" ...ปี 2532 เกิดเหตุการณ์ลอบยิงผู้อำนวยการโรงพยาบาลในภาคอีสาน เนื่องจาก ผอ. ท่านนี้ ไม่รับเงินสวัสดิการ อีกทั้งตรวจสอบพบปัญหามากมายในการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาลเพื่อเอาเงินสวัสดิการ ทำให้ยาที่ใกล้จะหมดอายุค้างสต็อกในคลังยาและนอกคลังยามากมายมหาศาล มีการค้างเงินบริษัทยาจำนวนมาก บริษัทยาเก็บเงินไม่ได้ จึงจะเข้าไปรายงานที่กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างเดินทางกลับจากการประชุม ถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างทาง เป็นเหตุให้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ออกคำสั่งกระทรวง ให้ รพ.รับเงินสวัสดิการได้ โดยออกใบเสร็จสีเขียว เอาเงินเข้างบประมาณบำรุง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการรับเงินสวัสดิการได้ชอบธรรม..."
กรณีโรงพยาบาลรับเงินบริษัทยา 5% ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนขณะนี้
โดยเฉพาะเมื่อกรณีการตรวจสอบเรื่องนี้ ขยายผลจากกรณีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ อ้างว่า นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ซึ่งเข้าข่ายเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. 2561 ไปสู่กรณีการสอบสวนโรงพยาบาลอีก 186 แห่ง ที่ปรากฎข้อมูลในผลการสำรวจข้อมูล ของสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2562 ว่า มีพฤติการณ์เรียกรับเงินบริษัทยา 5% เช่นกัน
(อ่านประกอบ : รับเงิน บ.ยา 5% ลาม รพ.ทหาร! ปลัด สธ.ยันสอบ ผอ.ขอนแก่น ทำตามมติ ครม.ป้องกันทุจริต, 'อนุทิน'ตั้ง กก.สอบ 186 รพ.เรียกรับเงินบริษัทยา 'มล.สมชาย'ปธ.-รองปลัด สธ.มาด้วย
ทั้งนี้ ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหา กรณีโรงพยาบาลรับเงินบริษัทยา 5% สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เคยมีการจัดทำรายงาน นำเสนอภาพรวมความเป็นมาของเงินส่วนลด 5% จากความสัมพันธ์ของแพทย์กลุ่มหนึ่งและผู้แทนยา ที่ก่อร่างขึ้นกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมในที่สุด ก่อนจะมาสู่ความพยายามเรียกร้องจากบริษัทยาที่ต้องการยกเลิกวัฒนธรรมดังกล่าว เรียบเรียงโดย นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เห็นว่า ข้อมูลนี้มีความสำคัญ ต่อการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหากรณีโรงพยาบาลรับเงินบริษัทยา 5% จึงสรุปข้อมูลมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้อีกครั้ง
ตำนานเงินสวัสดิการโรงพยาบาล ที่มาของส่วนลดยา 5%
เมื่อกว่า 47 ปี ก่อน ที่ตั้งเดิมก่อนเป็นโรงแรมดุสิตธานีซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2513 นั้น ที่ตั้งโรงแรมเคยเป็นบ้านเรือนไม้เก่าของเจ้าพระยาท่านหนึ่ง เคยเป็นที่ตั้งแพทย์สมาคม ทันตแพทย์สมาคม เภสัชสมาคม และพยาบาลสมาคม ส่วนใหญ่เป็นแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อเลิกงานแล้วก็จะเดินข้ามมาสังสรรค์กันที่นี่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นศูนย์รวมของแพทย์ และบางครั้งผู้แทนยาก็เข้าไปร่วมด้วย จึงเกิดกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ และผู้แทนยา
เมื่อจบการศึกษาในกรุงเทพ ส่วนใหญ่ก็จะรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข และออกต่างจังหวัด ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้แทนยาก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่ เมื่อโรงพยาบาลต้องการความช่วยเหลือให้บริษัทยาสนับสนุนก็จะเป็นไปด้วยดี
ด้านกระทรวงสาธารณสุขก็มีภารกิจอย่างหนึ่งคือ ต้องหาแพทย์ ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เข้ามาหมุนเวียนทำกิจกรรมของกระทรวงฯ ทีมแพทย์ ทีมแรก ก็คือโรงพยาบาลในภาคกลาง เป็นทีมแรกๆ ที่หมุนเวียนกันเข้ามา เมื่อมีทีมแพทย์เข้ามาทำกิจกรรมนี้ จึงมีการขอการสนับสนุนจากบริษัทยาให้สนับสนุนค่าที่พักระหว่างที่พักอยู่ในกรุงเทพ เมื่อแพทย์ที่หมุนเวียนมา กลับไปในจังหวัดของตัวเอง ก็ทำกิจกรรมแบบนี้บ้าง หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่มีเงินงบประมาณ ก็จะขอสนับสนุนจากผู้แทนยา หรือบริษัทยา เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างแพทย์และผู้แทนยาตั้งแต่อยู่ในกรุงเทพ
