เครื่องเคียง! ย้อนหนังสือ ป.ป.ช. ชง ครม. มาตรการป้องกันทุจริตกรณีผลประโยชน์ต่างตอบแทน รพ. รับเงิน บ.ยา - ปมปริศนา เงิน 24.4 ล้านในบัญชี ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ ก่อนกรณีปัญหาย้าย ผอ.ขอนแก่น
เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง กรณี โรงพยายบาลรับเงินบริษัทยา
ล่าสุดเกิดกรณีปัญหาที่โรงพยาบาลขอนแก่น เมื่อกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงฯ มีคำสั่งให้ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ไปปฏิบัติงานที่กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และให้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดำรงตำแหน่งรักษาราชการผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น แทน
หลังจาก นพ.ชาญชัย ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ อ้างว่า นพ.ชาญชัย เรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ซึ่งเข้าข่ายเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. 2561
ขณะที่ นพ.ชาญชัย ชี้แจงว่า ไม่เป็นธรรม เนื่องจากการรับเงินบริจาคจากบริษัทยานั้นมีมาตั้งแต่ปี 2508 แต่ภายหลังได้รับคำสั่งจากทางกระทรวงเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2561 ได้ประชุมกรรมการบริหารและทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง งดรับเงินบริจาคจากบริษัทยา แต่ยอมรับว่าในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2561 มียอดเงินบริจาคผ่านกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น เดือนละ 1 ล้าน 3 แสนบาท จากปกติจะมียอดบริจาคเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านบาท ซึ่งก็เข้าใจว่าเงินบริจาคไม่ได้มาจากบริษัทยา เนื่องจากได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทุกหน่วยงานรวมถึงบริษัทยาด้วย ทั้งนี้ นพ.ชาญชัย ระบุอีกว่า ภายหลังกระทรวงฯ มีคำสั่งให้งดรับเงินบริจาคจากบริษัทยา ในเดือน พ.ย.ปี 2561 ทางโรงพยาบาลได้ปิดกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น โดยให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา บริจาคผ่านบัญชี ‘เงินโรงพยาบาลขอนแก่น’ แทน (อ้างอิงข่าวจาก https://news.thaipbs.or.th/content/293184)
ประเด็นการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ รพ.ขอนแก่นในครั้งนี้ นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวคัดค้านของบุคลากร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นและแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีการแสดงความเห็นจากบุคคลทั่วไปจำนวนมากในขณะนี้
ประเด็นสถานพยาบาลรับเงินจากบริษัทยานั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเป็นเครื่องเคียงดังนี้
1.เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอ มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้อเสนอแนะในเชิงระบบ 1 ใน 4 ข้อก็คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา (ข้อ 1.3) “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการพยาบาล” และให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อใช้กลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด (ดูเอกสารประกอบ)
โดยระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน ประกอบการสอบสวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งพบว่ามีการกระทำในลักษณะของการทุจริตจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติมีพฤติกรรมตระเวนใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่ง ทุก 1-3 สัปดาห์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเกินความจำเป็น และกลุ่มบริษัทยามีพฤติกรรมการจ่ายค่าคอมมิชชันให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาของบริษัท เป็นผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกฯ มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าวและให้กระทรวงสาธารณสุขสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป (อ้างอิงหนังสือจากนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือลงวันที่ 7 ก.ค.2560 แจ้งเวียนถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) (อ่านประกอบ : เจอร้องหนัก!ป.ป.ช.ชง ครม.ป้อง ขรก. เบิกจ่ายพยาบาลโดยทุจริต-พบคนใน รพ.ฮั้วเอกชน)
2.เมื่อปี 2560 เคยมีกรณีที่คล้ายกันที่โรงพยาบาลระยอง เมื่อบุคลากรของโรงพยาบาลส่งหนังสือถึง พล.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธาน กรรมการ ป.ป.ช.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ขณะนั้น) ให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากชื่อ ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ ในช่วงปลายปี 2559-เดือนสิงหาคม 2560 เนื่องจากมีเงินจากผู้ประกอบธุรกิจขายยาและเครื่องมือแพทย์โอนเข้าบัญชีฯหลายครั้งรวมเป็นเงินหลายล้านบาทโดยถูกโอนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางเดือนและทุกปลายเดือนมีเงินหมุนเวียนรวม 24,495,181.53 บาท ในจำนวนนี้มีรายการเบิกถอน เมื่อ 16 ส.ค.2560 รวม 4 ครั้งๆละ 1 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเงินค่าอะไร หลังจากนั้นจนถึงขณะนี้ ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนข้อเท็จจริงของทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ช.วาผลเป็นอย่างไร (อ่านประกอบ: หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง)
ฉะนั้น กรณีของ รพ.ขอนแก่น ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีคำสั่งแล้ว ยังเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รู้เห็นหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องนำมาหลักฐานมาชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา? และกระบวนการจากนี้อาจเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่?
ส่วน ‘ที่มา’ ของเรื่องร้องเรียนว่ามาจากบัตรสนเท่ห์นำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนและโยกย้ายผู้ถูกร้องเรียนตามมานั้น มิใช่ประเด็น เพราะเรื่องร้องเรียนทุจริตในหน่วยงานของรัฐหลายเรื่องก็มาจากบัตรสนเท่ห์ เนื่องจากคนเกรงกลัวที่จะเปิดเผยตัวตนในการร้องเรียน
เรื่องนี้อาจเป็นมหากาพย์ ต้องติดตามผลกันต่อไป
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/