน มีการเบิกจ่ายเงินผิดปกติเกือบ 16 ล้านบาท
ประเด็นที่ 6 ในช่วงระหว่างที่นายชาญชัย ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า หัวหน้างานบัญชี ห้ามให้ข้อมูลกับนายเกรียงศักดิ์ ที่ย้ายมารับตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น หากใครให้ข้อมูล เมื่อนายชาญชัยกลับมา จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด นายเกรียงศักดิ์จึงแทบไม่ได้ข้อมูลใดๆ เลย นอกจากนี้ เมื่อนายชาญชัยกลับมา ได้สั่งปิดบัญชี แต่ยังคงเรียกเก็บเงินจากร้านค้าและบริษัท
ประเด็นที่7 มีการร้องเรียนด้วยว่า หากนายชาญชัยไปต่างประเทศ แต่หากภรรยาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ภรรยาของนายชาญชัยจะมานั่งเก้าอี้และโต๊ะทำงานของผู้อำนวยการและสั่งงานเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ภรรยานายชาญชัยไม่ได้เป็นข้าราชการแต่อย่างใด และในปี 2561 ได้สั่งโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ทุกคนกว่า 3,000 คน ครั้งละ 1,000 บาท 2 ครั้ง คือในวันที่ 20 กันยายน 2561 และวันที่ 26 กันยายน 2561 นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างไปเกษียณที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามถึง 2 คันรถบัส รวมถึงกรรมการบริหาร ( รวมนายชาญชัย ) และผู้เกษียณไปสหพันธรัฐรัสเซีย
@ การตรวจสอบข้อเท็จจริง
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้เกี่ยวข้องที่ร้องเรียนมาให้ถ้อยคำ และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งเชิญนายชาญชัย มาให้ถ้อยคำแก่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย พยานที่มาให้ถ้อยคำ มีทั้งสิ้น 9 ราย ( นายชาญชัยเป็นรายที่ 9 )
การตรวจสอบ อาทิ พบว่าบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น และร้านค้าสวัสดิการขอนแก่น การเบิกไปใช้ในกรณีต่างๆ และให้ เจ้าหน้าที่เกษียณอายุราชการ ไปเที่ยวเวียดนาม และให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลขอนแก่นไปรัสเซีย
โดยในการสอบถามพยาน ได้รับการเปิดเผยว่ารายละเอียดสมุดบัญชี กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น มีการโอนเงินเข้าบัญชีต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีเงินบริจาคของโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 30,000,000 บาทโอนเข้าบัญชีกองทุนพัฒนาศูนย์หัวใจโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 10,544,572.49 บาท โอนเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 10,000,000 บาท
ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังลงลึกถึงกระบวนการ ขั้นตอนในการรับเงินจากบริษัท ห้างร้าน บริษัทยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา การโอนเงินเข้าบัญชี การออกใบตอบรับเงินจากบริษัท ห้างร้านต่างๆ โดยจะออกเลขที่ของใบตอบรับไว้ด้วย
@ หมอชาญชัย ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
นอกจากประเด็นข้อร้องเรียน และการให้ถ้อยคำของพยานรายอื่นๆ แล้ว รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ฉบับนี้ ยังบันทึกคำขอชี้แจงข้อกล่าวหาของนายชาญชัยไว้ด้วยซึ่งนายชาญชัยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
โดยในประเด็นที่ถูกร้องเรียนว่าเรียกรับเงินบริษัทยา 5% ใจความตอนหนึ่งในคำชี้แจงของนายชาญชัย ระบุว่า
“…ข้าฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นที่ต้องควบคุม กำกับ สั่งการ ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แล้ว โดยมิได้มีการเรียกรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่างตอบแทนในลักษณะอื่นๆ จากบริษัทยาและร้านค้า เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่นและกองทุนอื่นๆ แต่อย่างใด…”
นายชาญชัยระบุคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อสั่งการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยดีมาตลอด อีกทั้ง การที่กล่าวอ้างว่าได้บังคับบริษัทและเจ้าหน้าที่ให้กระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้นก็ไม่เป็นความจริง ผู้ร้องเรียนได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อผู้รับเรื่องร้องเรียน เนื่องจากสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ( Thai Pharmaceutical Manufacture Association : TPMA ) และสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ ( พรีม่า ) ก็ได้ยืนยันและแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมกันป้องกันมิให้มีการกระทำการที่ไม่ถูกต้อง
“...จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ข้าฯ จะไปเรียกรับเงินหรือทรัพย์สินจากบริษัทต่างๆ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อภายในโรงพยาบาลขอนแก่นก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงแล้วว่าข้าฯ มิได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เรียกรับเงินหรือทรัพย์สินจากบริษัทคู่ค้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากข้าฯ พบการเรียกรับเงินจากบริษัทยาและร้านค้าหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือระเบียบอื่นๆ ข้าฯ จะดำเนินการทางวินัย แพ่ง และอาญาอย่างเด็ดขาด”
ส่วนประเด็นข้อร้องเรียนที่อ้างว่ามีการคืนกำไรให้กับสมาชิกสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่ร้านค้าสวัสดิการเปิดดำเนินการเพียง 5 เดือน และสั่งจ่ายเจ้าหน้าที่คนละ 2,000 บาท โดยสั่งจ่าย 3,433 คน รวม 6,866,000 บาท โดยเร่งรีบประชุมกรรมการนโยบายหลังคำสั่งย้ายออกเพียง 1 วัน และอีก 2 วัน เงินถูกโอนเข้าบัญชีอย่างเร่งรีบ
นายชาญชัย ชี้แจงข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า “สำหรับการสั่งจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นคนละ 2,000 บาทนั้น สืบเนื่องมาจากได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการร้านค้าสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง ว่าหากมีผลประกอบการที่ก่อให้เกิดกำไรแล้ว จะมีการเฉลี่ยคืนผลกำไรให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยถือเสมือนว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีส่วนร่วมในร้านค้าสวัสดิการเท่าๆ กัน เมื่อมีกำไรเกิดขึ้นย่อมเฉลี่ยคืนแก่สมาชิก ตามมติของคณะทำงานด้านบริหารจัดการร้านค้าสวัสดิการ ( ร้านสะดวกซื้อ ) โรงพยาบาลขอนแก่น และตามมติคณะอนุกรรมการสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่นครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ในระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับแนวทางการจ่ายคืนกำไรดังกล่าว”
…
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อร้องเรียน 7 ประเด็น ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคำโต้แย้งของ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิต่อสู้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ทั้งในกระบวนการขั้นตอนการสอบสวนของราชการ และกระบวนการในชั้นศาลต่อไป
อ่านประกอบ :
ก่อนขอนแก่น! ยังไม่มีคำตอบ ปม รพ.ระยองรับเงิน บ.ยาปริศนา 24 ล้าน
รับเงิน บ.ยา 5% ลาม รพ.ทหาร! ปลัด สธ.ยันสอบ ผอ.ขอนแก่น ทำตามมติ ครม.ป้องกันทุจริต
พลิกหนังสือ ป.ป.ช. กรณี รพ.รับเงิน บ.ยา ก่อนปัญหาย้าย ผอ.ขอนแก่น
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
'อนุทิน'ตั้ง กก.สอบ 186 รพ.เรียกรับเงินบริษัทยา 'มล.สมชาย'ปธ.-รองปลัด สธ.มาด้วย
เปิดตำนานเงินสวัสดิการโรงพยาบาล ที่มาส่วนลดยา 5% กับ เหตุลอบยิง ผอ.รพ.อีสาน