ทุกอย่างก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี เนื่องด้วยสมัยก่อน ผู้แทนยาต่างจังหวัดต้องขายและเก็บเงินด้วยและเงินที่เก็บก็เป็นเงินสด ทำไปทำมา ก็กลายเป็นหักให้โรงพยาบาล 5 % หลังการเก็บเงินจากยอดทั้งหมด ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา กระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมในที่สุด
ทำไมต้องเป็นตัวเลข 5%
สมัยก่อน ถ้าลูกค้าจ่ายเงินสด บริษัทยาจะลดให้ 3-5% รพ ที่ขอส่วนลด ก็ใช้เกณฑ์นี้เป็นต้นมา ต่อมา แพทย์ที่ไปใช้ทุนต่างจังหวัด ก็เอาเงินจำนวนนี้มาเข้ากองกลาง เป็นสวัสดิการในโรงพยาบาล เช่น จัดงานปีใหม่ เลี้ยงรับรองผู้ใหญ่ ซ่อมแซมบ้านพัก จ้าง รปภ. หรือเป็นเบี้ยเลี้ยงในเวลาออกหน่วย แต่การสั่งจ่ายก็คือผู้อำนวยการเท่านั้น กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ ยังยืนหยัดส่วนลดที่ 5% มาจนทุกวันนี้
เหตุลอบยิง ผอ.รพ. ไม่รับเงินสวัสดิการ
ปี 2532 เกิดเหตุการณ์ลอบยิงผู้อำนวยการโรงพยาบาลในภาคอีสาน เนื่องจาก ผอ. ท่านนี้ ไม่รับเงินสวัสดิการ อีกทั้งตรวจสอบพบปัญหามากมายในการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาลเพื่อเอาเงินสวัสดิการ ทำให้ยาที่ใกล้จะหมดอายุค้างสต็อกในคลังยาและนอกคลังยามากมายมหาศาล มีการค้างเงินบริษัทยาจำนวนมาก บริษัทยาเก็บเงินไม่ได้ จึงจะเข้าไปรายงานที่กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างเดินทางกลับจากการประชุม ถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างทาง
เป็นเหตุให้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ออกคำสั่งกระทรวง ให้ รพ.รับเงินสวัสดิการได้ โดยออกใบเสร็จสีเขียว เอาเงินเข้างบประมาณบำรุง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการรับเงินสวัสดิการได้ชอบธรรม
Time line วิวัฒนาการเงินสวัสดิการ สู่กระแสต้านของบ.ยา หวังยกเลิกวัฒนธรรม 5%
ปี 2547 มีการออกระเบียบกฎระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสวัสดิการข้าราชการพลเรือน โดยสามารถหารายได้เข้ากองทุนสวัสดิการข้าราชการพลเรือนได้หลายทาง รวมถึงการรับบริจาค
ปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร 2 เดือน กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติต้องการจะยกเลิกเงินส่วนลด 5% หรือที่เรียกว่าเงินสวัสการ รพ. จึงผลักดันให้สมาคมบริษัทยาข้ามชาติ ประกาศว่าจะงดการจ่ายเงินจำนวนนี้ ภายหลังการรัฐประหาร ด้วยความหวั่นเกรงต่อนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่น กลุ่มเภสัชโรงพยาบาล กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลอำเภอ ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าต้องการซื้อยาเป็น Net Price หรือราคาสุทธิโดยการลดราคาลงมา 5% กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติในขณะนั้นจึงคาดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ เพราะไม่มีแรงต้านจากโรงพยาบาล แต่ต่อมาได้มีการประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้มีการยกประเด็นถามปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าจะจัดการอย่างไร กับเงินสวัสดิการ เพราะทางโรงพยาบาล ยังจำเป็นที่ต้องใช้เงินจำนวนนี้
