นักวิชาการอิสระ ให้ข้อมูล ก.สาธารณสุข สำรวจพบปัญหาเรียกรับเงิน บ.ยา 5 % กลับมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 62 แล้ว เฉพาะเดือน พ.ย. 62 มีรพ.ชุมชุนในสังกัด สป.สธ. กว่า 164 แห่ง ได้รับเงิน เผยวิธีการมีหลายรูปแบบต่อรอง - รพ.สังกัดทหาร มีขู่ไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ ไม่จ่ายเช็คที่ค้างอยู่ให้ - ส่วน ปลัดสธ. เปิดแถลงข่าวแจงกรณี ผอ.ขอนแก่น ยันทำตามมติ ครม. ป้องกันทุจริต ไม่มีกลั่นแกล้งสอบสวนข้อเท็จจริงกว่า 8 เดือน จนมีมูล ไม่ใช่ยึดหลักฐานบัตรสนเท่ห์ใบเดียว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อนหน้าการเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง ของ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กรณีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ อ้างว่า นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ซึ่งเข้าข่ายเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. 2561
กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเชิญ นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจปัญหาโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ เรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภายใน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบเรื่องนี้ในพื้นที่ความรับผิดชอบ
โดย นายมนู ระบุว่า จากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการบริษัทขายยาในประเทศไทย พบว่า ภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ป.ป.ช. ในช่วงปี 2560 ในการห้ามเรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ตัวเลขการจ่ายเงินของบริษัทขายยาให้กับรพ.ของรัฐลดจำนวนลงไปมาก แต่จากการสำรวจข้อมูลของสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ธ.ค.2562 พบว่า ตัวเลขการจ่ายเงินของบริษัทยา เริ่มมีข้อมูลกลับมาปรากฎให้เห็นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นมา
โดยตัวเลขการสำรวจล่าสุดในช่วงเดือนพ.ย.2562 พบว่า โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีการรับเงินเป็นจำนวน 22 แห่ง มูลค่า 19 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลชุมชุน ในสังกัด สป.สธ. รับเงินจำนวน 164 แห่ง มูลค่า 24.50 ล้านบาท
นายมนู ยังกล่าวด้วยว่า จากการสำรวจยังพบว่า การเรียกรับเงิน มีทั้งในรูปแบบการต่อรองก่อนมีการสั่งซื้อหรือเอายาเข้า บางแห่งมีการข่มขู่ว่าจะเอายาออกจากบัญชียาโรงพยาบาล โดยให้บริษัทนำเงินสดมาส่งให้ หรือให้ไปบริจาคทุก 3 เดือน เข้ากองทุนสวัสดิการ ส่วนข้อค้นพบการรับเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ นั้น มีกรณีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีการระบุว่า ถ้าไม่จ่ายเงินสวัสดิการ ก็จะไม่จ่ายเช็คที่ค้างอยู่ให้ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
"การสำรวจข้อมูลดังกล่าว เป็นการสอบถามจากผู้ประกอบบริษัทขายยาซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทผู้ให้ข้อมูล แต่เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการเรียกรับเงินร้อยละ 5 นั้น แนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์คือ การเสนอให้กรมบัญชีกลาง จ่ายเงินค่ายาให้กับบริษัทขายยาโดยตรงจะดีที่สุด เพราะจะช่วยไม่ให้ผู้บริหารเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน และจะทำให้มีบันทึกการโอนเงินจ่ายค่ายาที่สามารถตรวจสอบเส้นทางได้ชัดเจน" นายมนูระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในส่วนการเปิดแถลงข่าวของ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ต่อกรณีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ อ้างว่า นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น นั้น
นพ.สุขุม ปลัด สธ. ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.2560 ที่รับข้อเสนอจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ห้ามไม่ให้โรงพยาบาลเรียกรับเงินจากบริษัทยาอย่างเคร่งครัด และการสอบสวนเรื่องนี้ก่อนจะเข้าสู้ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ใช้เวลาในการสอบสวนข้อเท็จจริงนานกว่า 8 เดือน ไม่ได้ใช้บัตรสนเท่ห์เพียงใบเดียวอย่างที่มีการไปกล่าวอ้างกัน และยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการสอบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วนกรณีการเรียกรับเงินของรพ.อื่น ถ้ามีการร้องเรียนเข้ามาปรากฎหลักฐานยืนยันชัดเจนก็จะมีการสอบสวนด้วย
"กรณีการเรียกรับเงินจากบริษัทยา เมื่อมีกฎหมายออกมาว่าห้ามรับก็รับไม่ได้เด็ดขาด ใครรับมีโทษทั้งทางอาญาทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นความร่วมมือกับผู้ประกอบการขายยาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทุจริต ตามนโยบายที่ผมประกาศชัดเจนไปแล้ว และใครที่พบข้อมูลมาแจ้งเบาะแสทุจริต ก็จะรางวัลตอบแทน ขึ้นเงินเดือนให้ 2 ขั้นด้วย ทั้งหมดนี่ เป็นสิ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ใช่ข้อกล่าวหาในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่เป็นข้อกล่าวหาที่ปรากฎอยู่ในบัตรสนเท่ห์ที่แจ้งข้อมูลเข้ามา ขอให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย"
ขณะที่ นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุข นิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข เขต 6 ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ชี้แจงว่า การรับเรื่องสอบสวนจากการแจ้งบัตรสนเท่ห์ กฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ ถ้าหากข้อมูลในบัตรสนเท่ห์มีความถูกต้องชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้มีการรับเรื่องตรวจสอบในช่วงเดือน ต.ค.2562 จากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายต.ค.62 เป็นต้นมา ในขั้นตอนการสอบสวนก็มีการลงพื้นที่ไปสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อมูลเอกสาร จนกระทั่งพบว่า มีมูลความผิดเกิดขึ้น เพราะมีข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงผู้กล่าวหา ในฐานะผู้บริหารหน่วยงาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนรายละเอียดคงไม่สามารถเปิดเผยได้
"ขอยืนยันว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่มีกลั่นแกล้งอะไรใคร และในขั้นตอนการสอบสวนวินัยร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิต่อสู้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ทั้งในกระบวนการขั้นตอนการสอบสวนของราชการ และกระบวนการในชั้นศาล" นพ.อภิชาติ รอดสม ระบุ
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
พลิกหนังสือ ป.ป.ช. กรณี รพ.รับเงิน บ.ยา ก่อนปัญหาย้าย ผอ.ขอนแก่น
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/