ต่อมา มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าให้รับเงินสวัสดิการข้าราชการโรงพยาบาลได้ แต่ต้องตั้งกองทุนให้ถูกต้อง โดยได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวง ดังนั้นตัวแทนกลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ได้ประชุมกับตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติ ขอเหตุผลว่าทำไม บริษัทยาข้ามชาติไม่จ่าย ในเมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตั้งกองทุนข้าราชการพลเรือน มีช่องทางให้โรงพยาบาลสามารถรับได้ ทำไมไม่จ่าย สุดท้าย กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติก็ต้องถอยและกลับมาจ่ายเหมือนเดิม และจ่ายมากกว่าเดิม
เพราะในอดีต บริษัทยาข้ามชาติจะจ่ายเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเท่านั้น ตอนนี้ต้องจ่ายในกรุงเทพ ด้วย รวมถึงโรงเรียนแพทย์บางแห่ง ดังนั้น ในปี 2557 จึงเริ่มมีการจ่ายเงินส่วนลด 5% เข้ากองทุนสวัสดิการข้าราชการโรงพยาบาล เป็นต้นมา
ช่วงปี 2560 ปรากฎว่ามีผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เบิกเงินกองทุนไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ผ่านกระบวนการอนุมัติ และถูกร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. ในระหว่างที่สอบสวนคดีอยู่ เกิดกรณีโรงพยาบาลระยองขึ้น เนื่องจาก บริษัทยา จ่ายเงินส่วนลดเข้ากองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง โดยผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง และเกิดปัญหาความไม่โปร่งใสในการนำเงินดังกล่าวไปใช้ โดยสำนักข่าวอิศราเกาะติดประเด็นนี้อยู่ สุดท้ายจากการศึกษาของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการการจัดซื้อยาและอื่นๆ ได้ผลสรุปออกมาว่ามีปัญหา นำมาสู่การที่ ป.ป.ช.ออกหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข คือ ข้อ 1.3.1 “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการข้าราชการพลเรือนอีกต่อไป”
ขณะที่ในปี 2560 ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตในขบวนการการเบิกจ่ายยา ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และได้มีคำแนะนำอยู่ส่วนหนึ่งคือ ข้อ 1.3.1 ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล
ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2560 ใจความสำคัญของหนังสือดังกล่าว ชี้ว่าต้องไม่มีหน่วยราชการที่ทำการจัดซื้อการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล
ปี 2560 ช่วงเดือน ต.ค. มีการประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ว่าจะจัดการอย่างไรกับเงินสวัสดิการโรงพยาบาลที่มีผลกระทบกับหนังสือ ของ ป.ป.ช. ถ้า ผอ.โรงพยาบาลไม่ทำ จะเข้าข่าย ม. 157 หรือไม่ หรือกฎหมาย ป.ป.ช. ม.123/1-4 เรียกสินบนหรือไม่ ส่วนบริษัทยาจะเข้าข่ายความผิดตาม ม.123/5 จ่ายสินบนหรือไม่ ในกรณีที่ ผอ. รพ. เห็นด้วยกันทุก รพ. ว่าต้องการซื้อยาเป็นราคาสุทธิ ( Net Price ) ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
16 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติได้ประกาศจุดยืนว่า จะไม่จ่ายเงินสวัสดิการ 5% อีกต่อไป โดยจะทำการเปลี่ยนเป็นราคาสุทธิ ( Net Price ) เริ่ม 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่กลุ่ม ผอ. โรงพยาบาล ที่อาจจะเป็นตัวกำหนดว่าจะให้บริษัทยาทำอย่างไร บริษัทยาก็ต้องทำเพื่อเอาตัวรอด
ตอนท้ายของรายงานมีการตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ส่วนที่น่าสนใจคือการระบุว่า บริษัทยาควรต้องทบทวนแนวทางในการทำธุรกิจกับ รพ. รัฐบาล โดยปฏิเสธลูกค้าที่ต้องการให้บริษัทยาทำผิดกฎหมายและเกณฑ์จริยธรรม
ทั้งหมดนี้ คือมหากาพย์ตำนาน ความเป็นมาของวัฒนธรรมการเรียกรับผลประโยชน์ในวงการสาธารณสุขของไทยที่ยึดโยงสัมพันธ์กับบริษัทยาอย่างแนบแน่น และยังคงตกค้างอยู่กระทั่งทุกวันนี้
อ่านประกอบ :
ก่อนขอนแก่น! ยังไม่มีคำตอบ ปม รพ.ระยองรับเงิน บ.ยาปริศนา 24 ล้าน
รับเงิน บ.ยา 5% ลาม รพ.ทหาร! ปลัด สธ.ยันสอบ ผอ.ขอนแก่น ทำตามมติ ครม.ป้องกันทุจริต
พลิกหนังสือ ป.ป.ช. กรณี รพ.รับเงิน บ.ยา ก่อนปัญหาย้าย ผอ.ขอนแก่น
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/